วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

เศรษฐศาสตร์ กับ การตลาด เกี่ยวข้องกันอย่างไร?

เศรษฐศาสตร์ กับ การตลาด เกี่ยวข้องกันอย่างไร? (Economics and Marketing?)
สวัสดีครับพี่น้องชาวMBE#8ทุกท่าน
คราวนี้เราพักเรื่องราวเกี่ยวกับการทำวิทยานิพนธ์ของผมไว้ก่อนดีกว่าครับ เนื่องจากผมไปอ่านเจอบทความหนึ่งซึ่งคิดว่าน่าสนใจมากๆ(สำหรับผม) เพราะเป็นแนวคิดพื้นฐานของคนที่เรียนเกี่ยวกับการตลาดและเศรษฐศาสตร์ ผมคิดว่าอย่างน้อยก็น่าจะจำเป็นต้องรู้ไว้วง่าทั้งเศรษฐศาสตร์ และ การตลาด เกี่ยวข้องกันอย่างไร? โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ " ด้วยแล้วยิ่งต้องรู้!
ความเหมือนหรือความแตกต่างของทั้งเศรษฐศาสตร์ กับ การตลาด จะเป็นอย่างไรบ้าง เราลองมาดูกันครับ





เศรษฐศาสตร์ กับ การตลาด เกี่ยวข้องกันอย่างไร? (Economics and Marketing?)

บทนำ

หากจะกล่าวถึงวิชาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ศึกษาถึงความต้องการของคนที่มีอยู่อย่างไม่จำกัดเมื่อเทียบกับทรัพยากรอันจำกัดที่มีอยู่บนโลกแล้วนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่กล่าวถึง ความต้องการ หรือ อุปสงค์ (Demand) เนื่องจากความรู้ความเข้าใจในอุปสงค์ เป็นพื้นฐานในการศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเราเข้าใจถึงความต้องการของมนุษย์แล้วนั้น จะสามารถตอบปัญหาพื้นฐานทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่ว่า จะผลิตอะไร? ผลิตอย่างไร? และผลิตเพื่อใคร? (What? How? for Whom?) ได้ เพราะเมื่อได้ศึกษาถึงความต้องการของคนแล้วจะสามารถเชื่อมโยงถึงการศึกษาเรื่อง ทฤษฎีการบริโภค ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์นั้น การบริโภคจะขึ้นอยู่กับอรรถประโยชน์ หรือ ความพอใจ (Utility) โดยอธิบายว่าการบริโภคสินค้าในแต่ละหน่วยจะทำให้ความพอใจลดลง ซึ่งความพอใจของแต่ละบุคคลก็จะแตกต่างกันไป ดังนั้นจึงต้องศึกษาถึงความต้องการของผู้บริโภคซึ่งมีอยู่หลากหลายรูปแบบด้วยเช่นกัน ส่วน การตลาด นั้น เป็นศาสตร์ที่ศึกษาถึง กิจกรรมของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล เพื่อให้เกิดการสนองความต้องการของบุคคลเหล่านั้น โดยผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยน ซึ่งการตลาดนั้นเป็นหน้าที่หนึ่งในการบริหารธุรกิจ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ทั้งเศรษฐศาสตร์และการตลาดนั้น เป็นการศึกษาถึงความต้องการและการสนองความต้องการของมนุษย์นั่นเอง

ความต้องการ (Needs, Wants, Demands)

ความต้องการของมนุษย์นั้น เริ่มมีมาตั่งแต่เกิดจนกระทั่งเสียชีวิต เช่น เด็กแรกเกิดต้องการ นม อาหาร ความรัก ความอบอุ่นจากแม่ จนเมื่อโตไปจนกระทั่งเสียชีวิตไปแล้วก็ยังต้องการพิธีศพที่ใหญ่โต เป็นต้น ความต้องการของคนตอนที่ยังมีชีวิตนั้นมีอยู่หลากหลาย และความต้องการของแต่ละคนก็จะมีไม่เท่ากัน แตกต่างกันไป เช่น ของสิ่งหนึ่งอาจเป็นที่ต้องการของคนกลุ่มหนึ่ง ในขณะที่ของสิ่งนั้นอาจไม่เป็นที่ต้องการของคนอีกกลุ่มหนึ่งเลยก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ยาเสพติด เป็นต้น ดังนั้นการที่จะเข้าใจถึงลักษณะความต้องการของคนแต่ละคนนั้น เป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ และนักการตลาดสนใจ ซึ่งความต้องการสามารถแยกออกเป็นประเภทได้ดังนี้

ความต้องการระดับ Needs

ความต้องการของมนุษย์ในระดับนี้นั้น หมายถึง ความต้องการความจำเป็นขั้นพื้นฐานเพื่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เช่น ความต้องการ อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เครื่อวนุ่งห่ม เป็นต้น ซึ่งถ้ามนุษย์ขาดสิ่งที่จะมาสนองความต้องการระดับนี้ การดำเนินชีวิตอาจสิ้นสุดลง หรือเป็นไปได้ด้วยความยากลำบาก ดังนั้น มนุษย์ทุกคนจึงต้องดิ้นรนเพื่อตอบสนองความต้องการระดับนี้เพื่อให้ชีวิตอยู่รอด แต่เมื่อมนุษย์ได้รับสิ่งที่มาสนองความต้องการเหล่านี้แล้ว ก็อาจเกิดความต้องการในระดับที่สูงขึ้นไปอีก ซึ่งเรียกว่าเป็นความต้องการระดับ Wants

ความต้องการระดับ Wants

ความต้องการของมนุษย์ในระดับนี้นั้น หมายถึง ความต้องการความที่ไม่ใช่สิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานเพื่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ แต่สิ่งที่จะมาสนองความต้องการในระดับนี้ จะมีลักษณะเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ซึ่งเป็นความต้องการที่เป็นการ อยากได้ มากกว่า จำเป็น เช่น ชื่อเสียง เงินทอง บ้าน รถ สิ่งของฟุ่มเฟือยต่างๆ เป็นต้น ซึ่งจริงๆแล้วถ้ามนุษย์ขาดสิ่งที่จะมาสนองความต้องการระดับนี้ก็ไม่เป็นไรดังนั้น มนุษย์บางกลุ่มจึงต้องดิ้นรนเพื่อตอบสนองความต้องการระดับนี้ ทำให้ความต้องการในระดับนี้เปลี่ยนแปลงได้บ่อยตามปัจจัยทางสังคมที่มีอิทธิพลต่อบุคคลแต่ละคน

ความต้องการระดับ อุปสงค์ Demands

ความต้องการในระดับนี้นั้น หมายถึง ความต้องการอีกระดับหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะประกอบด้วยความต้องการแล้วยังต้องมีอำนาจซื้อหนุนหลัง และเจ้าของความต้องการนั้นมีความเต็มใจที่จะจ่ายเงิน หรือกล่าวอีนัยหนึ่งก็คือ ความต้องการซื้อ นั่นเอง ซึ่งไม่ได้หมายถึงความต้องการในระดับ Wants แต่เป็นความต้องการที่มีอำนาจซื้อ (Purchasing Power) กำกับอยู่ด้วย กล่าวคือ ผู้บริโภคจะต้องมีเงินเพียงพอ และต้องมีความเต็มใจ (Ability and Willingness to pay) ที่จะจ่ายซื้อสินค้าและบริการนั้นๆได้ด้วย ซึ่งความต้องการในระดับอุปสงค์นี้ จะก่อให้เกิดการซื้อขายสินค้ากันขึ้นได้ และความต้องการในระดับอุปสงค์นี้ เป็นความต้องการที่ นักเศรษฐศาสตร์ และนักการตลาดสนใจ

ประเภทของ อุปสงค์ (Demands) กับ การตลาด

ความต้องการหรืออุปสงค์ (Demand) มีความหมายเฉพาะในวิชาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งอาจให้คำจำกัดความได้ว่า อุปสงค์สำหรับสินค้า และบริการชนิดใดชนิดหนึ่ง หมายถึงจำนวนต่างๆของสินค้าและบริการชนิดนั้นที่ผู้บริโภคต้องการซื้อในระยะเวลาหนึ่ง ณ ระดับราคาต่างๆกันของสินค้าชนิดนั้น หรือ ณ ระดับรายได้ต่างๆของผู้บริโภค ดังนั้น ความต้องการหรืออุปสงค์จึงเป็นจุดเริ่มต้นของงานการตลาด และเศรษฐศาสตร์ มุ่งที่จะวัดระดับความต้องการ (ระดับอุปสงค์) หรือความหยืดหยุ่นของอุปสงค์ ในขณะที่นักการตลาดสนใจที่จะแยกประเภทของความต้องการ (อุปสงค์) โดยเห็นความสำคัญว่า ความต้องการที่แฝงอยู่ในตัวคนอาจมีหลายประเภท และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยใช้เครื่องมือทางการตลาด ซึ่งทั้งหมดอาจแยกได้เป็นประเภทต่างๆ ดังนี้

1) อุปสงค์เป็นลบ (Negative Demand)
หมายถึง ผู้บริโภคมีความสนใจสินค้าเป็นลบ เป็นความต้องการที่ไม่ใช่เพียงแต่ไม่มีความต้องการในสินค้านั้นๆ แต่ความต้องการเป็นลบหมายถึง ผู้บริโภคยินยอมที่จะเสียเงินเพื่อหลีกเลี่ยงการบริโภคสินค้านั้น ยกตัวอย่างเช่น คนทั่วไปกลัวการถูกฉีดยา ฉีดวัคซีน กลัวการไปหาหหมอฟัน หรือ กลัวการบริโภคอะไรก็ตามที่จะเกิดผลเสียต่อตนเอง จึงยอมจ่ายเงินเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการบริโภคสินค้าเหล่านั้น เป็นต้น ดังนั้น นักการตลาดจะต้องแยกแยะว่า เหตุใดตลาดจึงไม่นิยมสินค้านั้น และต้องวางแผนการตลาดเพื่อเปลี่ยนแปลงความเชื่อ หรือทัศนคติของคนเหล่านั้น โดยอาศัยวิธีทางการตลาด ซึ่งอาจอยู่ในรูปของการเปลี่ยนแปลงสินค้า หรือการส่งเสริมการตลาด เช่น เปลี่ยนวัคซีนเป็นแบบรับประทานแทนการฉีด หรือชักชวนให้คนไปตรวจฟันจนเป็นนิสัย เป็นต้น

2) ไม่มีอุปสงค์ (No Demand)
หมายถึง ผู้บริโภคหรือกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ขาดความสนใจ ไม่สนใจในสินค้า หรือไม่เห็นความแตกต่างของสินค้า ยกตัวอย่างเช่น เกษตรกรไม่สนใจวิธีการเพาะปลูกแบบใหม่ เพราะไม่รู้ว่าให้ผลผลิตสูงกว่าแบบเก่า และต้นทุนลดลงกว่าเดิม หรือ คนไข้ป่วยด้วยโรคปวดศรีษะไม่รู้ว่ามีการรักษาโรคปวดศรีษะโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ดังนั้นการตลาดต้องพยายามหาทางที่จะแสดงผลประโยชน์ของสินค้านั้น ให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย โดยเน้นการตลาดด้านการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายให้เกิดความสนใจและติดตามในรายละเอียด

3) อุปสงค์แฝง (Latent Demand)
หมายถึง ความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งที่มีต่อสินค้าชนิดหนึ่ง แต่ไม่สามารถเข้าถึงสินค้าหรือบริการบางอย่างนั้นได้ ซึ่งมีผู้บริโภคจำนวนมากที่ต้องการสินค้าหรือบริการบางอย่างที่ไม่อาจตอบสนองได้ด้วยสินค้าที่มีอยู่ ยกตัวอย่างเช่น คนที่ไม่มีแฟนต้องการบริษัทจัดหาคู่ที่ดี คนหัวล้านต้องการยาปลูกผมที่ให้ผลรวดเร็ว หรือคนที่เป็นโรคเอดส์ต้องการหาหมอโดยไม่เปิดเผยข้อมูล (คลีนิคนิรนาม) เป็นต้น ดังนั้น งานของนักการตลาดคือ หาทางผลิตสินค้าใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค หรือปรับปรุงแก้ไขสินค้าให้เหมาะกับความต้องการและเผยแพร่ข้อมูลของสินค้าด้วยวิธีที่เหมาะสม

4) อุปสงค์ถดถอย (Falling Demand)
หมายถึง ความต้องการในสินค้าและบริการต่างๆนั้นลดลง ซึ่งเป็นปัญหาที่ธุรกิจหลายๆแห่งต้องประสบกับอุปสงค์ของสินค้าบางตัวหรือหลายตัวลดต่ำลง เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น สินค้าบางตัวเมื่อมีการออกสู่ตลาดใหม่ๆ ก็จะมีความต้องการสูง หรือเป็นไปตามแฟชั่น แต่ระยะเวลาต่อมาคนเริ่มลดความนิยมลงไป หรือ ในปัจจุบันนี้คนเริ่มเข้าวัดน้อยลง จำนวนนักเรียนที่สมัครเข้าเรียนในโรงเรียนลดน้อยลง เป็นต้น ดังนั้น นักการตลาดต้องวิเคราะห์ถึงสาเหตุแห่งความต้องการที่ลดลงนั้น และปรับปรุงแก้ไขในลักษณะหาตลาดเป้าหมายใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของสินค้า หรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ดีขึ้นกว่าเดิม

5) อุปสงค์ไม่สม่ำเสมอ (Irregular Demand)
หมายถึง ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามวันเวลา ทำให้มีธุรกิจหลายอย่างที่ประสบกับปัญหาอุปสงค์มีขนาดไม่สม่ำเสมอนี้ ซึ่งความต้องการส่วนใหญ่จะเปลี่ยนไปตามเวลา เช่น วัน ชั่วโมง หรือฤดูกาล ก่อให้เกิดปัญหารการทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น ร้านขายอาหารจะขายอาหารได้มากในช่วงเวลาตอนเที่ยง หรือตอนเย็น การจราจรจะติดขัดในช่วงเวลาเร่งด่วน ที่พักชายทะเลจะมีคนมาจองมากในช่วงฤดูร้อน หรือวันสุดสัปดาห์ วันหยุดเทศการต่างๆ เป็นต้น ดังนั้นนักการตลาดจะต้องหาทางเปลี่ยนแปลงขนาดของอุปสงค์ตามเวลาให้มีความสม่ำเสมอมากขึ้น โดยใช้เครื่องมือทางการตลาดที่เหมาะสม โดยอาจใช้การส่งเสริมการขาย การประชาสัมพันธ์ เช่นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมีคำขวัญที่ว่า "เที่ยวไทยไปได้ทุกเดือน" เป็นต้น

6) อุปสงค์เต็ม (Full Demand)
หมายถึง ความต้องการในสินค้าและบริการของผู้บริโภคนั้น เท่ากับกำลังการผลิตของธุรกิจพอดี ซึ่งเป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ และนักการตลาดต้องการ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นดุลยภาพของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ดังนั้น นักการตลาดจะต้องหาทางรักษาระดับของอุปสงค์นี้ให้คงอยู่ตลอดไป เนื่องจากอุปสงค์จะเปลี่ยนแปลงไปตามภาวะต่างๆ เช่น รสนิยมของผู้บริโภค รายได้ หรือ ภาวะการแข่งขัน เป็นต้น การรักษาระดับอุปสงค์นี้อาจอยู่ในรูปของการรักษาคุณภาพของสินค้าและบริการ หรือ ปรับปรุงสินค้าและบริการนั้นให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

7) อุปสงค์ล้น (Overfull Demand)
หมายถึง ความต้องการในสินค้าและบริการของผู้บริโภค บางชนิดนั้นมีมากเกินกว่ากำลังการผลิตของธุรกิจ และเป็นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งนักการตลาดควรหาทางลดอุปสงค์เหล่านี้ลงอย่างชั่วคราวหรือเป็นการถาวร ซึ่งงานการตลาดในทำนองนี้อาจจะทำได้ไม่ยากนัก ยกตัวอย่างเช่น การขึ้นราคาสินค้าหรือบริการให้มีราคาที่สูงขึ้น การลดการส่งเสริมการจำหน่าย แต่ควรที่จะเลือกลดอุปสงค์ของตลาดที่ทำกำไรน้อย แต่อย่างไรก็ตาม การลดอุปสงค์ไม่ใช่การทำลายอุปสงค์ แต่เป็นการทำให้ระดับของอุปสงค์นั้นมีขนาดที่พอเหมาะกับธุรกิจที่จะให้บริการได้ เท่านั้น

8) อุปสงค์ไม่พึงปรารถนา (Unwholesome Demand)
หมายถึง ความต้องการสินค้าและบริการของผู้บริโภคกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีความต้องการในสินค้าที่ไม่พึงปรารถนาของสังคมส่วนรวม ดังนั้นหากธุรกิจใดรับผิดชอบอยู่ จะไม่ได้รับการอนุญาตให้ส่งเสริมการบริโภค ยกตัวอย่างเช่น บุหรี่ อาวุธ เป็นต้น ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของนักการตลาดที่ควรจะส่งเสริมให้ผู้บริโภคลด หรือยกเลิกการบริโภคสินค้าเหล่านี้ โดยการใช้เครื่องมือทางการตลาดต่างๆ เช่น การโฆษณา การประชาสัมพันธ์กระจายข่าวไปยังกลุ่มผู้บริโภค ในขณะเดียวกันก็ควรหาทางขยายธุกิจไปยังกิจการที่ไม่มีปัญหาหรือส่งเสริมสังคมในทางที่ดีขึ้น

ความสำคัญของเศรษฐศาสตร์และการตลาดต่อระบบเศรษฐกิจ

เศรษฐศาสตร์และการตลาด มีส่วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ในภาพรวมของระบบเศรษฐกิจซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น การผลิต การกระจายสินค้าและการบริโภค ดังนั้นการตลาดมีบทบาทสำคัญในแง่ของการกระจายสินค้า โดยทำให้ผู้บริโภคได้รับอรรถประโยชน์สูงขึ้นในแง่ของผลิตภัณฑ์ สถานที่จำหน่าย เวลา และขนาดของสินค้าที่จำหน่าย นักเศรษฐศาสตร์และนักการตลาดพยายามที่จะทำความเข้าใจ ค้นหา วิจัย เกี่ยวกับความของการและพฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงสินค้า ทำให้ผู้บริโภคมีความพอใจมากขึ้นกว่าเดิม และการแข่งขันในเชิงการตลาดนั้นทำให้ผู้บริโภคได้บริโภคสินค้าที่ถูกลงและคุณภาพดีขึ้น และนอกจากจะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจเจริญก้าวหน้าแล้วนั้น กิจกรรมทางการตลาดยังเป็นการสร้างงานจำนวนมากให้เกิดขึ้นในกลุ่มประชากรของประเทศ และช่วยลดปัญหาการว่างงานที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจชะงักงันอีกด้วย

ในส่วนของความหมายในแง่ที่เป็นศาสตร์นั้น เศรษฐศาสตร์ และการตลาด เป็นศาสตร์ที่ศึกษาถึงพฤติกรรมของมนุษย์ในทางเศรษฐกิจ โดยเศรษฐศาสตร์ได้ให้ความคิดพื้นฐานแก่การตลาดในหลายเรื่อง เช่น เรื่องของความต้องการของคนที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด เมื่อเทียบกับทรัพยากรที่มีอยู่ในโลก ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ว่า จะผลิตอะไร ผลิตอย่างไร และผลิตเพื่อใคร ซึ่งความคิดนี้นักการตลาดได้นำมาเป็นข้อคิดในการผลิตสินค้าเพียงแต่เรียงลำดับความคิดใหม่ว่า จะผลิตสินค้าเพื่อใคร และใครเป็นผู้บริโภค แล้วจึงผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ส่วนในด้านเศรษฐศาสตร์นั้นได้อธิบายการบริโภคทั้งในด้านจุลภาค และมหภาค ในระดับเศรษฐศาสตร์จุลภาคนั้น การบริโภคจะขึ้นอยู่กับอรรถประโยชน์ หรือความพอใจ โดยการบริโภคสินค้าเพิ่มขึ้นแต่ละหน่วยจะทำให้ความพอใจลดลง ส่วนอีกแนวคิดหนึ่งคือ ความพอใจไม่สามารถวัดออกมาเป็นหน่วยได้ แต่ผู้บริโภคก็สามารถแสวงหาความพอใจสูงสุดได้ จากการบริโภคภายใต้งบประมาณที่มีจำกัดอยู่จำนวนหนึ่ง ถ้ารายได้เพิ่มหรือราคาสินค้าลดลง ผู้บริโภคก็จะได้รับความพอใจมากขึ้น ส่วนแนวคิดในระดับมหภาค การบริโภคของประเทศจะแปรไปในทางเดียวกับรายได้ประชาชาติ แนวคิดดังกล่าวให้ประโยชน์แก่การตลาดคือ ทราบว่าการบริโภคของคนจะแปรเปลี่ยนไปตามรายได้ ราคาสินค้า และลักษณะสินค้า เป็นต้น นอกจากนี้ เศรษฐศาสตร์ยังให้แนวคิดเกี่ยวกับการคาดคะเนอุปสงค์ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อช่วยให้ผู้ผลิตตัดสินใจว่า การลงทุนหรือการขยายกิจการนั้นคุ้มค่าเพียงใดหรือไม่ ลักษณะของตลาดมีผู้ขายกี่คน สภาพของการแข่งขันเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ เศรษฐศาสตร์ยังให้แนวคิดเกี่ยวกับการคาดคะเนอุปสงค์ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อช่วยให้ผู้ผลิตตัดสินใจว่า การลงทุนหรือการขยายกิจการนั้นคุ้มค่าเพียงใดหรือไม่ ลักษณะของตลาดมีผู้ขายกี่คน สภาพของการแข่งขันเป็นอย่างไร อำนาจในการกำหนดราคา หรือปริมาณขายมีมากน้อยเพียงใด การคำนวณต้นทุนเพื่อตั้งราคาขาย หรือการขยายกิจการโดยดูจาก ต้นทุนส่วนเพิ่ม และรายรับส่วนเพิ่ม ซึ่งแนวความคิดทั้งหมดนี้ทำให้นักการตลาดได้ความคิดพื้นฐาน เพื่อวางแผนและตัดสินใจในการตลาดต่อไป

ที่มา : "เศรษฐศาสตร์น่ารู้" ส่วนนโยบายการออมและการลงทุนในภาพรวม, สำนักนโยบายการออมและการลงทุน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, กระทรวงการคลัง http://www.fpo.go.th/s-i/Index.php?body=./Source/Data/DataIndex.php&Language=Thai&DBIndex=mysql

วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

มาทำวิทยานิพนธ์ด้วยกัน 2

สวัสดีครับพี่น้องMBE#8 ทุกท่าน

หัวข้อวิทยานิพนธ์ : การคำนวณอัตราค่าธรรมเนียมน้ำมันที่เหมาะสมของสายการบินพานิชย์ในประเทศไทย




หลังจากคราวที่แล้วได้ค้างไว้เกี่ยวกับหัวข้อวิทยานิพนธ์ของผม ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบินที่ผมอยากทำงานในอนาคต ผมพยายามตั้งที่มาของปัญหาโดยมองว่า ปัญหาที่สำคัญของการดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมการบินโดยเฉพาะอย่างยิ่งสายการบินพานิชย์ นั้น จากส่วนหนึ่งของ "Aviation Knowledge" ของการบินไทย กล่าวว่า "การทำธุรกิจการบิน สัดส่วนค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่สุดก็คือ ค่าแรงงาน รองลงมาคือ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง (ซึ่งขณะนี้แนวโน้มค่าใช้จ่ายน้ำมันกำลังจะแซงหน้าค่าจ้างแรงงานเข้าทุกขณะ) การจะลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน สายการบินต่างๆก็ต้องคอยระมัดระวังเรื่องการประท้วง หรือนัดหยุดงานของพนักงานที่เกิดขึ้นเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้งตามหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งจะยิ่งทำให้ธุรกิจเสียหายและอาจเป็นปัญหาบานปลายต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน ส่วนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงแทบจะไม่มีโอกาสทำให้ลดลงได้เลย นอกเสียจากการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ที่มีสมรรถนะสูงเพื่อลดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง สายการบินใดที่สามารถปรับลดค่าใช้จ่ายทั้ง 2 ด้านนี้ได้ก็นับว่าโชคดี" จะเห็นได้ว่าเป็นปัญหาทั้งสองด้านระหว่างผู้ให้บริการคือสายการบิน และผู้รับบริการคือผู้โดยสารหรือลูกค้าที่ต้องการใช้บริการขนส่งสินค้าโดยผ่านทางเครื่องบิน
ปัญหาของสายการบิน คือ เรื่องของต้นทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นในการดำเนินธุรกิจซึ่งจะต้องบวกเข้าไปกับราคาที่ให้บริการหรือจำเป็นต้องผลักภาระไปสู่ผู้บริโภคถ้าจำเป็น (ถึงไม่จำเป็นก็ตาม)ซึ่งก็จะต้องกระทบกับส่วนงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเช่น ฝ่ายวางแผน ฝ่ายการตลาด ประชาสัมพันธ์ ทำอย่างไรให้ผู้บริโภคเข้าใจ และยอมรับในราคาที่บริษัทกำหนดขึ้น หรือทำอย่างไรให้บริษัทยังสามารถสร้างกำไรให้กับกิจการ และยังสามารถแข่งขันได้
ปัญหาของผู้รับบริการ ซึ่งก็หนีไม่พ้นเรื่องของราคาค่าบริการที่เพิ่มขึ้นจากต้นทุนดังกล่าวของสายการบิน(ขึ้นแล้วมักไม่ค่อยลงซะด้วย หรือลงก็ลงน้อยกว่าตอนที่ขึ้น) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ค่าธรรมเนียมน้ำมัน (fuel surcharge)" ที่เกิดขึ้นจากการคิดค่าชดเชยความผันผวนของราคาน้ำมัน จากข้อมูลที่ผมได้ลองศึกษาดู ตรงส่วนนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกระทบ แม้กระทั่งธุรกิจทัวร์ต่างๆ ซึ่งต้องกำหนดไว้ในรายการใบแจ้งค่าใช้จ่ายให้แก่ลูกค้าว่า ค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าธรรมเนียมน้ำมัน อาจมีการเปลี่ยนแปลงล่วงหน้าได้ ขึ้นอยู่กับสายการบินที่ให้บริการ
ตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นต่างๆเหล่านี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีอีกหลายแง่มุมที่น่าสนใจให้นำมาศึกษา วิเคราะห์ อธิบาย รวมทั้งหาวิธีแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่ ส่วนผมเองสนใจในเรื่องของการคำนวณค่า "fuel surcharge" ที่เป็นธรรมทั้งสองฝ่าย คือสมเหตุสมผล เหมาะสมกับต้นทุนที่แท้จริงของธุรกิจ และไม่เอารัดเอาเปรียบกับผู้บริโภคจนเกินไป หรือเป็นราคาดุลยภาพในเรื่องของค่า fuel surcharge ระหว่างผู้ให้บริการ กับผู้รับบริการ นั่นเอง

ตัวอย่างแนวคิดหนึ่งก็ เช่น "มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เสนอให้มีการปรับวิธีการคำนวณค่าธรรมเนียมน้ำมันใหม่ ในอัตราก้าวหน้า เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และเหมาะสมกับผู้รับบริการ" แต่จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนนั้น คงต้องว่ากันอีกทีนึงล่ะครับ บางครั้ง"สิ่งที่ดีและถูกต้อง ก็ใช่ว่าจะได้รับการยอมรับเสมอไป" ไม่งั้นป่านนี้ประเทศไทยคงเป็นประเทศที่เจริญแล้วแน่ๆ (แซวเล่น ๆ)

สุดท้ายหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่ผมขึ้นต้นในบทความคราวนี้ ผมขอตั้งแบบกว้างๆไว้ก่อน เนื่องจากผมเชื่อว่าคงต้องมีการปรับเปลี่ยนอีกอย่างแน่นอน เพราะข้อมูลเท่าที่ผมมีตอนนี้ ยังไม่สามารถสรุปให้เสร็จสิ้นในครั้งนี้ได้ แต่ถือว่าเอาพอเป็นแนวทางก่อนละกันนะครับ
ไว้คราวหน้าเรามาลองดูข้อมูลอื่นๆที่น่าจะเป็นประโยชน์กับการทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ของผมกันบ้างนะครับ
ขอบคุณครับ
ข้อมูลเพิ่มเติม : http://www.thaipa.net/mambo/index.php?option=com_content&task=view&id=62&Itemid=36

http://board.dserver.org/l/luegat2/00000958.html ข่าวเกี่ยวกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น
http://www.aviation.go.th กรมการขนส่งทางอากาศ

สามารถร่วมพูดคุย แบ่งปันกันได้เลยนะครับ "มาทำวิทยานิพนธ์ด้วยกันเถอะครับ"
nongboy15@gmail.com
manaw242@gmail.com
manaw15@hotmail.com

วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

มาทำวิทยานิพนธ์ด้วยกัน

สวัสดีครับพี่น้องMBE#8 ทุกท่าน
หลายคนคงจะเตรียมคิดหาหัวข้อในการทำวิทยานิพนธ์ หรือการศึกษาอิสระของตัวเองกันแล้วในตอนนี้ ซึ่งความรู้ ความชอบ ความถนัดของแต่ละคนก็แตกต่างกันออกไป แต่ก็อยากแนะนำให้เลือกทำเรื่องที่เราคิดว่าเกี่ยวข้องกับงานที่เราอยากจะทำในอนาคตหลังจากที่สำเร็จการศึกษาแล้ว รวมถึงความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้นๆของเรานะครับ เพราะถ้าตัดสินใจลงมือทำไปแล้วเราจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ค่อนข้างยากครับ รวมถึงเสียเวลาที่จะต้องเริ่มต้นใหม่ด้วย
ส่วนผมเองมีความสนใจในเรื่องของ Economic Marketing Industrial Airline Management จะเห็นว่าขอบเขตของสิ่งที่ผมสนใจมันเยอะมากจนเลือกแทบไม่ถูก อันนั้นดี อันนี้น่าสนใจ อันโน้นกำลังเป็นที่นิยม ตัดสินใจยากมาก! ทำไงดี? คิดไม่ออกจริงๆ
แต่ความฝันในอนาคตของผมอย่างนึงคือ อุตสาหกรรมการบิน ชอบมาก ไม่เคยขึ้นเครื่องบิน อยากไปเที่ยวต่างประเทศ เป็นความฝันอย่างนึงในชีวิตเลย
ผมได้อ่านหนังสือของคุณ "สมคิด ลวางกูร" ที่มีชื่อว่า " พลิกชีวิต จากหายนะสู่ความสำเร็จ" เป็นเรื่องของคนๆนึงที่พยายามทำความฝันของตัวเองให้เป็นความจริง จนประสบความสำเร็จในที่สุด (ที่จริงก็มีนังสือหลายเล่มเขียนเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ แต่ความฝันของผมคล้ายกับของคนๆนี้เลยชอบมากเป็นพิเศษ) ในหนังสือมักหยิบยกคำพูดของ"เดล คาร์เนกี้" ที่สำคัญๆหนึงในนั้นคือ
"เดล คาร์เนกี้" กล่าวไว้ว่า "เมื่อถึงคราวที่ต้องตัดสินใจในยามวิกฤติ ..คราวคับขัน..หรือในยามที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต มีหลักการตัดสินใจง่ายๆคือ กลับมาดูเป้าหมายของตัวเอง เอาเป้าหมายเป็นตัวตั้งแล้วดูว่าวิธีไหน เส้นทางไหน จะทำให้ไปถึงเป้าหมายได้เร็วที่สุด สั้นที่สุด ให้เลือกวิธีนั้น แล้วจะประสบความสำเร็จ"
ว่าแล้วผมก็หันมาดูเป้าหมาย หรือความฝันในอนาคตของตัวเองว่า ถามตัวเองว่าอยากทำงานเกี่ยวกับอะไรล่ะ? คำตอบคือ ด้าน Industrial Airline โดยเฉพาะ งานเกี่ยวกับการวิเคราะห์ วางแผน ในสายการบินพานิชย์
เพราะฉะนั้นตอนนี้ผมเลือกขอบเขตที่จะทำวิทยานิพนธ์ได้แล้วนั่นคือ อุตสาหกรรมการบิน สายการบิน อะไรที่มันเกี่ยวกับสายการบิน และอยู่ในขอบเขตของเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ ที่สำคัญ ความรู้ ข้อมูลต่างๆผมพอจะสามารถหาได้
เอาล่ะครับ คราวต่อไปนี้ผมจะกำหนดหัวข้อในการทำวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวกับเรื่องของสายการบิน รวมถึงที่มาและความสำคัญของปัญหาคร่าวๆมาให้ดูกัน
พี่น้องคนใดมีความคิดเห็น หรือข้อมูลดีๆ สามารถร่วมพูดคุย แบ่งปันกันได้เลยนะครับ มาทำวิทยานิพนธ์ด้วยกันเถอะครับ
nongboy15@gmail.com
manaw242@gmail.com
manaw15@hotmail.com

ช่วยๆกันหน่อยนะคร้าบ

สวัสดีครับพี่น้องชาว MBE#8 ทุกท่าน

เนื่องจากสองอาทิตย์ที่ผ่านมาพวกเราไม่ได้มาเรียนกัน ทำให้พวกเราแทบไม่ได้คุยกันเลย ทั้งเรื่องเรียนแล้วก็เรื่องการไปดูงาน
ดังนั้นในวันเสาร์นี้คือ 22 พ.ย.51 ผมจึงอยากให้พวกเราช่วยกันคิด ช่วยกันให้คำแนะนำ และหาข้อสรุปให้ได้ใน 4 ประเด็น คือ
1. เรื่องสถานที่ไปศึกษาดูงานของพวกเรา ว่ายังต้องไปต่างประเทศกันอยู่อีกหรือไม่ ? หรือคุ้มกว่าในประเทศมั้ย ? อยากให้คุยกันให้ชัดเจนไปเลยครับว่าจะไปดูงาน นอกหรือในประเทศ? แล้วไปที่ไหน? ราคาเท่าไหร่? เป็นไปได้มั้ย? ใครอยากไปไหนก็ช่วยเอาข้อมูลมาให้เพื่อนดูด้วยนะครับ
2. เรื่องการเก็บเงินค่าใช้จ่ายในการไปศึกษาดูงาน จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้เดือนละ 1,000 บาท หรือ 9 เดือน 9,000 บาท ลองมาคุยกันดูนะครับว่าเหมาะสมมั้ย มากไปหรือน้อยไปอย่างไร ถ้ามากไปก็อาจจะมีการเก็บเงินสมาชิกให้น้อยลงมาในระดับที่เหมาะสม เป็นต้น แต่ต้องมีขั้นต่ำในการเก็บนะครับ ไม่งั้นต่อให้รวมกับ 6,000 บาท ที่คณะออกให้แต่ละคน ผมก็ว่ายังไม่พอ หรือถ้าน้อยไปแทนที่เราจะเก็บเงินเพิ่ม เราก็เปลี่ยนมาเป็นเก็บเท่าเดิม แต่หารายได้เพิ่มเข้าห้องดีมั้ย ที่จริงอันนี้เราก็ได้คุยกันตั้งนานแล้ว แต่ไม่ได้ข้อสรุปเช่นกัน
3. กิจกรรมที่จะทำ ถ้าเราต้องการหาเงินเพิ่มเข้ารุ่นเราเพื่อเป็นทุนเพิ่มเติมในการไปศึกษาดูงานของพวกเรา เราจจะจัดกิจกรรมอะไรขึ้ัคคีมารองรับ อันนี้สำคัญมากๆครับ เพราะแสดงให้เราเห็นถึงความสามัคคีของพวกเรา ตัวอย่างกิจกรรมที่เพื่อนๆแนะนำมาก่อนหน้านี้ เช่น พี่อ้น : จัดงานเลี้ยงรุ่น/คืนสู่เหย้า เพื่อขายบัตรในราคาต่างๆที่ดึงดูดใจ หรือ เพื่อนบางคนบอกว่า น่าจะทำเสื้อรุ่นขึ้นมา แล้วให้สมาชิกในห้องช่วยขาย(ไม่ใช่ช่วยกันซื้อนะครับ) ผมก็็ว่าเป็นความคิดที่ดีเช่นกัน
4. เื่รื่องเรียน ตอนนี้หลายคนคงมองหาหัวข้อเรื่องในการทำ Thesis หรือ IS กันบ้างแล้ว เราลองมาคุยกันมั้ยว่าใครสนใจที่จะทำเรื่องเกี่ยวกับอะไรกันบ้าง เผื่อว่าคนที่ยังไม่รู้ว่าจะทำเรื่องอะไร ด้านไหน จะได้มีแนวคิดขึ้นมา หรือเอาข้อมูลที่ตัวเองมีอยู่มาแลกเปลี่ยนกัน วิธีนี้จะช่วยให้พวกเราสร้างเครือข่ายของรุ่นเราได้ดีมากขึ้นนะครับ

สรุปว่า 3 ข้อแรกให้ความสำคัญมากที่สุดครับ วันเสาร์นี้เอาให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน อย่างน้อย 2 ข้อแรกก็ยังดี เพื่อจะได้แนวทางในการปฏิบัติ ส่วนข้อสุดท้ายก็เป็นความคิดเห็นเพิ่มเติมของผมครับ เห็นด้วยก็เอา ไม่เห็นด้วยก็ไม่ว่ากันครับ
ขอบคุณทุกความคิดเห็นครับ... ลีจุนบอย

วันพุธที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

แจ้่งข่าวสารการปรับปรุงบล็อก

สวัสดีครับพี่น้องMBE#8 ทุกท่าน
ตอนนี้ผมได้ปรับปรุงบล็อกใหม่แล้วครับ เพื่อให้มีข้อมูลที่เกี่ยวข้อง น่าสนใจ และเป็นประโยชน์กับทุกท่าน สำหรับพี่น้องคนไหนที่กำลังจะเริ่มทำ thesis หรือ IS ตอนนี้ผมอยากใช้เวทีของบล็อกแห่งนี้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือข้อมูลกันนะครับ ใครมีบทความ ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการทำ thesis หรือ IS เช่นหาหัวข้อไม่ได้ ขั้นตอนการทำ ใครมีความรู้ดังกล่าว ก็มาแบ่งปันเพื่อนๆคนอื่นๆได้นะครับ ที่นี่เลย
คือ
1. http://econ8.blogspot.com
ECONOMIC#8 FOR YOU
ยินดีต้อนรับ economizer ทุกท่านครับ บล็อกนี้สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลต่างๆทางด้านเศรษฐศาสตร์ ธุรกิจ การตลาด ข่าวสารบ้านเมืองต่างๆให้แก่ผู้ที่สนใจ รวมทั้งยังเปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็นต่างๆโดยต้องไม่ผิดกฎหมาย และเป็นประโยชน์ต่อสังคม

2. http://manaw15.blogspot.com

FREE SCHOLARSHIP
เป็นแหล่งรวบรวมเกี่ยวกับข่าวสารทุนการศึกษา จากที่ต่างๆทั่วทุกมุมโลก ทุนอบรม เรียนต่อ ท่องเที่ยว ทั้งในและต่างประเทศหาได้จากที่นี่เลยครับ

ทั้งสองบล็อกมีข้อมูล ข่าวสาร ตำแหน่งงานราชการอัพเดตที่กำลังเปิดรับสมัครอยู่ ณ ปัจจุบัน ให้ผู้ที่สนใจไว้เป็นฐานข้อมูลด้วยนะครับ

วันศุกร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ร่วมส่งสมเด็จพระพี่นางฯเสด็จสู่สรวงสวรรคาลัย




สวัสดีครับพี่น้องชาวMBE#8ทุกท่าน
เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พวกเราปวงชนชาวไทยทุกคนต้องสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่กับการจากไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ ของสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เหลือเพียงคุณงามความดีที่พระองค์ท่านทรงกระทำไว้ให้แก่ปวงชนชาวไทยทุกคนได้ระลึกถึงและเป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติตน
ผมได้เคยไปดูงานที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 50 เกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษาภายในมหาวิทยาลัยและการบริหารงบประมาณ ซึ่งทางคณะทีมงานต้อนรับของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้พาชมสถานที่สำคัญๆหลายแห่งภายในมหาวิทยาลัย เช่น วนาศรม รีสอร์ทเพื่อการพัฒนาสุขภาพและความงาม ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธร เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธร ภายในศูนย์ที่นอกจากจะแสดงวัฒนธรรมเกี่ยวกับประเทศจีนแล้ว ยังมีการจัดแสดงวีดิทัศน์ในชื่อชุด "แสงหนึ่งคือรุ้งงาม" ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวพระราชประวัติของพระพี่นางฯได้อย่างดีเยี่ยม ตลอดระยะเวลาที่เข้าชมทุกคนในคณะศึกษาดูงานรู้สึกประทับใจ อิ่มเอมใจ และมีครามภาคภูมิใจเป็นอย่างมากที่ได้เกิดมาบนผืนแผ่นดินไทย ผมสังเกตสีหน้าท่าทางของแต่ละคนที่ชมการฉายวีดิทัศน์อย่างตั้งใจเป็นพิเศษยิ่งกว่าจุดประสงค์ในการศึกษาดูงานซะอีก ซึ่งผมเองก็เป็นเหมือนกัน นอกจากการฉายวีดิทัศน์แล้ว ภายนอกห้องหรือภายในบริเวณศูนย์แห่งนี้ยังได้จัดนิทรรศการภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่านในอิิริยาบทต่างๆได้ เช่นตอนเสด็จพระราชดำเนินทรงงานตรวจเยี่ยมศูนย์แพทย์ชุมชน ทรงเสด็จไปช่วยเหลือและเยี่ยมเยือนพสกนิกรชาวไทยภูเขา พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อก่อตั้งโครงการตามพระราชดำริต่างๆ ฯลฯ ซึ่งผมและคณะศึกษาดูงานยืนมองภาพเหล่านั้นอยู่นานมาก


ผมเชื่อว่าถ้าหากพี่น้องคนไหนที่ได้ไปศึกษาดูงานที่นี้อย่างผม ก็คงมีความรู้สึกไม่แตกต่างจากผมอย่างแน่นอน และผมเชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า พระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านได้ทรงเคยทำไว้แก่ปวงชนชาวไทยจะคงอยู่ในใจของพสกนิกรชาวไทยไปตลอดกาล
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า นักศึกษาสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ รุ่นที่8 คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ข้อมูลเพิ่มเติม
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง : http://www.mfu.ac.th/
ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธร : http://www.mfu.ac.th/center/sirindhorn/

ขอเชิญทุกท่านที่แวะเข้ามาเยี่ยมบล็อกนี้ร่วมกันส่งสมเด็จพระพี่นางฯเสด็จสู่สรวงสวรรคาลัย

วันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ตัวอย่างงานวิชา Managereal Economic ครั้งที่1

สวัสดีครับพี่น้องชาวMBE#8 ทุกท่าน
มีพี่น้องหลายคนถามเกี่ยวกับการบ้านวิชา Managereal Economic ครั้งที่1 บางคนก็ทำส่งแล้วเป็นส่วนใหญ่ครับ แต่หลายคนก็ยังไม่ได้ทำส่ง ดังนั้นผมจึงเอาการบ้านที่ผมทำส่งไปแล้วมาให้เพื่อนๆดูกันครับ ไม่ได้คิดว่าจะโชว์ หรือตังเองเก่งอะไรนะครับ เพียงแต่คิดว่าหากเป็นประโยชน์แก่เพื่อนๆคนอื่นๆบ้างผมก็ดีใจแล้วครับ ส่วนจะถูกหรือผิดนั้นผมไม่สามารถบอกได้ครับ ลองดูเป็นแนวทางบ้างก็ได้ครับ
งานวิชา Managerial Economic (เศรษฐศาสตร์เพื่อการจัดการ)
1. วิเคราะห์องค์กรของรัฐหรือเอกชน อย่างใดอย่างหนึ่งมา 1 องค์กร
2. ดูว่าองค์กรนั้นใช้เครื่องมือในการจัดการอะไรบ้าง
3. เครื่องมือที่เค้าใช้นั้นทำให้เค้าประสบความสำเร็จ หรือความล้มเหลวอย่างไรบ้าง
4. มีข้อเสนอแนะต่อเค้ายังไงบ้าง
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
1. วิเคราะห์องค์กรของรัฐหรือเอกชน อย่างใดอย่างหนึ่งมา 1 องค์กร
กรณีศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

วิสัยทัศน์

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นองค์กรการเรียนรู้ที่เป็นผู้นำด้านการศึกษา และการวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เป็นที่พึ่งทางปัญญาของชุมชน
เสริมสร้างคุณภาพคน สังคมไทยให้เข้มแข็ง ยั่งยืน และมีศักยภาพในการแข่งขัน

พันธกิจ

1. ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้คู่คุณธรรม สำนึกในความเป็นไทย มีความรักและความผูกพันต่อท้องถิ่น
2. ผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานของวิชาชีพครู
3. สร้างองค์ความรู้ วิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและสิ่งประดิษฐ์บนพื้นฐานของภูมิปัญญาไทยและภูมิปัญญาสากล
4. เรียนรู้และเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ประสานความร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อพัฒนาท้องถิ่น

เป้าหมายการให้บริการหน่วยงาน
1. ขยายการผลิตบัณฑิตและพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพิ่มขึ้น ตามความต้องการของตลาด
2. มีหน่วยงานสนับสนุนในการพัฒนาคุณภาพบัณฑิตที่มีประสิทธิภาพ
3. สร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับหน่วยงานภายนอกในการผลิตและพัฒนากำลังคน
4. สร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับสถานประกอบการในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ


5. มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและอาจารย์กับสถาบันอุดมศึกษาต่างประเทศ
6. ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถด้านภาษา และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสารและการ
ปฏิบัติงาน
7. ส่งเสริมสุขภาวะของบุคลากร เสริมสร้างมาตรการลดปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพด้านปัญหายาเสพติด
การลดอุบัติภัย การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร โรคเอดส์
8. เสริมสร้างให้นักศึกษายึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
9. นักศึกษามีความจงรักภักดีและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์
10. นักศึกษาและประชาชนมีคุณธรรม จริยธรรม ตระหนัก ในคุณค่าของวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงา
11. นักศึกษาและประชาชนเห็นคุณค่าและร่วม โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชตามพระราชดำริในสมเด็จ
พระเทพฯ
12. นักศึกษาได้รับการปลูกฝังจิตสำนึก ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
13. ผู้รับบริการได้รับบริการวิชาการเพื่อพัฒนาตนเองหน่วยงานและชุมชน
14. กลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนมีความเข้มแข็ง และมีศักยภาพในการแข่งขัน
15. เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และสามารถนำไปใช้ในการทำการเกษตร
ยั่งยืน
16. เกษตรกรมีความรู้ความสามารถ ในการเพิ่มมูลค่าผลผลิต มีศักยภาพในการผลิต และพัฒนาด้าน
การตลาด
17. ปรับปรุงพัฒนาแหล่งเรียนรู้
18. สร้างเครือข่ายแหล่งเรียนรู้ร่วมกับชุมชน
19. จัดตั้งพิพิธภัณฑ์เมืองโคราช เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และรวบรวมองค์ความรู้ที่เป็นมรดกทางภูมิปัญญา
ท้องถิ่น วัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจ และประวัติศาสตร์
20. ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการพัฒนาเพิ่มวุฒิ/สมรรถนะทางวิชาชีพ
21. คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยได้รับการพัฒนาศักยภาพด้านการสอน
22. ระบบบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการให้บริการ
23. มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ในการบริหารและบริการอย่างมีประสิทธิภาพ
24. บุคลากรได้รับการพัฒนาศักยภาพ สามารถให้บริการได้อย่างมืออาชีพ
25. เร่งรัดการผลิตกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
26. มีผลงานวิจัยนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ที่เผยแพร่และนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้น
27. สร้างความเข้มแข็งของระบบวิจัยบูรณาการ
29. สร้างเครือข่ายการวิจัยและปรับมาตรฐานการวิจัย

** ข้อมูลจาก แผนปฏิบัติราชการ 4 ปี พ.ศ. 2551 – 2554 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา


2. - 3. วิเคราะห์เครื่องมือทางการจัดการที่องค์กรใช้เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายขององค์กร และผลที่เกิดจากใช้เครื่องมือทางการจัดการนั้นๆขององค์กร
วิเคราะห์เครื่องมือที่มหาวิทยาลัยราชภัฏใช้ในการบริหารจัดการองค์กร เพื่อบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ และผลที่เกิดจากใช้เครื่องมือทางการจัดการนั้นๆขององค์กร
1. ข้อเสนอการเปลี่ยนแปลง (Blueprint for Change)
เนื่องจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นหน่วยงานของรัฐ ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการดังนั้น จึงได้รับการประเมินคุณภาพการปฏิบัติราชการ หรือการปฏิบัติงาน จากทั้งหน่วยงานภายในกระทรวงศึกษาธิการ โดยหน่วยงานหลักที่ทำการประเมินมหาวิทยาลัยฯ มีดังนี้
ภายในกระทรวง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และหน่วยตรวจสอบภายในระดับกระทรวง
ภายนอกกระทรวง ได้แก่ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ซึ่งเป็นการประเมินจากเอกสารที่เป็นหลักฐานการปฏิบัติงาน ทั้ง 3 มิติ คือ ด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพ ด้านการพัฒนาคุณภาพ และด้านการเสริมสร้างสมรรถนะ
เครื่องมือทางการจัดการนี้ทำให้มหาวิทยาลัยได้รับการรับรองคุณภาพในด้านต่างๆ นำไปสู่การยอมรับของสังคม หน่วยงานเอกชน เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อผู้ประกอบการที่ใช้บัณฑิต

2. การบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management Program)
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาใช้เครื่องมือนี้ในการบริหารเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักศึกษาใหม่ที่เพิ่งเข้ามาศึกษาเล่าเรียน รวมทั้งบุคลากรที่เข้ามาทำงานใหม่ โดยการจัดกิจกรรมละลายพฤติกรรม สานสัมพันธ์ และกิจกรรมที่ทำร่วมกันทั้งบุคลากรและนักศึกษา อย่างต่อเนื่องเพื่อปลูกฝังวัฒนธรรมขององค์กรแห่งนี้ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างมั่นคง
เครื่องมือทางการจัดการนี้ถือเป็นเครื่องมือที่มหาวิทยาลัยใช้บริหารพฤติกรรมของทั้งบุคลากรและนักศึกษามาเป็นเวลานานจนถือได้ว่าเป็นเครื่องมือหลักตัวหนึ่งในการบริหารจัดการพฤติกรรมขององค์กรนี้

3. สมรรถนะหลัก (Core Competencies)
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาได้มีการจัดตั้งหน่วยงานหลักแห่งหนึ่งภายในองค์กรที่ชื่อว่า สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำหน้าที่ในการวิจัย และให้การบริการทางวิชาการ ที่เกี่ยวกับไม้กลายเป็นหินและซากดึกดำบรรพ์ ซึ่งหน่วยงานนี้ถือเป็นสถาบันที่วิจัยเกี่ยวกับไม้กลายเป็นหินแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นแห่งที่ 7 ของโลก โดยได้รับความร่วมมือจากประเทศญี่ปุ่น และอเมริกา
เครื่องมือทางการจัดการตัวนี้ถือว่ามีความเป็นเอกลักษณ์ ยากแก่การลอกเลียนแบบจากหน่วยงานอื่น เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนสูง เนื้อหาข้อมูลงานวิจัยที่ต้องใช้ความพยายาม รวมถึงระยะเวลาในการดำเนินงานเป็นเวลานาน อีกทั้งยังต้องอาศัยความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ
4. Customer Relationship Management : CRM
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาได้มีการลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ และทั้งหน่วยงานของรัฐและเอกชน เช่น การทำวิจัยร่วมกัน การรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงาน การต่อต้านยาเสพติดในสถานศึกษา การส่งนักศึกษาฝึกงานในสถานประกอบการที่ต้องใช้บัณฑิตของทางมหาวิทยาลัย
ในด้านการกำหนดทิศทางการปฏิบัติราชการของมหาวิทยาลัย ได้มีการให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stake holder) โดยเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียดังกล่าวร่วมแสดงความคิดเห็น และกำหนดทิศทางการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง
เครื่องมือนี้ช่วยให้มหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตได้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดีอันจะนำไปสู่ความร่วมมือทางด้านวิชาการต่างๆในอนาคต

5. E-Learning
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้มีการใช้เครื่องมือที่เข้าถึงการให้บริการความรู้ทางวิชาการแก่นักศึกษาโดยใช้ระบบการเรียนรู้ทางไกล หรือ E-Learning โดยจัดทำเป็นรายคณะ ซึ่งนักศึกษาสามารถเข้าไปใช้บริการได้ตลอดเวลาที่ http://lmsonline.nrru.ac.th/moodle/
เครื่องมือนี้ช่วยยกระดับการให้บริการของมหาวิทยาลัย ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา และสร้างองค์กรที่มีลักษณะเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่ดี

6. การจัดการความรู้ (Knowledge Management – KM)
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้มีการจัดกิจกรรม KM ขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์การทำงานของบุคลากรในแต่ละส่วนงาน เป็นประจำ ผลลัพธ์ที่ได้เป็นที่น่าพอใจเนื่องจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมแต่ละคนได้ให้ความร่วมมือในกิจกรรมนี้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีกิจกรรมที่สนุกสนานให้ผู้เข้าร่วมการประชุมร่วมเล่นตลอด และมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากบุคลากรตัวอย่าง หรือ best practice เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นถึงแนวคิดการทำงาน มุมมองที่แตกต่าง ทัศนคติที่ดีต่อการทำงานของเพื่อนร่วมงานในหน่วยงานอื่นภายในองค์กรเดียวกัน
เครื่องมือนี้ความสามัคคีในหมู่คณะ ของบุคลากรในมหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างดี เป็นประโยชน์ในการให้ความร่วมมือประสานงานกันภายในองค์กรเป็นอย่างดี

7. กรอบงบประมาณรายจ่ายล่วงหน้าระยะปานกลาง (Medium-Term Expenditure Framework-MTEF)
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้มีการจัดทำกรอบงบประมาณรายจ่ายล่วงหน้าระยะปานกลางตามระเบียบ ขั้นตอน และวิธีการจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีของสำนักงบประมาณ ซึ่งเป็นการจัดทำข้อมูลงบประมาณแบบประมาณการที่สอดคล้องกับพันธกิจ และเป้าหมายการให้บริการของหน่วยงาน ทำให้มหาวิทยาลัยมีการวางแผนล่วงหน้าในการดำเนินงานเนื่องจากการดำเนินการในโครงการต่างๆของมหาวิทยาลัยต้องสอดคล้องกับเป้าหมายที่วางไว้ และอยู่ภายใต้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดในแต่ละปีงบประมาณ
เครื่องมือนี้เปรียบเหมือนแผนที่ในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย ช่วยกำหนดขอบเขตการดำเนินโครงการต่างๆเป็นไปอย่างเหมาะสมตรงตามเป้าหมายที่วางไว้

8. การจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-procurement)
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้มีระบบการจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ตามระเบียบบริหารงานพัสดุ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทั่วไปเข้ามาดำเนินธุรกิจกับมหาวิทยาลัยได้ โดยมีหน่วยงานที่คอยตรวจสอลบการดำเนินงานดังกล่าว ได้แก่ หน่วยตรวจสอบภายในของมหาวิทยาลัย กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
เครื่องมือนี้ช่วยสร้างความโปร่งใส ในระบบการบริหารงานพัสดุของมหาวิทยาลัย และสามารถประหยัดเวลาในการดำเนินงานจัดซื้อจัดจ้างได้เป็นอย่างดี

9. การจัดจ้างจากภายนอก (Outsourcing)
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้มีการจัดจ้างหน่วยงานภายนอกมาให้บริการในงานระบบรักษา
ความปลอดภัย และงานบำรุง ดูแลรักษาความสะอาดของมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการประหยัดเวลา และงบประมาณในงานดังกล่าวของมหาวิทยาลัย ลดภาระงานของบุคลากร ช่วยให้บุคลากรนำเวลาที่เหลือจากงานดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ในงานหลักๆที่สำคัญมากกว่าและให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า
เครื่องมือนี้ช่วยให้มหาวิทยาลัยประหยัดทรัพยากรที่สำคัญที่สุดได้ถึง 2 อย่างในเวลาเดียวกัน นั่นคือ บุคคลและเวลา ทำให้การพัฒนามหาวิทยาลัยดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง

10. การวางแผนกลยุทธ์ (Strategic Management)
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้มีการจัดประชุมเพื่อกำหนดทิศทางการปฏิบัติราชการเป็นประจำทุกปี รวมถึงการจัดทำแผนปฏิบัติราชการ4ปี และแผนปฏิบัติราชการประจำปี ซึ่งรวมเอาแผนกลยุทธ์ที่จำเป็นของมหาวิทยาลัยเข้าไปด้วยและส่งให้ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงบประมาณ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ กพร. เป็นประจำทุกปีด้วย
เครื่องมือนี้ช่วยเป็นเข็มทิศนำทางให้มหาวิทยาลัยสามารถดำเนินงานได้ตรงเป้าหมายและพันธกิจที่วางไว้ อีกทั้งยังสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของกระทรวงศึกษาธิการ และแผนบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล

4. ข้อเสนอแนะต่อองค์กร
ข้อเสนอแนะในการใช้เครื่องมือทางการจัดการต่อมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
1. การนำเครื่องมือ 5ส มาใช้ในการบริหารจัดการงานเอกสารในมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมายังไม่มีการใช้เครื่องมือนี้อย่างจริงจัง และต่อเนื่องทั้งๆที่งานส่วนใหญ่ต้องใช้เอกสารต่างๆที่สำคัญเข้ามาเกี่ยวข้อง และต้องนำมาเอกสารเหล่านั้นมาเป็นหลักฐานการในการตรวจสอบผลการปฏิบัติงานแก่หน่วยงานที่กำกับดูแลในด้านต่างๆของมหาวิทยาลัย ดังนั้นจึงพบปัญทางด้านเอกสารหลักฐานไม่ครบ ข้อมูลขาดหายเวลาจะใช้งาน เป็นต้น
ดังนั้นทางมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาจึงควรมีการนำเครื่องมือ 5ส มาใช้อย่างจริงจัง และทำอย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กร
2. การวัดเปรียบเทียบสมรรถนะ (Benchmarking)
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาไม่ควรเปรียบเทียบตนเองกับหมาวิทยาลัยที่ดังๆเป็นอันดับต้นๆของโลก แล้วพยายามเพียงเพื่อให้ได้คะแนนการประเมินตามเกณฑ์การประเมินของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากภายนอก เช่น จำนวนอาจารย์ที่มีตำแหน่งทางวิชาการมากจนเกินไป เป็นต้น แต่ควรมองไปที่พันธกิจ เป้าหมายหลักขององค์กร หรือจุดยืนขององค์กร เช่นเน้นการบริการวิชาการ และงานวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เป็นต้น

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ชื่อ.........นามสกุล..........
รหัส .........-....
กลุ่มแผนการเรียนแบบ แผน ....


วิธีทำก็คือทำตามหัวข้อที่อาจารย์กำหนดทีละหัวข้อ ส่วนเครื่องมือที่ใช้ในการจัดการของแต่ละองค์กรจะมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับขนาด และลักษณะขององค์กรนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง เช่นธุรกิจของเอกชนขนาดใหญ่ มีพนักงานเยอะ ค้ายขายกับทั้งภายในและต่างประเทศ เครื่องมือที่ใช้ในการจัดการองค์กรของเค้าก็น่าจะมีหลายตัวจริงมั้ยครับ
สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องดูที่เป้าหมายที่องค์นั้นๆตั้งไว้ครับแล้วดูว่าเครื่องมือที่องค์กรนั้นๆใช้สามารถทำให้เค้าบรรลุ หรือเข้าใกล้เป้าหมายดังกล่าวมั้ยนั่นเองครับ
ส่วนของผมที่เป็นสถาบันการศึกษา มีทั้งเครื่องมือที่เป็นข้อบังคับของหน่วยงานที่กำกับดูแลการดำเนินงานขององค์กร เช่น กพ. สงป. เป็นต้น แถมยังมีการจัดการเรียนการสอนหลายด้านดังนั้นบุคลากรภายในองค์กรของหน่วยงานต่างๆ ก็ย่อมต้องมีการนำเครื่องมือมาใช้ที่หลากหลายกันภายในมหาวิทยาลัย
ดังนั้นเครื่องมือทางการจัดการไม่จำเป็นต้องมีอยู่ในเฉพาะแต่ไฟล์ที่อาจารย์สอนเท่านั้นนะครับ อาจแตกต่าง มีมากกว่า หรือน้อยกว่านั้นก็ได้ครับ ขึ้นอยู่กับองค์กรที่พี่น้องเลือกมาวิเคราะห์ครับ แล้วพบกันครับ

วันจันทร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

5 ขั้นแห่งความสำเร็จในการดำเินินธุรกิจในเศรษฐกิจใหม่

ห้าขั้นตอนแห่งความสำเร็จในการดำเินินธุรกิจในเศรษฐกิจใหม่


ภาวะถดถอยของธุรกิจโลกในปัจจุบัน ไม่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะระบบเศรษฐกิจใหม่กลายเป็นส่วนสำคัญในธุรกิจ
ทั่วโลก ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

หากท่านต้องการให้ธุรกิจที่ดำเนินอยู่เจริญเติบโตในโลกแห่งเศรษฐกิจใหม่เช่นนี้ เราขอเสนอห้าขั้นตอนง่าย ๆ สู่ความสำเร็จ
เดินหน้าเข้าหาลูกค้า
ความสำเร็จได้แก่การออกไปหาลูกค้าถึงที่ ไม่ใช่เพียงแต่อาศัยการเดินทางเท่านั้น แต่ยังทำได้โดยการเสนอบริการผ่านอินเทอร์เน็ตอีกด้วย ข้อดีประการหนึ่งของระบบเศรษฐกิจใหม่ก็คือ สามารถเข้าถึงตลาดที่ใหญ่ขึ้นและฐานลูกค้าที่กว้างขึ้น
พัฒนาประสิทธิภาพ
หากต้องการประสบความสำเร็จในระบบเศรษฐกิจใหม่ ท่านต้องสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายและใช้ต้นทุนอย่างคุ้มค่าที่สุด มีการแข่งขันกันมากขึ้น ท่านจึงต้องเรียนรู้ว่าทำอย่างไรธุรกิจจึงจะอยู่รอดได้ ด้วยการบริหารเงินสด และการลงทุน
ใฝ่หาเทคโนโลยี
หากท่านต้องการล้ำหน้าคู่แข่ง ก็ต้องลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ และพัฒนาการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
ก้าวให้ทันตลาด
ไม่ต้องตกใจ หากกระแสความนิยมในตลาดเปลี่ยนไป เพียงแต่ต้องก้าวให้ทันด้วยการศึกษาทิศทางใหม่ ๆ การคาดการณ์เกี่ยวกับตลาดและแนวโน้มอุตสาหกรรม
สร้างวัฒนธรรมทางธุรกิจ
วิธีที่ดีที่สุดคือการศึกษาสภาพการแข่งขัน พัฒนาทักษะในการประกอบธุรกิจ และหาเครือข่ายสนับสนุน

ที่มา : สำนักธุรกิจ ธนาคารกรุงเทพ http://www.bangkokbank.com/Bangkok+Bank+Thai/Business+Banking/SMEs/Business+Centers/default.htm

เงินทุนสนับสนุนSME's

เงินทุนสนับสนุนSME's
สวัสดีครับทุกท่าน ธุรกิจSME's หรือ Small Median Enterprices ถือว่ามีบทบาทที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศเรา หลายคนมีแนวคิดดีๆเกี่ยวกับการริเริ่มธุรกิจของตนเอง แต่ก็เจอปัญหาใหญ่ที่สำคัญมากๆคือ เรื่องของเงินทุน จริงอยู่การเริ่มต้นธุรกิจSME's บางธุรกิจอาจไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนมากมายอะไรนัก แต่หากผู้ประกอบการคนใดต้องการสร้างธุรกิจให้เติบโตและมั่นคงเพื่อให้สามารถสู้กับการแข่งขันของธุรกิจในปัจจุบันได้ล่ะก็ ผมคิดว่าผู้ประกอบการท่านนั้นๆคงต้องมานั่งคิดพิจารณาอย่างจริงจังในเรื่องของเงินทุน ที่สอดคล้องกับลักษณะและขนาดของธุรกิจของตนเอง หรือพูดอีกนัยนึงคือต้องมีสายป่านทางการเงินยาวพอสมควรที่จะสามารก้าวผ่านวงจรชีวิตของธุรกิจในช่วงแรกเริ่ม ซึ่งเป็นช่วงที่ยากที่สุดได้นั่นเอง
จากการที่เล็งเห็นปัญหาด้านเงินทุนของผู้ประกอบการธุรกิจSME's ทั้งรายเก่าและรายใหม่ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)จึงมีโครงการสนับสนุนเงินทุนดังกล่าว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ SMEs ผ่านการดำเนินโครงการเงินทุนสนับสนุนการประกอบธุรกิจของ SMEs ไทย หรือ Capacity Building Fund จะเป็นยังไงนั้นเราลองมาดูกันครับ
โดยหลักแล้ว โครงการนี้มุ่งที่จะเสริมสร้างผู้ประกอบการ SMEs ให้มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ ให้สมกับบทบาทของธุรกิจ SMEs ที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้การแข่งขันอย่างรุนแรงในตลาดของโลกยุคโลกาภิวัตน์ สภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในที่มีความ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา และเข้ามามีอิทธิพลต่อการประกอบธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โครงการ นี้จึงเป็นส่วนสนับสนุนการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวให้ ธุรกิจ SMEs สามารถอยู่รอดได้สำหรับวัตถุประสงค์อื่นๆ นอกเหนือจากการเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการ SMEs แล้วนั้น โครงการนี้ยังส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการ ในแง่ของการเสริมความแข็งแกร่งด้านการบริหารจัดการ การขยายตลาด และกระบวนการรักษาสิทธิ์ที่พึงได้รับจากทรัพย์สินทางปัญญาของ SMEs ผ่านการดำเนินการของระบบสนับสนุนด้วยเงินอุดหนุนแบบให้เปล่า (Grant) ที่ไม่ต้องชำระคืนสูงสุดถึง 500,000 บาทต่อราย

ระบบสนับสนุนที่ว่านี้ ประกอบด้วย ระบบสนับสนุนบริการที่ปรึกษา SMEs (Consultancy Fund) ระบบสนับสนุน SMEs เพื่อการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ (Internationalization Fund) และระบบสนับสนุน SMEs ด้านทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Fund)

ระบบสนับสนุนทั้ง 3 นี้จะมีลักษณะในการสนับสนุนที่แตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ของระบบ โดยระบบสนับสนุนบริการที่ปรึกษา SMEs หรือ Consultancy Fund จะเป็นเงินสนับสนุนในการจ้างที่ปรึกษาให้กับ SMEs เพื่อพัฒนาระบบธุรกิจและการพัฒนาต่อยอด
ธุรกิจสินค้าหรือบริการ สูงสุดไม่เกิน 250,000 บาท ซึ่ง SMEs กลุ่มเป้าหมายหลักของระบบนี้ คือ SMEs ที่ประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ เช่น มีปัญหาในด้านการบริหารจัดการ การตลาด การบัญชี การเงิน การลงทุน งานบุคคล การออกแบบผลิตภัณฑ์ ลอจิสติกส์ หรือด้านอื่นๆ และอีกกลุ่มหนึ่งคือ SMEs ที่ต้องการต่อยอดธุรกิจ เช่น การขยายตลาด การพัฒนาสินค้าหรือบริการ

ส่วน ระบบที่สองคือ ระบบสนับสนุน SMEs เพื่อการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ (Internationalization Fund) เป็นระบบสนับสนุนที่จะให้เงินอุดหนุนกับ SMEs ที่ต้องการขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศสูงสุดไม่เกิน 250,000 บาทต่อราย โดยกลุ่มเป้าหมายของการสนับสนุนจะเป็น SMEs ที่ต้องการศึกษาและพัฒนาตลาดต่างประเทศ (Market Survey) หรือ SMEs ที่ต้องการประกอบธุรกิจการค้าหรือบริการส่งออกสู่ต่างประเทศ รวมถึง SMEs ที่ต้องการเข้าร่วมการจับคู่การค้า (Business Matching) กับพันธมิตร
ต่างประเทศ และ SMEs ที่ต้องการศึกษาและพัฒนาตลาดต่างประเทศ

ระบบ สุดท้าย คือ ระบบสนับสนุน SMEs ด้านทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Fund) เป็นระบบสนับสนุนที่จะให้เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายแก่ SMEs ในการนำผลงานไปจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ การขออนุญาตใช้สิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา หรือใช้เป็นเงินสนับสนุนการซื้อทรัพย์สินทางปัญญาจากเจ้าของผลงานภายใน ประเทศ สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย โดยกลุ่มเป้าหมายของการสนับสนุนจะเป็น SMEs ที่ต้องการนำผลงานไปจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาทั้งภายในประเทศและต่าง ประเทศ หรือกลุ่ม SMEs ที่ต้องการขออนุญาตใช้สิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศ และกลุ่ม SMEs ที่ต้องการซื้อทรัพย์สินทางปัญญาจากเจ้าของผลงานภายในประเทศ

สิทธิ ประโยชน์ที่ผู้เข้าร่วมโครงการเงินทุนสนับสนุนการประกอบธุรกิจของ SMEs ไทย หรือ Capacity Building Fund คือ ผู้ได้รับเงินอุดหนุนดังกล่าวจะเป็นเงินแบบให้เปล่า (Grant) ที่ไม่ต้องชำระคืน และสัดส่วนของการสนับสนุนสูงสุดที่ 50% ของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย นอกจากนี้ ยังรวมถึงสิทธิประโยชน์จากการบริการอื่นๆ จากหน่วยงานภาครัฐที่ร่วมดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการส่งออก กรมทรัพย์สินทางปัญญา สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) สถาบันการเงิน ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ และศูนย์บริการ SMEs ในเครือข่ายของ สสว. ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค

คุณสมบัติเบื้องต้นในการขอรับการสนับสนุน จากระบบเหล่านี้ คือ ผู้ประกอบการที่ได้สมาชิกไว้กับ สสว. และเป็นนิติบุคคล สัญชาติไทย ที่ดำเนินธุรกิจมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ตามบทบัญญัติของกฎกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงเป็นผู้ดำเนินธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมภายใต้กรอบของแผนการส่งเสริม วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2550-2554)

หากท่านผู้ อ่านสนใจต้องการทราบเงื่อนไข หรือประสงค์จะเข้าร่วมรับการสนับสนุนจากโครงการนี้ สามารถขอทราบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานส่งเสริมวิสหากิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เลขที่ 21 อาคาร ทีเอสที ทาวเวอร์ ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร หรือที่เว็บไซต์ www.sme.go.th และ โทร. 0-2278-8800 ต่อ 400 หรือที่ สสว. Call Center 0-2686-9111

ข้อมูลส่วนหนึ่งมาจาก "บิสิเนสไทย" โดยคุณ จิตราภรณ์ เตชาชาญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
ข้อมูลเพิ่มเติม www.sme.go.th ,http://www.businessthai.co.th

วันจันทร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ทฤษฎีสองสูง ของเจ้าสัวซีพี

หลายท่านคงเคยได้ยินแนวคิดเกี่ยวกับการเพิ่มรายได้ของเกษตรกร และการเพิ่มรายได้ของประชาชนและข้าราชการ ที่เรียกว่า ทฤษฎีสองสูง ของคุณธนินท์ เจียรวนนท์กันมาบ้าง แต่สำหรับคนที่ยังไม่รู้จักวันนี้ผมนำบทความหนึ่ีงที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีนี้มาให้ลองอ่านกันดูครับ

"ทฤษฎีสองสูง" ในทางเศรษฐศาสตร์ : "นโยบายราคา และรายได้" (PRICE & INCOME POLICY)
ที่มา : ดร.พิสิฏฐ ภัคเกษม อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 03 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ( มติชนรายวัน วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11049 เหมือนกัน )

แนวคิด "ทฤษฎีสองสูง" ที่ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวไว้คือ สูงแรก : เน้นว่า "ราคาสินค้าเกษตรจะต้องสูง" เพราะเหตุผลที่ว่าราคาสินค้าเกษตรจะเป็นแรงขับเคลื่อนตัวสำคัญ ต่ออุปสงค์/อุปทาน หรือ DEMAND/SUPPLY ของสินค้าเกษตร โดยการอาศัย "กลไกตลาด" เป็นหลัก แต่ที่ผ่านมา กล่าวได้ว่า ราคาสินค้าเกษตรในประเทศต่างๆ ไม่ได้เป็นไปตามหลักดังกล่าว แต่ราคาถูกกระทบและบิดเบือน ด้วยสาเหตุ 4 ประการ ดังนี้

ประการแรก "การที่ DEMAND สูง แต่ SUPPLY สินค้าเกษตรผลิตไม่ทันหรือไม่เพียงพอ" โดยเฉพาะในซีกโลกตะวันออก ได้แก่ จีน อินเดีย และอาเซียน ซึ่งมีประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก มีเศรษฐกิจและรายได้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีการบริโภคอาหารเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ประเทศกลุ่มนี้กลายเป็นประเทศที่นำอาหารและสินค้าเกษตรเข้าสุทธิ และทำให้ราคาสูงขึ้นทั่วโลก

เช่นเดียวกับปริมาณการผลิตน้ำมันในตลาดโลกมีเพียง 80 ล้านบาร์เรล/วัน แต่มีความต้องการใช้มากถึง 83 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้น้ำมันในตลาดโลกมีราคาสูงขึ้น และอาจจะถึง $200 ต่อบาร์เรลอีกในไม่ช้า หรือกล่าวโดยสรุปได้ว่า โลกจะไม่มี "ยุคอาหารและน้ำมันถูกอีกต่อไป"

ในการนี้ทำให้รัฐบาลหลายประเทศดำเนิน "นโยบายเข้ามาแทรกแซงและบิดเบือนกลไกตลาด" ทำให้ราคาสินค้าเกษตรไม่เป็นไปตามกลไกตลาด จึงมีปัญหาขึ้นในปัจจุบัน อาทิเช่น การขายข้าว "ราคาถูก" หรือ "กดราคาพลังงานให้ถูก" ซึ่งจะกลายเป็น "ระเบิดเวลา" ทำให้เกิดปัญหาตามมามากยิ่งขึ้นในอนาคต

ประการที่ 2 "การเก็งกำไรในตลาดโภคภัณฑ์ ของกองทุน HEDGE FUND" ก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกประการ ที่ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรและราคาน้ำมันสูงขึ้นไม่ต่ำกว่า 30% ทั้งนี้ เพราะว่า กองทุน HEDGE FUND เหล่านี้ ได้เปลี่ยนจากการเก็งกำไรใน "ตลาดหุ้นและตลาดเงินตรา" มาเก็งกำไรในตลาดโภคภัณฑ์มากขึ้นในปัจจุบัน เพราะเล็งเห็นว่าอนาคตของสินค้าเกษตรมีแนวโน้มราคาที่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะข้าวมีราคาแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะการเก็งกำไรของกองทุนซื้ออนาคตเหล่านี้ ได้สร้างความบิดเบือนราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ประการที่ 3 "การที่นโยบายของรัฐเข้าแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร" โดยรัฐบาลในหลายๆ ประเทศทั้งในประเทศที่กำลังพัฒนา และประเทศที่ร่ำรวยต่างก็ดำเนินนโยบายอุดหนุน (SUBSIDIES) และแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรในรูปแบบต่างๆ ขึ้น จึงทำให้เกิดการบิดเบือนราคา และสร้างความวุ่นวายให้กับกลไกตลาด โดยพยายามจะกดดันให้ราคาสินค้าถูกไว้

ตัวอย่างเช่น ในประเทศฟิลิปปินส์ แต่เดิมสามารถส่งออกข้าวออกไปต่างประเทศ แต่เนื่องจากรัฐบาลได้เข้ามาแทรกแซงราคาข้าว ทำให้ข้าวในประเทศมีราคาถูก ส่งผลให้ชาวนาเลิกปลูกข้าว จนทำให้ฟิลิปปินส์กลายเป็นประเทศที่นำเข้าข้าวอันดับ 1 ของโลก คือประมาณ 2 ล้านตันต่อปี

ทั้งนี้ นายโรเบิร์ต เซลลิก (ROBERT B. ZOELLICK) ประธานธนาคารโลก เป็นอีกคนหนึ่ง ที่กล่าวว่า รัฐบาลในหลายๆ ประเทศ "ไม่ควรใช้มาตรการควบคุมราคาสินค้าเกษตรและอาหาร" เพราะนั่นหมายถึง "การฝ่าฝืนกลไกตลาด ซึ่งจะทำให้เกิดการบิดเบือนราคาไปเป็นอย่างมาก จึงเกิดการขาดแคลนขึ้น"

ประการสุดท้าย ผลกระทบจาก "ภาวะโลกร้อน (GLOBAL WARMING)" ในปัจจุบันส่งผลให้ภูมิอากาศทั่วโลกแปรปรวน (CLIMATE CHANGE) กระทบต่อผลิตผลด้านเกษตรกรรม โดยเฉพาะการผลิตอาหารลดน้อยลง และไม่เพียงพอต่อความต้องการในตลาดโลก จึงส่งผลให้พืชเกษตรและอาหารมีราคาเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ดังนั้น สูงที่ 1 คือ "ราคาสินค้าเกษตรสูง" คือ การปล่อยให้ราคาสินค้าเกษตร เป็นไปตาม DEMAND & SUPPLY และกลไกตลาด รัฐไม่ควรเข้าไปแทรกแซงหรือควบคุมราคา ทำให้เกิดการบิดเบือนและไม่ได้ผล

สูงที่ 2 คือ "รายได้หรือค่าจ้างของประชาชนจะต้องสูง" ให้สัมพันธ์กับราคาสินค้าเกษตรและอาหารที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ตามแนวคิด "ทฤษฎีสองสูง" จะมุ่งเน้นรายได้ประชาชน 2 กลุ่มใหญ่ คือ 1) เกษตรกรในชนบท ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ จะต้องทำให้มีรายได้สูงขึ้น 2) รายได้ ข้าราชการ และผู้ใช้แรงงานในเมือง ก็จะต้องสูงขึ้นเช่นกัน

การเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรใน "ชนบท" นั้น หากปล่อยให้ราคาสินค้าเกษตรเป็นไปตามกลไกตลาดนั้น รายได้ของเกษตรกรก็จะเพิ่มขึ้น จะมีกำลังซื้อมากขึ้น มีการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจส่วนรวมของไทยขับเคลื่อนได้ดียิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน ภาครัฐจะต้องมีนโยบายและมาตรการในการส่งเสริมด้าน "การยกระดับภาคเกษตรให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น" รัฐควรให้ความสำคัญกับการทำ "เกษตรแบบดั้งเดิม" คือ เกษตรกรรายย่อย โดยการเข้าไปลงทุน พัฒนาบริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็น สำหรับการเกษตร อาทิเช่น ขยายระบบชลประทาน ให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยี และจัดระบบโลจิสติกส์ เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ลดความเสี่ยง และเพิ่มอำนาจต่อรองให้เกษตรกร ให้ได้ราคาที่เป็นธรรม เพื่อให้ "เกษตรแบบดั้งเดิม" ได้พัฒนาควบคู่กับ "การเกษตรแบบก้าวหน้า" ที่ภาคเอกชนดำเนินการได้ดีอยู่แล้ว ก็จะส่งผลให้ภาคการเกษตรของประเทศไทยเข้มแข็ง และมีฐานะรายได้ดีขึ้น

ในส่วนการเพิ่มรายได้ให้กับคน "ในเมือง" หมายถึง รายได้ของผู้ใช้แรงงาน และข้าราชการที่มีรายได้ต่ำมาก และไม่สัมพันธ์กับภาระด้านรายจ่ายตามค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น จากการที่ราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้น จึงควรเน้นพิจารณา "ปรับรายได้" ให้ "สัมพันธ์" กับ "ราคา" ที่สูงขึ้น เพื่อให้ประชาชนกลุ่มนี้สามารถอยู่ได้ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ขณะเดียวกัน ประชาชนในช่วงนี้ก็จำเป็นจะต้องปรับวิถีชีวิตโดยเฉพาะ ในเรื่องการใช้จ่ายให้สอดคล้องกับรายได้และค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยยึดระบบเศรษฐกิจแบบ "พอเพียง" มาใช้

นอกจากนี้ ถ้าเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศมีรายได้สูงขึ้น ก็จะมีพลังการจับจ่ายใช้สอยเป็นตัวขับเคลื่อน ทำให้เศรษฐกิจส่วนรวมของประเทศเราได้มี "การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน" ต่อไป

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า "ทฤษฎีสองสูง" เป็น "กฎเหล็ก" ทางเศรษฐศาสตร์ที่สามารถนำมาปฏิบัติได้หรือใช้ได้จริง ซึ่งจะกลายเป็นโอกาสของประเทศไทย ที่จะนำแนวคิดทฤษฎีสองสูงมาใช้ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคที่ราคาสินค้าเกษตร มีแนวโน้มราคาสูง เพราะไทยเราเป็นประเทศเกษตรกรรม คนส่วนใหญ่ของประเทศก็มีอาชีพเป็นเกษตรกร รัฐควรให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรมากขึ้นกว่าปัจจุบัน เพื่อให้ประเทศไทย จะได้รักษาฐานะเป็น "อู่ข้าว" หรือ "ผู้ผลิตอาหารที่สำคัญของโลก" ต่อไป เพื่อนำความมั่งคั่งมาสู่ประเทศไทยอย่างยั่งยืน

Link ของบทความนี้ http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2008q2/2008june03p2.htm

ฮ่าๆ ฮือๆ เกรดออกครบแล้ว

ฮ่าๆ ฮือๆ เกรดออกครบแล้ว

สวัสดีครับ พี่น้องชาวMBE#8 ทุกท่าน ในที่สุดเกรดคะแนนที่พวกเรารอคอย(บางคนลอยคอ เพราะรู้ครบแล้วก่อนหน้านี้) ก็ออกครบหมดทุกวิชาให้พวกเราได้ชื่นชมกับผลงานที่ผ่านมาของตัวเองในเทอมแรก
ผมเริ่มต้นขึ้นมาด้วยคำว่า " ฮ่าๆ ฮือๆ เกรดออกครบแล้ว " ฟังดูแล้วเหมือนคนบ้ายังไงไม่รู้เนอะ แต่ที่จริงแล้วมันมีความหมายสองอย่างสองอารมณ์รวมอยู่ในนี้ครับ
คำแรกคือ "ฮ่าๆ" นี่แสดงความดีใจสำหรับพี่น้องที่ได้ผลคะแนนหรือเกรดของทั้งสองวิชา คือ การลงทุนทางการเงิน กับ การวิเคราะห์เชิงปริมาณทางเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ ออกมาเป็นที่น่าพอใจ หรือดีเกินคาด แล้วแต่ว่าใครจะได้เกรดอะไรบ้าง
คำที่สองคือ "ฮือๆ" แสดงความเสียใจกับพี่น้องท่านใดที่เกรดออกมาไม่ได้ดังหวังนะครับ ส่วนใหญ่ก็ได้ B บ้าง แต่ที่น่าเห็นใจ และควรให้กำลังใจคือ คนที่ได้คะแนนน้อยกว่า B ซึ่งก็ไม่ต้องเสียใจจนเกินไปครับ ท่องไว้ครับ "สอบได้เป็นเรื่องตลก สอบตกเป็นเรื่องธรรมดา" คิดซะว่าได้เรียนมากกว่าคนอื่นก็ย่อมต้องเก่งกว่าคนอื่นแน่นอน แต่ที่แน่นอนกว่านั้นคือตอนนี้สิ่งที่ต้องมอง และทำให้ดีกว่าเดิม คือ เทอมสองที่เรากำลังเรียนกันอยู่นี้ครับ เพราะฉะนั้นทำวันนี้ให้ดีที่สุดดีกว่าครับ
สำหรับผมเองต้องบอกว่าพอใจแล้วล่ะ หรือไม่ตกก็บุญแล้วว่ะ ฮะๆ แต่ผมมีความคิดอย่างนึงนะว่า ฮึ่ม ใครที่ได้คะแนนเยอะสุด2-3คนในคลาสเราต้องได้รับผลกรรมที่ทำไว้ โดยการเลี้ยงฉลองให้กับพวกเราซะ 555 โทษฐานได้คะแนนเยอะกว่าเพื่อน เห็นด้วยมั้ยครับพี่น้องชาวMBE#8 ทุกท่าน