สวัสดีครับพี่น้องชาวMBE#8 ทุกท่าน
มีพี่น้องหลายคนถามเกี่ยวกับการบ้านวิชา Managereal Economic ครั้งที่1 บางคนก็ทำส่งแล้วเป็นส่วนใหญ่ครับ แต่หลายคนก็ยังไม่ได้ทำส่ง ดังนั้นผมจึงเอาการบ้านที่ผมทำส่งไปแล้วมาให้เพื่อนๆดูกันครับ ไม่ได้คิดว่าจะโชว์ หรือตังเองเก่งอะไรนะครับ เพียงแต่คิดว่าหากเป็นประโยชน์แก่เพื่อนๆคนอื่นๆบ้างผมก็ดีใจแล้วครับ ส่วนจะถูกหรือผิดนั้นผมไม่สามารถบอกได้ครับ ลองดูเป็นแนวทางบ้างก็ได้ครับ
งานวิชา Managerial Economic (เศรษฐศาสตร์เพื่อการจัดการ)
1. วิเคราะห์องค์กรของรัฐหรือเอกชน อย่างใดอย่างหนึ่งมา 1 องค์กร
2. ดูว่าองค์กรนั้นใช้เครื่องมือในการจัดการอะไรบ้าง
3. เครื่องมือที่เค้าใช้นั้นทำให้เค้าประสบความสำเร็จ หรือความล้มเหลวอย่างไรบ้าง
4. มีข้อเสนอแนะต่อเค้ายังไงบ้าง
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
1. วิเคราะห์องค์กรของรัฐหรือเอกชน อย่างใดอย่างหนึ่งมา 1 องค์กร
กรณีศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
วิสัยทัศน์
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นองค์กรการเรียนรู้ที่เป็นผู้นำด้านการศึกษา และการวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เป็นที่พึ่งทางปัญญาของชุมชน
เสริมสร้างคุณภาพคน สังคมไทยให้เข้มแข็ง ยั่งยืน และมีศักยภาพในการแข่งขัน
พันธกิจ
1. ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้คู่คุณธรรม สำนึกในความเป็นไทย มีความรักและความผูกพันต่อท้องถิ่น
2. ผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานของวิชาชีพครู
3. สร้างองค์ความรู้ วิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและสิ่งประดิษฐ์บนพื้นฐานของภูมิปัญญาไทยและภูมิปัญญาสากล
4. เรียนรู้และเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ประสานความร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อพัฒนาท้องถิ่น
เป้าหมายการให้บริการหน่วยงาน
1. ขยายการผลิตบัณฑิตและพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพิ่มขึ้น ตามความต้องการของตลาด
2. มีหน่วยงานสนับสนุนในการพัฒนาคุณภาพบัณฑิตที่มีประสิทธิภาพ
3. สร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับหน่วยงานภายนอกในการผลิตและพัฒนากำลังคน
4. สร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับสถานประกอบการในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ
5. มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและอาจารย์กับสถาบันอุดมศึกษาต่างประเทศ
6. ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถด้านภาษา และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสารและการ
ปฏิบัติงาน
7. ส่งเสริมสุขภาวะของบุคลากร เสริมสร้างมาตรการลดปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพด้านปัญหายาเสพติด
การลดอุบัติภัย การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร โรคเอดส์
8. เสริมสร้างให้นักศึกษายึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
9. นักศึกษามีความจงรักภักดีและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์
10. นักศึกษาและประชาชนมีคุณธรรม จริยธรรม ตระหนัก ในคุณค่าของวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงา
11. นักศึกษาและประชาชนเห็นคุณค่าและร่วม โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชตามพระราชดำริในสมเด็จ
พระเทพฯ
12. นักศึกษาได้รับการปลูกฝังจิตสำนึก ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
13. ผู้รับบริการได้รับบริการวิชาการเพื่อพัฒนาตนเองหน่วยงานและชุมชน
14. กลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนมีความเข้มแข็ง และมีศักยภาพในการแข่งขัน
15. เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และสามารถนำไปใช้ในการทำการเกษตร
ยั่งยืน
16. เกษตรกรมีความรู้ความสามารถ ในการเพิ่มมูลค่าผลผลิต มีศักยภาพในการผลิต และพัฒนาด้าน
การตลาด
17. ปรับปรุงพัฒนาแหล่งเรียนรู้
18. สร้างเครือข่ายแหล่งเรียนรู้ร่วมกับชุมชน
19. จัดตั้งพิพิธภัณฑ์เมืองโคราช เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และรวบรวมองค์ความรู้ที่เป็นมรดกทางภูมิปัญญา
ท้องถิ่น วัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจ และประวัติศาสตร์
20. ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการพัฒนาเพิ่มวุฒิ/สมรรถนะทางวิชาชีพ
21. คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยได้รับการพัฒนาศักยภาพด้านการสอน
22. ระบบบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการให้บริการ
23. มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ในการบริหารและบริการอย่างมีประสิทธิภาพ
24. บุคลากรได้รับการพัฒนาศักยภาพ สามารถให้บริการได้อย่างมืออาชีพ
25. เร่งรัดการผลิตกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
26. มีผลงานวิจัยนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ที่เผยแพร่และนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้น
27. สร้างความเข้มแข็งของระบบวิจัยบูรณาการ
29. สร้างเครือข่ายการวิจัยและปรับมาตรฐานการวิจัย
** ข้อมูลจาก แผนปฏิบัติราชการ 4 ปี พ.ศ. 2551 – 2554 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
2. - 3. วิเคราะห์เครื่องมือทางการจัดการที่องค์กรใช้เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายขององค์กร และผลที่เกิดจากใช้เครื่องมือทางการจัดการนั้นๆขององค์กร
วิเคราะห์เครื่องมือที่มหาวิทยาลัยราชภัฏใช้ในการบริหารจัดการองค์กร เพื่อบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ และผลที่เกิดจากใช้เครื่องมือทางการจัดการนั้นๆขององค์กร
1. ข้อเสนอการเปลี่ยนแปลง (Blueprint for Change)
เนื่องจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นหน่วยงานของรัฐ ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการดังนั้น จึงได้รับการประเมินคุณภาพการปฏิบัติราชการ หรือการปฏิบัติงาน จากทั้งหน่วยงานภายในกระทรวงศึกษาธิการ โดยหน่วยงานหลักที่ทำการประเมินมหาวิทยาลัยฯ มีดังนี้
ภายในกระทรวง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และหน่วยตรวจสอบภายในระดับกระทรวง
ภายนอกกระทรวง ได้แก่ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ซึ่งเป็นการประเมินจากเอกสารที่เป็นหลักฐานการปฏิบัติงาน ทั้ง 3 มิติ คือ ด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพ ด้านการพัฒนาคุณภาพ และด้านการเสริมสร้างสมรรถนะ
เครื่องมือทางการจัดการนี้ทำให้มหาวิทยาลัยได้รับการรับรองคุณภาพในด้านต่างๆ นำไปสู่การยอมรับของสังคม หน่วยงานเอกชน เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อผู้ประกอบการที่ใช้บัณฑิต
2. การบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management Program)
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาใช้เครื่องมือนี้ในการบริหารเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักศึกษาใหม่ที่เพิ่งเข้ามาศึกษาเล่าเรียน รวมทั้งบุคลากรที่เข้ามาทำงานใหม่ โดยการจัดกิจกรรมละลายพฤติกรรม สานสัมพันธ์ และกิจกรรมที่ทำร่วมกันทั้งบุคลากรและนักศึกษา อย่างต่อเนื่องเพื่อปลูกฝังวัฒนธรรมขององค์กรแห่งนี้ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างมั่นคง
เครื่องมือทางการจัดการนี้ถือเป็นเครื่องมือที่มหาวิทยาลัยใช้บริหารพฤติกรรมของทั้งบุคลากรและนักศึกษามาเป็นเวลานานจนถือได้ว่าเป็นเครื่องมือหลักตัวหนึ่งในการบริหารจัดการพฤติกรรมขององค์กรนี้
3. สมรรถนะหลัก (Core Competencies)
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาได้มีการจัดตั้งหน่วยงานหลักแห่งหนึ่งภายในองค์กรที่ชื่อว่า สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำหน้าที่ในการวิจัย และให้การบริการทางวิชาการ ที่เกี่ยวกับไม้กลายเป็นหินและซากดึกดำบรรพ์ ซึ่งหน่วยงานนี้ถือเป็นสถาบันที่วิจัยเกี่ยวกับไม้กลายเป็นหินแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นแห่งที่ 7 ของโลก โดยได้รับความร่วมมือจากประเทศญี่ปุ่น และอเมริกา
เครื่องมือทางการจัดการตัวนี้ถือว่ามีความเป็นเอกลักษณ์ ยากแก่การลอกเลียนแบบจากหน่วยงานอื่น เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนสูง เนื้อหาข้อมูลงานวิจัยที่ต้องใช้ความพยายาม รวมถึงระยะเวลาในการดำเนินงานเป็นเวลานาน อีกทั้งยังต้องอาศัยความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ
4. Customer Relationship Management : CRM
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาได้มีการลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ และทั้งหน่วยงานของรัฐและเอกชน เช่น การทำวิจัยร่วมกัน การรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงาน การต่อต้านยาเสพติดในสถานศึกษา การส่งนักศึกษาฝึกงานในสถานประกอบการที่ต้องใช้บัณฑิตของทางมหาวิทยาลัย
ในด้านการกำหนดทิศทางการปฏิบัติราชการของมหาวิทยาลัย ได้มีการให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stake holder) โดยเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียดังกล่าวร่วมแสดงความคิดเห็น และกำหนดทิศทางการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง
เครื่องมือนี้ช่วยให้มหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตได้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดีอันจะนำไปสู่ความร่วมมือทางด้านวิชาการต่างๆในอนาคต
5. E-Learning
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้มีการใช้เครื่องมือที่เข้าถึงการให้บริการความรู้ทางวิชาการแก่นักศึกษาโดยใช้ระบบการเรียนรู้ทางไกล หรือ E-Learning โดยจัดทำเป็นรายคณะ ซึ่งนักศึกษาสามารถเข้าไปใช้บริการได้ตลอดเวลาที่ http://lmsonline.nrru.ac.th/moodle/
เครื่องมือนี้ช่วยยกระดับการให้บริการของมหาวิทยาลัย ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา และสร้างองค์กรที่มีลักษณะเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่ดี
6. การจัดการความรู้ (Knowledge Management – KM)
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้มีการจัดกิจกรรม KM ขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์การทำงานของบุคลากรในแต่ละส่วนงาน เป็นประจำ ผลลัพธ์ที่ได้เป็นที่น่าพอใจเนื่องจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมแต่ละคนได้ให้ความร่วมมือในกิจกรรมนี้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีกิจกรรมที่สนุกสนานให้ผู้เข้าร่วมการประชุมร่วมเล่นตลอด และมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากบุคลากรตัวอย่าง หรือ best practice เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นถึงแนวคิดการทำงาน มุมมองที่แตกต่าง ทัศนคติที่ดีต่อการทำงานของเพื่อนร่วมงานในหน่วยงานอื่นภายในองค์กรเดียวกัน
เครื่องมือนี้ความสามัคคีในหมู่คณะ ของบุคลากรในมหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างดี เป็นประโยชน์ในการให้ความร่วมมือประสานงานกันภายในองค์กรเป็นอย่างดี
7. กรอบงบประมาณรายจ่ายล่วงหน้าระยะปานกลาง (Medium-Term Expenditure Framework-MTEF)
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้มีการจัดทำกรอบงบประมาณรายจ่ายล่วงหน้าระยะปานกลางตามระเบียบ ขั้นตอน และวิธีการจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีของสำนักงบประมาณ ซึ่งเป็นการจัดทำข้อมูลงบประมาณแบบประมาณการที่สอดคล้องกับพันธกิจ และเป้าหมายการให้บริการของหน่วยงาน ทำให้มหาวิทยาลัยมีการวางแผนล่วงหน้าในการดำเนินงานเนื่องจากการดำเนินการในโครงการต่างๆของมหาวิทยาลัยต้องสอดคล้องกับเป้าหมายที่วางไว้ และอยู่ภายใต้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดในแต่ละปีงบประมาณ
เครื่องมือนี้เปรียบเหมือนแผนที่ในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย ช่วยกำหนดขอบเขตการดำเนินโครงการต่างๆเป็นไปอย่างเหมาะสมตรงตามเป้าหมายที่วางไว้
8. การจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-procurement)
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้มีระบบการจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ตามระเบียบบริหารงานพัสดุ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทั่วไปเข้ามาดำเนินธุรกิจกับมหาวิทยาลัยได้ โดยมีหน่วยงานที่คอยตรวจสอลบการดำเนินงานดังกล่าว ได้แก่ หน่วยตรวจสอบภายในของมหาวิทยาลัย กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
เครื่องมือนี้ช่วยสร้างความโปร่งใส ในระบบการบริหารงานพัสดุของมหาวิทยาลัย และสามารถประหยัดเวลาในการดำเนินงานจัดซื้อจัดจ้างได้เป็นอย่างดี
9. การจัดจ้างจากภายนอก (Outsourcing)
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้มีการจัดจ้างหน่วยงานภายนอกมาให้บริการในงานระบบรักษา
ความปลอดภัย และงานบำรุง ดูแลรักษาความสะอาดของมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการประหยัดเวลา และงบประมาณในงานดังกล่าวของมหาวิทยาลัย ลดภาระงานของบุคลากร ช่วยให้บุคลากรนำเวลาที่เหลือจากงานดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ในงานหลักๆที่สำคัญมากกว่าและให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า
เครื่องมือนี้ช่วยให้มหาวิทยาลัยประหยัดทรัพยากรที่สำคัญที่สุดได้ถึง 2 อย่างในเวลาเดียวกัน นั่นคือ บุคคลและเวลา ทำให้การพัฒนามหาวิทยาลัยดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง
10. การวางแผนกลยุทธ์ (Strategic Management)
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้มีการจัดประชุมเพื่อกำหนดทิศทางการปฏิบัติราชการเป็นประจำทุกปี รวมถึงการจัดทำแผนปฏิบัติราชการ4ปี และแผนปฏิบัติราชการประจำปี ซึ่งรวมเอาแผนกลยุทธ์ที่จำเป็นของมหาวิทยาลัยเข้าไปด้วยและส่งให้ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงบประมาณ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ กพร. เป็นประจำทุกปีด้วย
เครื่องมือนี้ช่วยเป็นเข็มทิศนำทางให้มหาวิทยาลัยสามารถดำเนินงานได้ตรงเป้าหมายและพันธกิจที่วางไว้ อีกทั้งยังสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของกระทรวงศึกษาธิการ และแผนบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล
4. ข้อเสนอแนะต่อองค์กร
ข้อเสนอแนะในการใช้เครื่องมือทางการจัดการต่อมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
1. การนำเครื่องมือ 5ส มาใช้ในการบริหารจัดการงานเอกสารในมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมายังไม่มีการใช้เครื่องมือนี้อย่างจริงจัง และต่อเนื่องทั้งๆที่งานส่วนใหญ่ต้องใช้เอกสารต่างๆที่สำคัญเข้ามาเกี่ยวข้อง และต้องนำมาเอกสารเหล่านั้นมาเป็นหลักฐานการในการตรวจสอบผลการปฏิบัติงานแก่หน่วยงานที่กำกับดูแลในด้านต่างๆของมหาวิทยาลัย ดังนั้นจึงพบปัญทางด้านเอกสารหลักฐานไม่ครบ ข้อมูลขาดหายเวลาจะใช้งาน เป็นต้น
ดังนั้นทางมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาจึงควรมีการนำเครื่องมือ 5ส มาใช้อย่างจริงจัง และทำอย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กร
2. การวัดเปรียบเทียบสมรรถนะ (Benchmarking)
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาไม่ควรเปรียบเทียบตนเองกับหมาวิทยาลัยที่ดังๆเป็นอันดับต้นๆของโลก แล้วพยายามเพียงเพื่อให้ได้คะแนนการประเมินตามเกณฑ์การประเมินของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากภายนอก เช่น จำนวนอาจารย์ที่มีตำแหน่งทางวิชาการมากจนเกินไป เป็นต้น แต่ควรมองไปที่พันธกิจ เป้าหมายหลักขององค์กร หรือจุดยืนขององค์กร เช่นเน้นการบริการวิชาการ และงานวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เป็นต้น
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ชื่อ.........นามสกุล..........
รหัส .........-....
กลุ่มแผนการเรียนแบบ แผน ....
วิธีทำก็คือทำตามหัวข้อที่อาจารย์กำหนดทีละหัวข้อ ส่วนเครื่องมือที่ใช้ในการจัดการของแต่ละองค์กรจะมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับขนาด และลักษณะขององค์กรนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง เช่นธุรกิจของเอกชนขนาดใหญ่ มีพนักงานเยอะ ค้ายขายกับทั้งภายในและต่างประเทศ เครื่องมือที่ใช้ในการจัดการองค์กรของเค้าก็น่าจะมีหลายตัวจริงมั้ยครับ
สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องดูที่เป้าหมายที่องค์นั้นๆตั้งไว้ครับแล้วดูว่าเครื่องมือที่องค์กรนั้นๆใช้สามารถทำให้เค้าบรรลุ หรือเข้าใกล้เป้าหมายดังกล่าวมั้ยนั่นเองครับ
ส่วนของผมที่เป็นสถาบันการศึกษา มีทั้งเครื่องมือที่เป็นข้อบังคับของหน่วยงานที่กำกับดูแลการดำเนินงานขององค์กร เช่น กพ. สงป. เป็นต้น แถมยังมีการจัดการเรียนการสอนหลายด้านดังนั้นบุคลากรภายในองค์กรของหน่วยงานต่างๆ ก็ย่อมต้องมีการนำเครื่องมือมาใช้ที่หลากหลายกันภายในมหาวิทยาลัย
ดังนั้นเครื่องมือทางการจัดการไม่จำเป็นต้องมีอยู่ในเฉพาะแต่ไฟล์ที่อาจารย์สอนเท่านั้นนะครับ อาจแตกต่าง มีมากกว่า หรือน้อยกว่านั้นก็ได้ครับ ขึ้นอยู่กับองค์กรที่พี่น้องเลือกมาวิเคราะห์ครับ แล้วพบกันครับ
วันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)