วันพุธที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2551

10 อันดับ สายการบินที่ดีที่สุดในโลก ปี 2008

การจัดอันดับสายการบินที่ดีที่สุดในโลก ปี 2008

อันดับ 1 สายการบิน Singapore Airlines (สิงค์โปรแอร์ลาย) จากอันดับที่ 1 เมื่อปี 2007

อันดับ 2 สายการบิน Cathay Pacific (คาร์เธ่ย์ แปซิฟิก) จากอันดับที่ 3 เมื่อปี 2007

อันดับ 3 สายการบิน Qantas (แควนตัส แอร์ลาย) จากอันดับที่ 5 เมื่อปี 2007

อันดับ 4 สายการบิน Thai Airways (การบินไทย) จากอันดับที่ 2 เมื่อปี 2007

อันดับ 5 สายการบิน Asiana Airlines (เอเซียน่า แอร์ลาย) จากอันดับที่ 12 เมื่อปี 2007

อันดับ 6 สายการบิน Malaysia Airlines (มาเลเซีย แอร์ลาย) จากอันดับที่ 6 เมื่อปี 2007

อันดับ 7 สายการบิน Qatar Airways (การ์ตา แอร์ลาย) จากอันดับที่ 4 เมื่อปี 2007

อันดับ 8 สายการบิน Air New Zealand (แอร์ นิวซีแลนทร์) จากอันดับที่ 7 เมื่อปี 2007

อันดับ 9 สายการบิน Emirates (เอมิเรทต์ แอร์)จากอันดับที่ 9 เมื่อปี 2007

อันดับ 10 สายการบิน Etihad Airways (อิทิแฮส แอร์เวย์) จากอันดับที่ 23 เมื่อปี 2007


ที่มา : http://blog.eduzones.com/rangsit/10601

วันอังคารที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ใครเห็นด้วยยกมือขึ้น

สวัสดีครับพี่น้อง MBE#8 ทุกท่าน
ใกล้เวลาที่จะเปิดเทอมกันแล้วนะครับ ก็คือวันที่ 1 ต.ค. 51 นั่นเอง ใครที่ยังไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหน(เหมือนผม ฮือๆ)ก็รีบๆเที่ยวนะครับ เติมพลังให้พร้อมก่อนเปิดเทอมไงครับ แต่สำหรับพี่น้องท่านใดที่พักผ่อนจนเต็มที่แล้ว ก็ขอให้เตรียมตัวสำหรับเทอมใหม่ด้วยนะครับ
การลงทะเบียนทั้งสองครั้งที่ผ่านมา คือเทอม 1/51 และ เทอม 2/51 ทำให้ผมรู้สึกว่าพวกเราไม่ได้ลงเรียนในวิชาเลือกเสรีตามที่เราต้องการ หรืออยากจะเรียนจริงๆ !!
มันก็จริงอยู่ที่ทางคณะเค้าอาจจะมีเหตุผลของเค้า เช่น ในเรื่องอาจารย์ผู้สอน ความรู้ความถนัดของอาจารย์แต่ละท่าน แต่เราต้องไม่ลืืมว่าเรามีเวลาเรียนตามเกณฑ์ปกติแค่2ปีเท่านั้น ! แล้วนี่ก็ผ่านการลงทะเบียนมาสองเทอมแล้วด้วย แถมเรายังมีทั้งกลุ่มแผนการเรียนแบบ แผน ก. และแผน ข. อีกต่างหาก ซึ่งแปลว่า เพื่อนเราที่ลงแผนการเรียนแบบ แผน ก.(รวมทั้งผมเอง) ก็ถือว่าลงทะเบียนวิชาเลือกเสรีตามเกณฑ์ของหลักสูตรครบแล้ว(ตั้งแต่เทอมแรกด้วยซ้ำ) ก็แปลว่าจะลงหรือไม่ลงวิชาเลือกเสรีที่เหลือ หรือที่เพื่อนๆแผน ข.ต้องลงทะเบียนตามปกติหรือไม่ก็ได้ (เนื่องจากระบบการลงทะเบียนเป็นแบบเหมาจ่าย คือ ไม่ลงฯก็สามารถไปนั่งเรียนกับเพื่อนได้)
ในความเห็นของผม ผมคิดว่าเพื่อนๆทุกคนคงมีวิชาที่อยากจะเรียนแตกต่างกันออกไปตามความชอบ และความถนัดของแต่ละคน
ซึ่งตามโครงสร้างของหลักสูตรนะครับ เรามีวิชาบังคับอยู่ทั้งหมด 6 วิชาด้วยกัน คือ
- วิธีการเชิงปริมาณทางเศรษฐศาสตรธุรกิจ
- ระเบียบวิธีวิจัยและการพยากรณทางเศรษฐศาสตรและธุรกิจ
- เศรษฐศาสตรเพื่อการจัดการ
- เศรษฐศาสตรจุลภาค
- เศรษฐศาสตรมหภาค
- บัญชีการเงินและการบริหาร
ซึ่งเราลงทะเบียนเรียนไปแล้ว 4 วิชา เหลือ 2
ส่วนวิชาเลือกเสรีตามโครงสร้างหลักสูตรเรา มีถึง 11 วิชาด้วยกัน (โอ้โฮ! เยอะมากเลย) ไม่พิมพ์ดีกว่า (อิอิ) แต่ที่แน่ๆคือ บังคับให้ลงแบบนี้ครับ แผน ก. 6 หน่วยกิจ = 2 วิชา แผน ข. 15 หน่วยกิจ = 5 วิชา แต่เราลงไปแล้วครับ 4 วิชา (รวมสองเทอม) แปลว่า เฮ้ย !! เหลืออีกแค่วิชาเดียวนี่หว่า ไม่นับวิทยานิพนธ์และการศึกษาอิสระ ดังนั้นแสดงว่าเราจ่ายค่าเทอมๆละตั้ง สามหมื่นกว่าบาท นี่ ทำไมวิชาที่เราอยากเรียน ทิศทางที่้ราอยากไปตั้งแต่ก่อนมาเรียน มันดูปนๆรวมๆ จับฉ่ายไงไม่รู้นะ! คำถามคือ ถ้างั้นทำไงดีฟะเราจึงจะได้เรียนวิชาที่เราอยากเรียนหรือสนใจจริงๆ ?.?
คำตอบสำหรับคำถามนี้ ผมว่าไม่มีใครสามารถตอบได้คนเดียวครับ ต้องอาศัยความคิดเห็นของพี่น้องMBE#8 ทุกท่าน เนื่องจากแต่ละคนก็คงมีความชอบ ความสนใจ หรือวิชาที่อยากเรียนแตกต่างกันไป ดังนั้นทางออกที่ดี เช่น ให้พวกเราแต่ละคนกำหนดวิชาเลือกเสรีที่ตัวเองอยากเรียนจริงๆ(ตามโครงสร้างหลักสูตร) แล้วเอามาโหวตกันในห้องในวัน เสาร์ หรือวันอาทิตย์ หรือก่อนวันสุดท้ายในการขอเปิดรายวิชาเรียน ซึ่งคือวันอังคารที่ 4 พ.ย.51 (ตามปฏิทินการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ประจำปีการศึกษา 2551)
สิ่งที่ผมเขียนนี้เพราะผมรู้สึกว่าการมาเรียนในระดับปริญญาโทของทั้งผม และพี่น้องใน Class เราทุกคน มันยังไม่คุ้มค่ากับเงินที่พวกเราลงทุนไปเพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามที่วางแผนไว้ก่อนตัดสินใจมาเีรียน และสิ่งที่ผมเขียนนี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวครับ ถ้าผิดพลาดประการใดผมยินดีรับไว้คนเดียวครับ ส่วนพี่น้องท่านใดที่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วยอย่างไร หรือมีข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์กับ Class เรา ก็เชิญแสดงความคิดเห็นได้เต็มเลยที่ครับ

สามารถแสดงความคิดเห็นได้ข้างล่างบทความ หรือเมล์มาบอกผมได้ที่
manaw15@hotmail.com
manaw242@gmail.com

วันเสาร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ลดราคาข้างแกง มีผล 1 พ.ย.51

วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2551 เวลา 17:52 น. ข่าวสดออนไลน์


พาณิชย์สั่งหั่นราคาข้าวแกง5บ. มีผล 1 พ.ย.

นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังจากการประชุมร่วมกับห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ตลาดสด และร้านธงฟ้า ว่าได้ขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการในการลดราคาอาหารสำเร็จรูปซึ่งเป็นอาหาร จานเดียวลงเฉลี่ยจานละ 5 บาท โดยให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นี้ เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการปรุงอาหารลดลงตามไปด้วย เช่น ราคาน้ำมันพืชขณะนี้ลดลงไปแล้ว 20% ไข่ไก่ 20% ข้าวสาร 10% ขณะที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงไป 50%
ทั้งนี้ ห้างค้าปลีกสมัยใหม่หรือโมเดิร์นเทรดขายอาหารจานเดียวอยู่ที่ราคา 25-40 บาท เช่น คาร์ฟูร์ ขายอยู่ที่จานละ 25 บาท ซึ่งถือเป็นราคาขั้นต่ำอยู่แล้ว เช่นเดียวกับแมคโคร ซึ่งมีเมนูหลักขายที่จานละ 25 บาท แต่จะดูว่าจะปรับลดราคาอาหารอื่นๆ ให้ลงมาในราคาขั้นต่ำที่ 25 บาทได้อีกหรือไม่ ส่วนบิ๊กซี ขายอยู่ที่ 25-30 บาท ก็จะไปพิจารณาถึงอาหารบางรายการจะให้ปรับลดลงเหลือ 25 บาท
สำหรับ ตลาดอตก. ปัจจุบันขายอาหารจานเดียวในราคาที่ 20-25 บาท ตลาดยิ่งเจริญขาย 25 บาท ซึ่งยืนที่ราคานี้มานานถึง 10 ปีแล้ว แต่ก็จะมีการจัดโปรโมชั่นเพิ่มเติมแทน ตลาดบางขุนศรี ขายอยู่ระหว่าง 20-25 บาท ส่วนตลาดอ่อนนุชจะมีราคาถูกเป็นพิเศษที่จานละ 15-20 บาท ตลาดวัฒนานนท์ ขาย 20-25 บาท ก็จะพิจารณาหาทางลดราคาลงมาเช่นกัน และตลาดแฮปปี้แลนด์ ขายอยู่ที่ 15-25 บาท
นายยรรยง กล่าวถึงร้านอาหารมิตรธงฟ้าด้วยว่า ขายอาหารในราคาถูกอยู่แล้ว จึงยืนที่ราคาเดิมคือไม่เกิน 25 บาท ยกเว้นอาหารพิเศษอื่นๆ ส่วนรถเข็นธงฟ้า ตอนนี้ดูจะแผ่วๆ ลงไป จึงต้องดูว่าจะปรับรูปแบบได้อย่างไรบ้าง เพื่อช่วยเหลือร้านธงฟ้าให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนในภาวะเศรษฐกิจชะลอ ตัวต่อไป
“ราคาน้ำมันที่ลดลงมานี้ ทำให้ต้นทุนของอาหารสำเร็จรูปปรับลดลง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ประชาชนหันมาบริโภคอาหารสำเร็จรูปมากขึ้น เพราะมีต้นทุนที่ถูกกว่า จึงมีเสียงเรียกร้องให้ราคาอาหารปรุงสำเร็จลดราคาลงมาเป็นจำนวนมาก โดยตลาดล่างขณะนี้ราคาเฉลี่ยอยู่ที่จานละ 20-25 บาท ซึ่งนอกจากจะช่วยลดแรงกดดันให้ประชาชนในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ยังช่วยลดแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อได้ด้วย”นายยรรยงกล่าว
ทั้งนี้ อาหารสำเร็จรูปมีน้ำหนักอยู่ในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อที่สัดส่วน 17.17% ซึ่งสูงกว่าน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งมีน้ำหนักถ่วงดัชนีเงินเฟ้อที่ 6% หากลดราคาอาหารสำเร็จรูปลงได้ก็เชื่อว่าจะช่วยลดเงินเฟ้อได้มาก โดยถ้าลดลงมา 5 บาท หมายถึงลดลงไปราว 10-20%

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์ http://www.matichon.co.th/khaosod/view_newsonline.php?newsid=TVRJeU5EWTNNamd4TUE9PQ==

วันศุกร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ทำไมราคาทองคำจึงผันผวน

ทำไมราคาทองคำจึงผันผวน

ขอเชิญร่วมแสดงความคิดเห็นครับ

ฝากกระทู้โดย พี่ X Econ#8 ครับ

ความเร็วยิ่งแรง ไอเดียยิ่งพุ่ง

Positioning Magazine

เป็นเรื่องที่จ่อคิวเกิดขึ้นจริงๆ แน่ สำหรับเม็ดเงินโฆษณาที่จะไหลมายังสื่อดิจิตอลมากขึ้น จากอานิสงส์ของ 3G ในไทย แม้ไม่มาแบบถาโถม แต่ “กระแส” ที่เกิดขึ้นก็ทำให้นักการตลาดจับตามองอย่างใกล้ชิด

จิณณ์ เผ่าประไพ กรรมการผู้จัดการ MRM Worldwide Thailand ซึ่งเป็น Intregreted Digital Media & Relationship Management Agencyในเครือ McCANNWorldgroup แสดงทัศนะเกี่ยวกับการ 3G ที่จะส่งผลต่อรูปแบบการโฆษณาในไทย กับ POSITIONING ว่า

“ถ้า Speed มา งานครีเอทีฟก็จะกว้างขึ้น จะมีเรื่องสนุกๆ ให้ทำมากขึ้น และจินตนาการจะถูกนำมาใช้ให้เป็นจริงมากขึ้น เพราะไอเดียไม่ถูกจำกัดด้วยความเร็วของอินเทอร์เน็ตอีกต่อไป ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษา”

แต่สิ่งแรกที่จิณณ์บอกว่าจำเป็นต้องทำคือ วิธีการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายในเรื่องของการ Access อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยปัญหาหลักๆ ที่ทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตในรูปแบบดังกล่าวยังไม่แพร่หลาย คือ

1. ไม่รู้ว่าเข้าได้
2. ไม่รู้ว่าเข้าอย่างไร

ขณะที่ปัจจุบันแม้ตัวเลขของการใช้งาน GPRS จะเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังมีผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือที่มี GPRS ไม่น้อยที่ไม่เคยใช้งาน GPRS เลย

“หลายคนอาจไม่รู้ว่าอินเทอร์เน็ตติดตัวไปทุกที่ทุกเวลาอยู่แล้ว แต่ไม่เคยได้ใช้เลย”

ด้านการใช้งานของผู้ใช้ GPRS ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้งานเล็กๆ น้อยๆ เช่น ดาวน์โหลดวอลเปเปอร์ ริงโทน ผลฟุตบอล และเช็กรอบหนัง เป็นต้น ซึ่งเขาคาดว่าหาก 3G เริ่มแสดงบทบาท ลักษณะความต้องการยังคงไม่ต่างจากเดิมมากนัก เพียงแต่เรื่องง่ายๆ เหล่านี้จะมีสีสันมากขึ้นกว่าการรับส่งข้อความ อาจเป็นทั้งข้อความพร้อมเสียงพร้อมวิดีโอ ขณะที่การเช็กรอบหนังจะมีตัวอย่างให้ชมด้วย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อว่า 3G ยังเป็นเรื่องของคนเมืองมากกว่า ขณะที่พื้นที่รอบนอกในต่างจังหวัดอาจจะสื่อสารลำบาก เพราะไม่สอดรับกับไลฟ์สไตล์

กระนั้นถึงแม้จะเป็นการสื่อสารไปยังคนเมืองก็ตาม ต้องไม่เทคนิคจ๋าจนเกินไป เพราะอาจทำให้ผู้บริโภคปฏิเสธ หรือเกิดอาการ Technophobia ได้ และสิ่งสำคัญคือคอนเทนต์ โฆษณาที่ออกไปคนจะ Engage หรือไม่ หรือแค่ดูแล้วผ่านเลยไป

“ทุกวันนี้ถ้าไม่ใช่คนในวงการไอที สื่อสารโทรคมนาคม หรือผู้บริโภคที่เป็น Early Adopter แล้ว ยังมีคนอีกมากที่ไม่รู้จักว่า 3G คืออะไร ดังนั้นการ Educate จึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกที่ต้องทำ”

จิณณ์ ย้ำอีกว่า “ต้องตอบคำถามผู้บริโภคให้ได้ สื่อสารให้เขาเข้าใจว่า ถ้าเขาใช้แล้ว เขาจะได้อะไร แต่ต้องเป็นวิธีที่แยบยล เพราะถ้าเขาไม่เข้าใจไม่รู้ว่าประโยชน์ที่เขาจะได้คืออะไร ไม่ว่าจะเป็น 3G หรือ 4G ก็คงไม่มีประโยชน์”

ขณะที่ในปีหน้า MRM เองจะมุ่งเน้นไปที่ Mobile Marketing มากขึ้น เพื่อประโยชน์ด้าน CRM ในลักษณะของ Pull strategy ไม่ใช่ Push strategy อย่างที่โอเปอเรเตอร์แทบทุกรายนิยมใช้กัน

กระนั้นก็ยังอยู่บนพื้นฐานของ SMS เหมือนเคย เพราะ SMS เป็น Non-voice ที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุด และยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตแล้วยิ่งห่างกันมาก

“เราไม่ Push เพราะจะทำให้ผู้บริโภครู้สึกรำคาญ แต่จะ Pull เพื่อให้เขาเกิดการตอบสนองเพื่อรับ Benefit มากกว่า เช่น ซื้อ 2 ชิ้น ให้ SMS มาเพื่อรับของพรีเมียมหรือเข้าร่วมงานปาร์ตี้พิเศษ เป็นต้น”

นอกจากนี้ยังรวมถึงการส่ง Coupon และ Surveys/Poll ได้อีกด้วย แต่ต้องไม่ลืมว่าต้องมี Benefit ทุกครั้งไป

โดยธรรมชาติแล้วโทรศัพท์มือถือจัดเป็น Pull Channel ที่ผู้ใช้งานจะดึงข้อมูลที่ต้องการ และเห็นว่าน่าสนใจมาใช้งาน ขณะเดียวกันก็จะปฏิเสธข้อมูลจำพวก Spam โดยทันที ดังนั้นสื่อโฆษณาที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบสนอง 3G Lifestyle จึงต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงในแง่ของพฤติกรรมผู้บริโภคดังกล่าวด้วย เพราะไม่ว่าจะสร้างสรรค์สื่อมาเพริศหรูปานใด แต่สุดท้ายหากเป็น Spam ก็มีค่าเพียงแค่การถูก Delete ทิ้งเท่านั้น

ด้านแวดวงนักการตลาดทั่วโลกโดยเฉพาะ “Savy Marketers” ต่างตื่นตัวกับการมาของ iPhone 3G เป็นอย่างมาก เพราะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายด้วยคอนเทนต์มากมายหลากแบบห รือ Rich Contents โดยไม่ต้องทุ่มงบโฆษณามหาศาลกับสื่อ Above the line เท่านั้น

นักการตลาดจอมประหยัดเหล่านี้ต่างสร้างสรรค์แคมเปญการตลาดแบบ Customized เพื่อ iPhone 3G โดยเฉพาะ

“จะมีการ Engage กับโฆษณามากขึ้น โฆษณาจะมีการใช้แผนที่และวิดีโอมากขึ้นด้วย” จิณณ์ฉายภาพสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ และเชื่อว่าจะเกิดขึ้นในไทยอย่างแน่นอน

“ขณะที่การใช้ Digital Media เพื่อ 3G จะมองแบบแยกส่วนไม่ได้ ต้องเป็นการใช้งานแบบ Intregrated Media เช่น เอาดิจิตอลไปรวมกับโทรศัพท์มือถือ เอาไปผนวกกับอีเวนต์ กับสื่อนอกบ้าน เป็นต้น”

ที่มา : POSITIONING : MAGAZINE : EXCLUSIVE
ข้อมูลเพิ่มเติม :http://www.positioningmag.com

วันพุธที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ความเข้าใจสับสนระหว่างความเติบโตทางเศรษฐกิจกับการพัฒนา: บทเรียนจากละติน อเมริกา

ความเข้าใจสับสนระหว่างความเติบโตทางเศรษฐกิจกับการพัฒนา: บทเรียนจากละติน อเมริกา

สวัสดีครับชาวEconomic#8 For You ทุกท่าน วันนี้ผมได้อ่านบทความ บทความหนึ่ง ซึ่งเพื่อนเปาของเราแนะนำเข้ามา เป็นเรื่องที่พอผมอ่านจบแล้วผมนิ่งไปพักใหญ่เลยทีเดียว แล้วต้องหันกลับมามองตัวเองรวม ทั้งสังคมและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ว่าเรากำลังเดินไปบนถนนแห่งแนวความคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์ถูกทางหรือไม่ การจะพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้ดีนั้น จริงหรือที่จะต้องเร่งสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมาเป็นอันดับต้นๆเสมอ !!??

บทความนี้สามารถให้คำตอบกับคำถามดังกล่าวได้เป็นอย่างดี และผมคิดว่ผู้ที่กำลังศึกษาเกี่ยวกับทางด้านเศรษฐศาสตร์อยู่ในปัจจุบัน หรือแม้แต่ใครก็ตามที่อยากเห็นการพัฒนาของประเทศไทยเป็นไปอย่างยั่งยืน สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องเปิดมุมมองใหม่ๆด้วยการอ่านบทความนี้ครับ


ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปลจาก Eduardo Gudynas and Carolina Villalba Medero, "The Persistent Confusion Between Growth and Development," Americas Policy Program Strategic Dialogue (Washington, DC: Center for International Policy, August 28, 2007).
Web location:
http://americas.irc-online.org/am/4506
Translated from: Crecimiento económico y desarrollo: una persistente confusión
Translated by: David Alford and Ade Oyelabi

อีกครั้งหนึ่งที่ละตินอเมริกามีความเข้าใจสับสนระหว่างการพัฒนากับความเติบโตทางเศรษฐกิจ และระหว่างความเติบโตทางเศรษฐกิจกับการลงทุนและการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ความเข้าใจผิดแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจนแทบไม่มีความน่าเชื่อถือลงเหลืออีกแล้ว แต่ความเข้าใจผิดนี้ก็กลับมาอีกจนได้ เพื่อก้าวไปให้พ้นความเข้าใจสับสนดังกล่าว เราจึงจำเป็นต้องทบทวนวิวาทะอันหลากหลายเกี่ยวกับการพัฒนาเสียก่อน

ความเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหัวจักรการพัฒนา ???
นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักในละตินอเมริกา รวมทั้งนักการเมืองจำนวนมาก มักเป่าหูเราซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ความเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหัวจักรสำคัญเบื้องหลังการพัฒนา ซึ่งจะนำไปสู่การบรรเทาปัญหาความยากจน แนวความคิดนี้ไม่เพียงนำเสนอแบบลดทอนจนหยาบง่ายเกินไปเท่านั้น แต่มีการนำเสนอแบบหวือหวาอีกด้วย ในหลาย ๆ กรณี มีความเชื่อว่า เราจะบรรลุความเติบโตทางเศรษฐกิจได้ก็ต้องอาศัยการลงทุนจากต่างประเทศหรือการส่งออกปริมาณมาก ๆ เท่านั้น โดยเน้นย้ำด้วยเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่งว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจคือเงื่อนไขจำเป็นในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความยากจน แนวความคิดเหล่านี้มีลักษณะพิกลพิการ ลดทอนจนกลายเป็นสูตรสำเร็จหยาบง่าย และทำให้บางปัจจัยกลายเป็นเป้าหมายในตัวมันเอง ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา สูตรสำเร็จหยาบง่ายนี้ได้รับการถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด แต่ก็ย้อนกลับมาเกิดใหม่ได้ทุกทีไป

ทฤษฎีความเติบโตทางเศรษฐกิจ
แนวความคิดที่ยืนยันว่า ความเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ต่อจำนวนประชากรคือสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการบรรเทาความยากจน ยังเป็นแนวคิดที่ครอบงำในละตินอเมริกา การเพิ่มจีดีพีทำได้โดยอาศัยปัจจัยที่เป็นกุญแจสำคัญ โดยเฉพาะปัจจัยสองประการคือ
- การลงทุนจากต่างประเทศ และ
- การเพิ่มปริมาณการส่งออก

ปัจจัยทั้งสองนี้มีความเกี่ยวโยงกัน เนื่องจากแนวคิดนี้ยืนยันว่า ไม่มีทางจะทำให้การส่งออกเพิ่มปริมาณขึ้นด้วยเงินออมภายในประเทศเพียงอย่างเดียว ดังนั้น จึงต้องอาศัยการลงทุนจากต่างประเทศเป็นสัดส่วนสำคัญ

สถาบันการเงินระหว่างประเทศคอยปกป้องแนวคิดนี้เสมอมา กล่าวคือ แนวคิดว่าความเติบโตทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการผลักดันของการเปิดเสรีการค้าและการลงทุน จะช่วยยุติปัญหาความยากจน ยกตัวอย่างเช่น นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกอย่าง David Dollar และ Aart Kraay ตีพิมพ์บทความที่ได้รับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์อย่างมาก ซึ่งมีชื่อบทความเฉพาะเจาะจงเลยว่า "Growth is Good for the Poor" (Dollar and Kraay, 2000) แนวคิดในบทความนี้สรุปง่าย ๆ ได้ว่า การขยายตัวของการค้าจะช่วยกระตุ้นความเติบโตทางเศรษฐกิจและบรรเทาความยากจนลงได้

จุดยืนแบบนี้ช่วยต่ออายุแนวคิดเดิม ๆ ที่เชื่อว่า ความเติบโตทางเศรษฐกิจคือแกนหลักของการพัฒนา เพียงแต่เพิ่มเติมความเชื่อมโยงกับการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ การเพิ่มปริมาณการส่งออก พร้อมกับการเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ

การแสวงหาการลงทุนจากต่างประเทศ
ความสำคัญของการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศมาป้อนให้เกิดความเติบโตทางเศรษฐกิจ มาถึงจุดที่กลายเป็นความมักง่ายโดยยืนกรานกระต่ายขาเดียวว่า การลงทุน จำเป็น ต่อการต่อสู้กับความยากจน ในการนำเสนอของเลขาธิการคณะกรรมการเศรษฐกิจละตินอเมริกาและแคริบเบียน ในการประชุมการประเมินทางเศรษฐกิจของละตินอเมริกาและแคริบเบียนเมื่อ ค.ศ. 2005 นายโฆเซ มาชิเนอา (Jose Machinea) เน้นย้ำความจำเป็นของการเพิ่มการลงทุนเพื่อให้จีดีพีขยายตัว อีกทั้งการลงทุนควรมีปริมาณมากพอที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดการจ้างงานและลดปัญหาการว่างงานลง

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การลงทุนเป็นแง่มุมสำคัญของการพัฒนา แต่การลดทอนแนวคิดจนหยาบง่ายทำให้หลาย ๆ ปัจจัยไม่ได้รับการพิจารณา มองข้าม หรือคิดว่าเป็นเงื่อนไขที่มาพร้อมกับการลงทุน ยกตัวอย่างเช่น การสร้างงานที่มีการผลิตจำเป็นต้องมีสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาคที่เอื้อต่อธุรกิจใหม่ ๆ แต่การลงทุนเพียงเพื่อให้มีการลงทุนกลับไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหานี้ มีตัวอย่างมากมายที่เป็นการลงทุนขนาดใหญ่โตมโหฬารในบางภาคส่วน เช่น การทำเหมือง ซึ่งเป็นการลงทุนที่ทำให้เกิดการจ้างงานน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับภาคส่วนอื่น

นอกจากนี้ จุดยืนของคนอย่างมาชิเนอา ดูเหมือนลดทอนปัญหาซับซ้อน เช่น ความสามารถในการแข่งขัน ให้เหลือแค่ความสัมพันธ์กับการไหลเข้ามาของการลงทุน วิสัยทัศน์แบบนี้ยืนกรานว่า การเพิ่มปริมาณการลงทุนคือหนทางในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และทำให้การแข่งขันเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีการสร้างมาตรการบางอย่างเพื่อดึงดูดให้ทุนไหลเข้ามา เป็นต้นว่าบรรทัดฐานด้านทรัพย์สินทางปัญญา การเปิดเสรีธนาคาร ฯลฯ แม้กระทั่งมาตรการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่มีการผลิต ก็ดูเหมือนวางเงื่อนไขโดยมีเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการไหลเข้ามาของทุน

ด้วยวิธีคิดแบบนี้ ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจแห่งชาติส่วนอื่น ๆ จึงกลายเป็นแค่ตัวประกอบให้แก่บทบาทดารานำของการดึงดูดทุนจากต่างประเทศ แนวคิดนี้มีรากเหง้าหยั่งลึกในละตินอเมริกา มีการนำแนวคิดนี้มาปฏิบัติทั้งในรัฐบาลที่มียุทธศาสตร์แบบเดิม ๆ เช่น รัฐบาลประธานาธิบดีอัลวาโร อูริเบในประเทศโคลอมเบีย ตลอดจนรัฐบาลฝ่ายซ้าย นับตั้งแต่พรรครัฐบาล Concertation Coalition ในชิลี ไปจนถึงมาตรการทางเศรษฐกิจของรัฐบาลประธานาธิบดีลูอิซ อีนาเซียว ลูลา ดา ซิลวาในบราซิล

อีกตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้คือ ประเทศอุรุกวัย รัฐบาลฝ่ายซ้ายของพรรค Broad Front ก็หันมาใช้มาตรการรุกในการดึงดูดเงินทุน ดังที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจ นายดานิโล อัสโตรีกล่าวว่า ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะประสบการณ์ในโลกบอกให้เราต้องออกไปแสวงหาการลงทุน เนื่องจาก “นักลงทุนในโลกมีโอกาสมากมาย” ตัวอย่างที่ได้รับการนำเสนอครั้งแล้วครั้งเล่าคือ เรื่องราวความสำเร็จของการลงทุนสร้างโรงงานเซลลูโลสริมแม่น้ำอุรุกวัย โดยทึกทักว่าการลงทุนนี้จะช่วยส่งเสริมให้เกิด “ความเติบโตของการจ้างงานขนานใหญ่”

กรณีนี้เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นพื้นที่สีเทาของวิสัยทัศน์แบบหยาบง่ายนี้ ที่ริมแม่น้ำอุรุกวัยฝั่งประเทศอุรุกวัย กำลังมีการก่อสร้างโรงงานแปรรูปเซลลูโลสที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค โดยได้รับเงินลงทุนกว่าพันล้านดอลลาร์จากบริษัท Botnia ของฟินแลนด์ โครงการนี้กลายเป็นประเด็นสำคัญในความขัดแย้งร้อนแรงระหว่างประเทศอุรุกวัยกับประเทศอาร์เจนตินา ที่ตั้งอยู่อีกฟากของแม่น้ำ ทั้งนี้เพราะกลุ่มประชาชนอาร์เจนตินาประณามผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมที่โรงงานแบบนี้จะก่อให้เกิดขึ้น

ถ้ามองจากจุดยืนทางการเงินของอุรุกวัย การไหลเข้ามาของเงินก้อนใหญ่ขนาดนี้ย่อมดูประหนึ่งโชคลาภที่ลอยมาอย่างไม่น่าเชื่อ แต่ปัญหาจะเริ่มชัดเจนขึ้น หากเราพิจารณาว่า จริง ๆ แล้ว มูลค่าการลงทุนที่บริษัทประกาศออกมา ส่วนใหญ่คือเครื่องจักรและสินค้าที่ซื้อมาจากประเทศอุตสาหกรรมอื่น ๆ รวมทั้งฟินแลนด์ ในกรณีนี้ เงินลงทุนสัดส่วนสำคัญจะตกอยู่กับประเทศอื่น ๆ และไม่เคยตกมาถึงอุรุกวัยจริง ๆ การลงทุน “สุทธิ” ที่อุรุกวัยจะได้รับยังคงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ เนื่องจากไม่มีหน่วยงานรัฐอิสระที่สามารถเข้ามาวิเคราะห์สถานการณ์ ประมาณกันว่า จากมูลค่าการลงทุนที่ประกาศไว้ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เงินที่ตกมาถึงอุรุกวัยจริง ๆ น่าจะอยู่ที่ราว 800 ล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบข้างเคียงและการผลักภาระที่ควรนำมาชั่งน้ำหนักเมื่อพิจารณาการลงทุนครั้งใด ๆ ไม่เคยมีการวิเคราะห์ว่าควรเก็บเงินจากบริษัทฟินแลนด์มากน้อยแค่ไหนเพื่อชดเชยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น ผลกระทบที่จะทำให้การท่องเที่ยวในบริเวณนั้นลดลง ตลอดจนการสูญพันธ์ของอุตสาหกรรมประมงท้องถิ่น

ถึงที่สุดแล้ว ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลอุรุกวัยก็ออกมาปกป้องการลงทุนเหล่านี้ว่า มันจะช่วยสร้างงาน โครงการของบริษัท Botnia จ้างคนงานเกือบ 1,500 คน ในช่วงที่การก่อสร้างต้องการแรงงานสูงสุด แต่หลังจากช่วงนั้นผ่านพ้นไปแล้ว ก็ไม่มีการจ้างงานเพิ่มเกิดขึ้นอีก เมื่อเปิดดำเนินการตามปรกติ มีการประเมินว่าโรงงานนี้จะเสนอการจ้างงานราว 300 ตำแหน่ง นี่คือตัวอย่างที่พบเห็นได้ทั่วไปของการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อส่งออกสินค้า ซึ่งทำให้เกิดการจ้างงานน้อย แต่มีผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมรุนแรง กรณีคล้าย ๆ กันนี้รวมถึงการลงทุนขุดเจาะน้ำมันและก๊าซในเอกวาดอร์และเปรู ตลอดจนโครงการเหมืองในเปรูและอาร์เจนตินา

ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน
ตัวอย่างข้างต้นและตัวอย่างอื่น ๆ ชี้ให้เห็นว่า เหตุใดการใช้เหตุผลหยาบง่ายเชื่อมโยงการลงทุนและการส่งออกเข้ากับความเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะบรรเทาความยากจนลง จึงยังเป็นแนวคิดที่ได้รับความนิยม กระนั้นก็ตาม มีหลักฐานเชิงประจักษ์จำนวนมากที่เตือนสติให้เราควรระมัดระวังมากกว่านี้

การส่งออกที่เพิ่มขึ้นมีความสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของจีดีพีต่อหัวในประเทศเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้น กล่าวคือ ชิลี คอสตาริกา โคลอมเบีย เอลซัลวาดอร์และสาธารณรัฐโดมินิกัน (ใช้ตัวเลขความเติบโตโดยเฉลี่ยจาก ค.ศ. 1985-2005 ตามข้อมูลของ CEPAL, 2006) ในประเทศอื่น ๆ เช่น ปานามาและอุรุกวัย สิ่งที่เกิดขึ้นเกือบตรงกันข้าม กล่าวคือ จีดีพีเพิ่มขึ้น ในขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาก (อัตราต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของทวีปที่ 6% ต่อปี) แต่ที่น่าสังเกตยิ่งกว่านั้นก็คือ ประเทศในละตินอเมริกาจำนวนมากมีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น ในขณะที่จีดีพีต่อหัวแทบไม่เพิ่มขึ้นเลย (ต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของทวีปที่ 1.1% ต่อปีในช่วงสองทศวรรษหลัง) สถานการณ์แบบนี้ตรงกันข้ามกับทฤษฎีกระแสหลัก แต่ก็เกิดขึ้นในบราซิล อาร์เจนตินา และเม็กซิโก

กรณีตัวอย่างเหล่านี้ชี้ให้เห็นบทเรียนเพิ่มเติมที่สวนทางกับทัศนะกระแสหลัก บราซิลไม่เพียงเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ แต่ยังเป็นประเทศที่ได้รับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ กระนั้นก็ตาม อัตราความเติบโตทางเศรษฐกิจของบราซิลกลับมีไม่มากนัก เม็กซิโกไม่เพียงเป็นผู้ส่งออกรายสำคัญของละตินอเมริกา แต่ยังมีสัดส่วนการผลิตสินค้าสูงที่สุดด้วย กระนั้นก็ตาม ระบบเศรษฐกิจของสองประเทศนี้แทบไม่เติบโตขึ้นเลย และยังคงมีอัตราความยากจนในระดับสูง (บราซิลมีอัตราความยากจน 38% และเม็กซิโก 37% ใน ค.ศ. 2004)

ปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นและการลงทุนในระดับสูงไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะมีการสร้างงานเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น บราซิลเป็นประเทศในละตินอเมริกาที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุด แต่การลงทุนที่เพิ่มขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1990-2003 ไม่ได้เชื่อมโยงกับความเติบโตของการจ้างงานเสมอไป ยิ่งกว่านั้น ใน ค.ศ. 1990 อัตราการว่างงานมีเพียง 4.3% ในขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ (324 ล้านดอลลาร์) แต่ใน ค.ศ. 2003 มีการลงทุนมากขึ้นถึงระดับ 9.894 พันล้านดอลลาร์ ทว่าอัตราการว่างงานกลับพุ่งขึ้นไปถึง 12.3% หากพิจารณาดัชนีของประเทศบราซิลแบบใจร้ายแล้ว เราอาจกล่าวได้ด้วยซ้ำไปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตรงข้ามกับทัศนะกระแสหลัก กล่าวคือ การลงทุนที่เพิ่มขึ้นนำไปสู่อัตราการว่างงานที่พุ่งสูงขึ้น แน่นอน นี่เป็นทัศนะที่สุ่มเสี่ยง แต่ถ้าหากเราไม่สามารถฟันธงลงไปว่า การลงทุนมากขึ้นนำมาซึ่งการว่างงานมากขึ้น เราก็ไม่สามารถอ้างได้เช่นกันว่า การลงทุนมากขึ้นนำมาซึ่งการจ้างงานมากขึ้น เห็นได้ชัดว่า ความสัมพันธ์ระหว่างการลงทุนกับการจ้างงานมีความซับซ้อนมากกว่าที่เข้าใจกัน 999999999999

นักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงหลายคนถกเถียงกันมานมนานแล้วว่า ปัจจัยอย่างการลงทุนหรือการส่งออกโดย ตัวมันเองสามารถส่งผลกระทบต่อการลดลงอย่างมีนัยสำคัญในอัตราการว่างงานหรือจำนวนคนยากจนหรือไม่ แต่ความสัมพันธ์แบบสาเหตุ-ผลลัพธ์ไม่ได้มีอยู่ระหว่างปัจจัยเหล่านี้ กุญแจที่สำคัญเสมอมาคือ บทบาทของรัฐในการจัดการกระบวนการและการใช้กลไกการปรับการกระจายความมั่งคั่งและค่าชดเชยต่างหาก การยืนกรานที่จะลดทอนทุกสิ่งทุกอย่างให้เหลือแค่ความเชื่อว่า พลวัตของการพัฒนาเกิดมาจากความเติบโตทางเศรษฐกิจ มักถูกนำเสนอว่าเป็นการแสดงออกถึงความมีสามัญสำนึก ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้ว ความเชื่อนี้เป็นสูตรสำเร็จที่ตื้นเขินมาก

ในประการสุดท้าย แนวคิดที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนและความไม่เท่าเทียมด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ “ความเจริญค่อย ๆ หยดหยาดจากบนลงสู่ล่าง” (trickle down theory) หมายความว่ากว่าจะรอให้เกิดการยกระดับฐานะของคนจน ก็ต้องรอไปอีกหลายทศวรรษ การศึกษาของสถาบันเพื่อระบบเศรษฐกิจใหม่ได้หยิบยกเอาอัตราการพัฒนาเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยของหลาย ๆ ประเทศระหว่าง ค.ศ. 1980-2001 หากพิจารณาจากความเติบโตที่เพิ่มขึ้น คำนวณเวลาที่ประเทศเหล่านี้จะบรรลุระดับการกระจายความมั่งคั่งเทียบเท่าสหภาพยุโรป (Woodward and Simms, 2006) ด้วยอัตราความเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยที่ 0.5% บราซิลจะต้องรอไปอีก 304 ปี เม็กซิโก 187 ปี และโคลอมเบีย 138 ปี ส่วนชิลีที่มีอัตราความเติบโตเฉลี่ย 3.3% จะต้องรอไป 38 ปี 99999999999

ประวัติของการถกเถียง
มายาภาพของการแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยความเติบโตทางเศรษฐกิจถูกตั้งคำถามจนเสียงอ่อนลงมาหลายครั้งหลายคราวแล้ว ลองดูตัวอย่างต่อไปนี้ ในบรรดางานวิจัยชิ้นล่าสุด Bernardo Kliksberg (2000) รวบรวมเหตุผลวิบัติ (fallacy) 10 ประการเกี่ยวกับปัญหาสังคมในละตินอเมริกา เหตุผลวิบัติประการที่สามก็คือ ความคิดว่าความเติบโตทางเศรษฐกิจโดยตัวมันเองก็เพียงพอแล้วที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน Kliksberg ยืนยันว่า ความเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นแค่วิธีการหนึ่ง ซึ่งไม่อาจเปลี่ยนไปเป็นเป้าหมายในตัวมันเองได้

หลายปีก่อน ในบทความชิ้นคลาสสิก Albert Hirschman (*) ชี้ให้เห็นว่า ในช่วงทศวรรษ 1980 เมื่อปัจจัยทางเศรษฐกิจเกือบทุกประเทศเลวร้ายลง บางประเทศยังสามารถปรับปรุงดัชนีชี้วัดทางสังคมในด้านสุขภาพและการศึกษาให้ดีขึ้นได้ ด้วยเหตุผลนี้เอง Hirschman จึงสรุปว่า “ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ” มีความเชื่อมโยงที่ไม่แน่นอนกับสิ่งที่เขาเรียกกว่า “ความก้าวหน้าทางการเมือง” ความสัมพันธ์ระหว่างสองสิ่งนี้ บางครั้งก็มีความเป็นสาเหตุ-ผลลัพธ์ต่อกัน แต่บางครั้งก็อาจตรงกันข้ามไปเลยก็ได้ สิ่งที่พบได้มากกว่าคือ ปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อนยิ่งกว่าที่เข้าใจกัน (Hirschman, 1994)

(*)Albert Otto Hirschman (b. April 7, 1915, in Berlin, Germany) is an influential American economist who has authored several books on political economy and political ideology. His first major contribution was in the area of development economics.[1] Here he emphasied the need for unbalanced growth. Because developing countries are short of decision making skills, disequilibria to stimulate these and help mobilize resources should be encouraged. Key to this was enouraging industries with a large number of linkages to other firms.

His later work was in political economy and there he advanced two simple but intellectually powerful schemata. The first describes the three basic possible responses to decline in firms or polities: Exit, Voice, and Loyalty. The second describes the basic arguments made by conservatives: perversity, futility and jeopardy.

การตั้งคำถามต่อความเชื่อกระแสหลักยังเกิดขึ้นย้อนไปก่อนหน้านั้น โดยเริ่มต้นตั้งแต่กลางทศวรรษ 1960 ในสมัยนั้น ความคิดกระแสหลักยังหยาบง่ายกว่าเดี๋ยวนี้อีก โดยที่ยึดเอาความเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลักสำคัญเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ความคิดเหล่านี้เริ่มถูกตั้งคำถาม และนักวิเคราะห์ที่เชี่ยวชาญจำนวนมากยืนยันว่า ปัญหาของกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ไม่ใช่เรื่องความเติบโต แต่เป็นเรื่องของการพัฒนา นี่เป็นทัศนะที่ได้ค่อยได้ยินกันแล้วทุกวันนี้ หลังจากนั้นมีการวิวาทะจำนวนมากตามมา โดยมีประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนา ตลอดจนการถกเถียงเกี่ยวกับการพัฒนาสังคม การสร้างงาน องค์ประกอบและการกระจายความเติบโต รวมทั้งความจำเป็นของการศึกษาและใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่จะสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นพร้อมกันไปด้วย (โปรดดู การบรรยายถึงประวัติศาสตร์ช่วงนี้อย่างยอดเยี่ยมของ Arndt, 1987)

ในการบรรยายที่น่าจดจำใน ค.ศ. 1969 Dudley Seers (*) ชี้ให้เห็นว่า มันเป็นเรื่องโง่เง่าที่เข้าใจสับสนระหว่างการพัฒนากับการพัฒนาเศรษฐกิจ และการพัฒนาเศรษฐกิจกับความเติบโตทางเศรษฐกิจ เขาเสริมว่า มันเป็นความคิดแบบเด็ก ๆ ที่ทึกทักว่า หากรายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการขยายตัวของประชากร ไม่ช้าไม่นานย่อมจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทางสังคมและการเมืองได้. Seers ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ดูเหมือนความเติบโตทางเศรษฐกิจไม่เพียงล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองและสังคมเท่านั้น แต่ความเติบโตบางประเภทกลับกลายเป็นต้นเหตุของปัญหาด้วย (อ้างจาก Arndt, 1987) การตั้งคำถามอย่างหนักหน่วงนี้มีผลกระทบสำคัญต่อวงวิชาการ และในสถาบันที่ทำงานเกี่ยวข้องกับประเด็นการพัฒนา แต่อีกครั้งที่เสียงเหล่านี้ถูกเพิกเฉย และศรัทธาในความเติบโตทางเศรษฐกิจก็ย้อนกลับมาใหม่ในยุคของฉันทามติวอชิงตัน

(*)Dudley Seers (1920-1983) was a British economist who specialised in development economics. After his military service with the Royal Navy he taught at Oxford and then worked for various UN institutions. He was the director of the Institute of Development Studies at the University of Sussex from 1967 till 1972.

Seers is famous for replacing the "growth fetishism" of the early post war period with a greater concern with social development. He stressed the relativistic nature of judgements about development and questioned the value of the neoclassical approach to economics.

การวิวาทะควรมุ่งประเด็นการพัฒนา
ทุกวันนี้ มีหลักฐานมากขึ้น ๆ ที่แสดงถึงข้อจำกัดที่แอบแฝงอยู่ในความเข้าใจสับสนเกี่ยวกับการลงทุน การส่งออก หรือความเติบโตทางเศรษฐกิจกับการพัฒนา จุดยืนแบบนิ่งเฉยที่เชื่อว่า ความเติบโตจะ “หยด” หรือ “ค่อย ๆ หยดหยาด” ลงไปสู่ประชากรกลุ่มที่ยากจนที่สุด เป็นแนวคิดที่ใช้การไม่ได้ในทางปฏิบัติ นอกจากนี้ยังเป็นแนวคิดที่สร้างปัญหาทางการเมือง สังคมและศีลธรรมด้วย

ในทางตรงกันข้าม จนเดี๋ยวนี้ก็ยังมีการใช้ยุทธศาสตร์เดิม ๆ ที่มุ่งหาความเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งรังแต่จะสร้างต้นทุนที่ตอกย้ำหรือเพิ่มพูนความไม่เท่าเทียมให้มากขึ้นกว่าเดิม (Sánchez Parga, 2005) ยิ่งกว่านั้น ปัญหาสังคมที่เร่งด่วนในปัจจุบันก็คือ แนวคิดของความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่หยุดยั้ง ไปกันไม่ได้เลยกับแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพราะทรัพยากรธรรมชาติมีจำกัด อีกทั้งความสามารถของระบบนิเวศวิทยาที่จะปรับตัวก็มีจำกัดด้วย การเน้นแต่ยุทธศาสตร์ด้านการเงินไม่ช่วยสร้างเครื่องมือที่เกื้อหนุนต่อกลุ่มคนชายขอบ หรือก่อให้เกิดวิธีการในการปรับการกระจายความมั่งคั่งให้ดีขึ้น รัฐควรเป็นผู้สร้างเครื่องมือเหล่านี้และนำมันมาใช้ โดยที่ประชาชนในสังคมมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่

ทัศนะกระแสหลักที่เน้นแต่ความเติบโตทางเศรษฐกิจ ให้ความใส่ใจน้อยมากต่อองค์ประกอบประเภทนี้ และยอมรับแต่การใช้ยุทธวิธีแก้ไขผลกระทบทางสังคมที่ปลายเหตุ ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงนั้น ยุทธศาสตร์การพัฒนาควรวางเค้าโครงให้สอดคล้องกับข้อเรียกร้องทางสังคม ในกรณีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จที่สุดนั้น ยุทธศาสตร์การพัฒนาต้องพยายามเข้าไปดึงความมั่งคั่งที่ “หยดหยาดลงมา” จากความเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อนำไปใช้อุดหนุนการชดเชยและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในสังคมด้วย

ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องขยายการวิวาทะเกี่ยวกับการส่งออก การลงทุนและความเติบโตทางเศรษฐกิจ ให้ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ ที่กว้างขวางกว่าเดิม ปัญหาการพัฒนามีอะไรมากกว่าแค่การส่งเสริมการส่งสินค้าออกไปนอกประเทศและดึงดูดการไหลเข้ามาของทุน จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องหวนกลับมาสู่การวิวาทะที่มุ่งประเด็นการพัฒนา เพื่อมิให้ติดกับอยู่แต่ในวิชาเศรษฐศาสตร์หรือถูกขังอยู่ในหลักความเชื่อบางอย่างของสาขาวิชานี้ ถึงเวลาแล้วที่ประเด็นการพัฒนาควรกลับมาเป็นหัวใจแกนกลางของเวทีการถกเถียงในทุก ๆ มิติ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

Eduardo Gudynas และ Carolina Villalba Medero เป็นนักวิเคราะห์ของ CLAES-D3E (Development, Economy, Ecology, Equity-Latin America) http://www.globalización.org/. บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งที่คัดมาจากผลงานที่ตีพิมพ์ใน Revista del Sur, No. 165, May 2006.

บรรณานุกรม
Arndt, H.W., 1987, Economic development, The history of an idea, Chicago, University Chicago Press.
CEPAL, 2006, Espacios iberoamericanos, CEPAL and Secretaría General Iberoamericana, Santiago of Chile.
Dollar, D. and A. Kraay, 2000, Growth is good for the poor, World Bank, Policy Research Department, Washington.
Hirschman, A.,OR, 1994, "The intermittent connection between political and economic progress," Estudios Públicos, Santiago de Chile, 56: 5-14.
Kliksberg, B., 2000, "Ten fallacies about the social problems of Latin America," Socialismo and Participacion, Lima, 89: 49-75.
Rodríguez, F. and D. Rodrik, 2000, "Trade policy and economic growth: a skeptic's guide to the cross-national evidence," NBER Macro Annual 2000 (B. Bernanke and K. Rogoff, comp.), Cambridge, National Bureau Economic Research.
Sánchez Parga, J., 2005, "Without (growing) inequality there is no economic growth," Socialismo and Participation, Lima, 99: 11-27.


ขอขอบคุณเพื่อน "เปา" เป็นอย่างยิ่งที่มาร่วมแบ่งปันสิ่งดีๆให้กับเรา

วันอังคารที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2551

Good Manufacturing Practice (GMP)

GMP คืออะไร
Good Manufacturing Practice (GMP) หมายถึง หลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหารเป็นเกณฑ์หรือข้อกำหนดขั้นพื้นฐานที่จำเป็นในการผลิตและควบคุมเพื่อให้ผู้ผลิตปฏิบัติตามและทำให้สามารถผลิตอาหารได้อย่างปลอดภัย โดยเน้นการป้องกันและขจัดความเสี่ยงที่อาจจะทำให้อาหารเป็นพิษเป็นอันตรายหรือเกิดความไม่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภค GMP มี 2 ประเภทดังนี้
- GMP สุขลักษณะทั่วไป หรือ General GMP เป็นหลักเกณฑ์ที่นำไปใช้ปฏิบัติสำหรับอาหารทุกประเภท
- GMP เฉพาะผลิตภัณฑ์ หรือ Specific GMP เป็นข้อกำหนดที่เพิ่มเติมจาก GMP ทั่วไปเพื่อมุ่งเน้นในเรื่องความเสี่ยง และความปลอดภัยของแต่ละผลิตภัณฑ์อาหารเฉพาะมากยิ่งขึ้น

หลักการของระบบ GMP
หลักการของ GMP จะครอบคลุมตั้งแต่สถานที่ตั้งของสถานประกอบการ โครงสร้างอาคารระบบการผลิตที่ดีมีความปลอดภัย และมีคุณภาพได้มาตรฐานทุกขั้นตอน นับตั้งแต่เริ่มต้นวางแผนการผลิตระบบควบคุมตั้งแต่วัตถุดิบระหว่างการผลิตผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปการจัดเก็บการควบคุมคุณภาพและการขนส่งจนถึงผู้บริโภค มีระบบบันทึกข้อมูล ตรวจสอบและติดตามผลคุณภาพผลิตภัณฑ์รวมถึงระบบการจัดการที่ดีในเรื่องสุขอนามัย (Sanitation และHygiene) เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายมีคุณภาพและความปลอดภัยเป็นที่มั่นใจเมื่อถึงมือผู้บริโภค ทั้งนี้ GMP ยังเป็นระบบประกันคุณภาพขั้นพื้นฐานก่อนที่จะพัฒนาไปสู่ระบบประกันคุณภาพอื่นๆต่อไปเช่นระบบ HACCP (Hazards Analysis and Critical Control Points) และ ISO 9000 อีกด้วย



GMP ในประเทศไทย
สำหรับประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นับเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการตรวจรับรองระบบ GMP อาหารในประเทศไทย รวมทั้งมีหน้าที่ในการตรวจติดตามการปฏิบัติของผู้ประกอบการอาหารและน้ำดื่มไทย ให้มีการปฏิบัติให้สอดคล้องกับ GMP ที่บังคับใช้ตามกฎหมาย

ระบบ GMP อาหารเข้ามาในประเทศ และเป็นที่รู้จักครั้งแรกในปี พ.ศ. 2529 ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 และตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ดำเนินการเกี่ยวกับระบบ GMP ดังนี้ เริ่มจากการอบรมทั้งกับผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ภาครัฐให้เข้าใจหลักการของระบบ จัดทำโครงการยกระดับมาตรฐานการผลิตอาหารประเภทต่างๆสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้นำระบบ GMP มาใช้พัฒนาสถานที่ผลิตอาหารของประเทศเป็นครั้งแรกในลักษณะส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานการผลิตในอุตสาหกรรมอาหารแก่ผู้ประกอบการแบบสมัครใจภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่6 และตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ดำเนินการในเรื่องนี้เป็นขั้นตอนตามลำดับกล่าวคือ เริ่มจากจัดทำโครงการฯเสนอเพื่อให้สภาวิจัยฯให้ความเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์ GMP ของประเทศต่างๆโดยจัดลำดับความสำคัญของผลิตภัณฑ์ที่มีต่อการบริโภคและต่อเศรษฐกิจของประเทศเช่นน้ำบริโภคเครื่องดื่มนมพร้อมดื่มและอาหารกระป๋องเป็นต้น จัดการฝึกอบรมให้กับผู้ประกอบการ และเจ้าหน้าที่ภาครัฐให้เข้าใจในหลักการของระบบ นอกจากนั้นมีการตรวจสอบก่อนและหลังการอบรมให้ความรู้พร้อมทั้งมีการประเมินผลและออกใบเกียรติบัตรให้เพื่อเป็นแรงจูงใจซึ่งการดำเนินการครั้งนั้นทั้งหมดเพื่อประเมินและกระตุ้นผู้ประกอบการให้มีความสนใจที่จะพัฒนาสถานที่ผลิตเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง

หลังจากนั้นในปี 2535 เป็นต้นมาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยกองควบคุมอาหารได้มีมาตรการให้การรับรองระบบ GMP (Certificate GMP) แก่ผู้ประกอบการในลักษณะสมัครใจ



การบังคับใช้ GMP ตามกฎหมาย
GMP ที่นำมาเป็นมาตรการบังคับใช้เป็นกฎหมายนั้นได้นำแนวทางข้อกำหนดของ Codex มาประยุกต์ใช้ ซึ่งเป็นที่ยอมรับของสากล แต่มีการปรับในรายละเอียดบางประเด็นหรือปรับให้ง่ายขึ้น (Simplify) เพื่อให้เหมาะสมกับศักยภาพของผู้ผลิตอาหารภายในประเทศให้สามารถปฏิบัติได้จริง แต่ยังมีข้อกำหนดที่เป็นหลักการที่สำคัญเหมือนกับของ Codex แต่สามารถนำไปใช้ได้กับสถานประกอบการทุกขนาดทุกประเภททุกผลิตภัณฑ์ตามสภาพการณ์ของประเทศไทย นอกจากนี้ยังเป็นการพัฒนามาตรฐานสูงขึ้นมาจากหลักเกณฑ์ขั้นพื้นฐาน (Minimum Requirement) ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาใช้ในการพิจารณาอนุญาตผลิตจึงเป็นเกณฑ์ซึ่งทั้งผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่รู้จักคุ้นเคยกันดีและปฏิบัติกันอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องมีการปฏิบัติในรายละเอียดบางประเด็นที่เคร่งครัดและจริงจังมากขึ้น ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า GMP สุขลักษณะทั่วไปนี้ผู้ประกอบการสามารถนำไปปฏิบัติตามได้จริงในทางปฏิบัติ ในขณะที่กฎระเบียบข้อบังคับหลักการสำคัญยังมีความน่าเชื่อถือในระดับสากล

สำหรับGMP เฉพาะผลิตภัณฑ์ (Specific GMP) นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้กำหนดให้น้ำบริโภคเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดแรกที่ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามGMP เฉพาะเนื่องจากการผลิตมีกระบวนการที่ไม่ซับซ้อนและลงทุนไม่สูง รวมทั้งผู้ประกอบการน้ำดื่มในปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จากการตรวจสอบจำนวนผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศในปี 2546 มีประมาณ 4,000 รายทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ประกอบการรายย่อยมีการผลิตโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคทำให้เกิดปัญหาการปนเปื้อนเชื่อจุลินทรีย์ในผลิตภัณฑ์ ทำให้ผลิตภัณฑ์ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจึงเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการและหาวิธีการแก้ไขและป้องกันในเรื่องนี้อย่างจริงจังมากขึ้น ทั้งนี้จะเน้นการควบคุมสถานที่และกระบวนการผลิต โดยใช้หลักการ GMP เฉพาะผลิตภัณฑ์เข้ามาเป็นหลักเกณฑ์บังคับทางกฎหมาย เพื่อให้ผู้ผลิตน้ำบริโภคมีความตระหนัก มีการควบคุมตรวจสอบและเห็นความสำคัญในเรื่องคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ หลักการของ GMP น้ำบริโภคที่ไทยบังคับใช้เป็นกฎหมายนั้นจะใช้แนวทางของกฎหมายอเมริกาที่กำหนดอยู่ใน Code of Federal Regulation title ที่ 21 Part 129 Processing and botting of bottled drinking water และมาตรฐานสากล Codex (Code of Hyfiene for Bottled/Packaged Drinking Waters) ซึ่งสอดคล้องกับGMP สุขลักษณะทั่วไป โดยมีการขยายเนื้อหาในหมวดที่เกี่ยวกับกระบวนการผลิตให้เป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้องของผลิตภัณฑ์น้ำบริโภคเพื่อให้ผู้ผลิตสามารถควบคุมได้ครบถ้วนทุกจุดของการผลิตมากยิ่งขึ้น



GMP ที่เป็นกฎหมายบังคับใช้ของประเทศไทยมีด้วยกัน 2 ฉบับคือ
1. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข(ฉบับที่193) พ.ศ. 2543 และ(ฉบับที่239) พ.ศ.2544 เรื่องวิธีการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิตและการเก็บรักษาอาหาร(GMP สุขลักษณะทั่วไป)
2. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข(ฉบับที่220) พ.ศ. 2544 เรื่องน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุปิดสนิท(ฉบับที่3) (GMP น้ำบริโภค)



GMP กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้สำหรับผู้ผลิตอาหารรายใหม่ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2544 ส่วนรายเก่ามีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2546

ข้อกำหนด GMP สุขลักษณะทั่วไป
ข้อกำหนด GMP สุขลักษณะทั่วไปมี 6 ข้อกำหนดดังนี้
1. สถานที่ตั้งและอาคารผลิต
2. เครื่องมือเครื่องจักรและอุปกรณ์ในการผลิต
3. การควบคุมกระบวนการผลิต
4. การสุขาภิบาล
5. การบำรุงรักษาและการทำความสะอาด
6. บุคลากรและสุขลักษณะ

ในแต่ละข้อกำหนดมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ผู้ผลิตมีมาตรการป้องกันการปนเปื้อนอันตรายทั้งทางด้านจุลินทรีย์เคมีและกายภาพ ลงสู่ผลิตภัณฑ์ซึ่งอาจมาจากสิ่งแวดล้อมตัวอาคารเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ใช้ การดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนการผลิตรวมถึงการจัดการในด้านสุขอนามัยทั้งในส่วนของความสะอาดการบำรุงรักษาและผู้ปฏิบัติงาน

ข้อกำหนด GMP น้ำบริโภค
ข้อกำหนด GMP น้ำบริโภคมี 11 ข้อกำหนด ดังนี้
1. สถานที่ตั้งและอาคารผลิต
2. เครื่องมือเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิต
3. แหล่งน้ำ
4. การปรับคุณภาพน้ำ
5. ภาชนะบรรจุ
6. สารทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ
7. การบรรจุ
8. การควบคุมคุณภาพมาตรฐาน
9. การสุขาภิบาล
10. บุคลากรและสุขลักษณะผู้ปฏิบัติงาน
11. บันทึกและรายงาน

สำหรับวัตถุประสงค์ในแต่ละข้อกำหนดนั้นเช่นเดียวกับ GMP ของสุขลักษณะทั่วไป แต่ GMP น้ำบริโภคนั้นจะเน้นประเด็นการควบคุมกระบวนการการผลิตน้ำบริโภคโดยขยายรายละเอียดในการควบคุมเพื่อป้องกันการปนเปื้อนชัดเจนยิ่งขึ้น ตั้งแต่ข้อ 3-8 ซึ่งเป็นขั้นตอนในการผลิตและมีการเพิ่มเติมในส่วนของบันทึกและรายงานเพื่อให้ผู้ผลิตเห็นความสำคัญและประโยชน์ในการเก็บข้อมูลรายงานบันทึกที่เกี่ยวข้องเช่นผลวิเคราะห์แหล่งน้ำและผลิตภัณฑ์เป็นต้นซึ่งจะช่วยป้องกันหรือแก้ไขเมื่อเกิดปัญหากับผลิตภัณฑ์ได้

วันจันทร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2551

supply chain strategy

กลยุทธ์ห่วงโซ่อุปทาน supply chain strategy

ห่วงโซ่อุปทานหมายถึงการเชื่อมต่อของหน่วยหรือจุดต่างๆในการผลิตสินค้าหรือบริการ ที่เริ่มต้นจากวัตถุดิบไปยังจุดสุดท้ายคือลูกค้า โดยทั่วไปแล้วห่วงโซ่อุปทานประกอบด้วยจุดที่สำคัญๆ คือ

ผู้ส่งมอบ (Suppliers) หมายถึงผู้ที่ส่งวัตถุดิบให้กับโรงงานหรือหน่วยบริการ เช่น เกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังหรือปาล์ม โดยที่เกษตรกรเหล่านี้จะนำหัวมันไปส่งโรงงานทำแป้งมันหรือโรงงานทำกลูโคส หรือนำผลปาล์มไปส่งที่โรงงานผลิตน้ำมันปาล์ม เป็นต้น

โรงงานผู้ผลิต (Manufacturers) หมายถึงผู้ที่ทำหน้าที่ในการแปรสภาพวัตถุดิบที่ได้รับจากผู้ส่งมอบ ให้มีคุณค่าสูงขึ้น

ศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Centers) หมายถึงจุดที่ทำหน้าที่ในการกระจายสินค้าไปให้ถึงมือผู้บริโภคหรือลูกค้าที่ศูนย์กระจายสินค้าหนึ่งๆ อาจจะมีสินค้าที่มาจากหลายโรงงานการผลิต เช่นศูนย์กระจายสินค้าของซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ จะมีสินค้ามาจากโรงงานที่ต่างๆกัน เช่น โรงงานผลิตยาสระผม, โรงฆ่าสัตว์, เบเกอรี่ เป็นต้น

ร้านค้าย่อยและลูกค้าหรือผู้บริโภค (Retailers or Customers) คือจุดปลายสุดของโซ่อุปทาน ซึ่งเป็นจุดที่สินค้าหรือบริการต่างๆจะต้องถูกใช้จนหมดมูลค่าและโดยที่ไม่มีการเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าหรือบริการนั้นๆ

ห่วงโซ่อุปทานมีความสำคัญอย่างไร?
สินค้าหรือบริการต่างๆ ที่ผลิตออกสู่ตลาดจะต้องผ่านทุกจุดหรือหน่วยต่างๆ ตลอดทั้งสายของห่วงโซ่อุปทาน ดังนั้นคุณภาพของสินค้าและบริการนั้น จะขึ้นอยู่กับทุกหน่วยมิใช่หน่วยใดหน่วยหนึ่งโดยเฉพาะ ด้วยเหตุผลนี้เองจึงทำให้มีแนวความคิดในการบูรณาการทุกๆ หน่วยเพื่อให้การผลิตสินค้าหรือบริการเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพตามที่ลูกค้าคาดหวัง ดังเช่น น้ำมันปาล์มประกอบอาหาร ในสายของห่วงโซ่อุปทานประกอบด้วยผู้ส่งมอบซึ่งมักจะเป็นเกษตรกรผู้นำผลปาล์มมาส่งให้กับโรงงานหีบเพื่อนำน้ำมันปาล์มดิบออกจากผลปาล์ม ในขั้นตอนต่อไปน้ำมันปาล์มดิบก็จะถูกส่งต่อให้โรงงานผลิตน้ำมันปาล์มสำหรับใช้ประกอบอาหาร น้ำมันปาล์มประกอบอาหารนี้ก็จะถูกบรรจุในลังกระดาษและถูกส่งออกจากโรงงานและส่งต่อไปยังผู้ประกอบการรายต่อไป เช่น ผู้ดำเนินการซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านค้าปลีกย่อย เพื่อที่จะนำไปวางขายบนชั้นวางของตามซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านค้าปลีกย่อยเพื่อให้ผู้บริโภคได้มาทำการเลือกซื้อสินค้า จากตัวอย่างขั้นต้นจะเห็นว่า ทุกๆจุดในสายของห่วงโซ่อุปทานมีผลต่อคุณภาพของน้ำมันปาล์มประกอบอาหารซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าที่กำลังเลือกซื้อสินค้า

กลยุทธ์ห่วงโซ่อุปทาน (The Strategy Importance of the Supply-Chain)
1.1.1 เป้าหมายของผู้ขายปัจจัยการผลิต (Supplier’s goal)
- Low cost อุปสงค์และอุปทาน พิจารณาจากความเป็นไปได้ที่ต้นทุนต่ำสุด
- Response มีการตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อการเปลี่ยนแปลงในความต้องการเพื่อทำให้เกิดการขนาดแคลนสินค้าน้อยที่สุดอย่างทันเวลา
- Differentiation ร่วมกันวิจัยตลาดเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ และสร้างทางเลือกในผลิตภัณฑ์
1.1.2 เกณฑ์ในการคัดเลือก (Primary Selection Criteria)
- Low Cost เลือกจากต้นทุนที่ต่ำ
- Response เลือกจากกำลังการผลิต ความรวดเร็ว และความยืดหยุ่น
- Differentiation เลือกทักษะในการพัฒนาผลิตภัณฑ์
1.1.3 ลักษณะของกระบวนการ (Process Characteristics)
- Low Cost รักษาระดับอรรถประโยชน์เฉลี่ยในระดับที่สูง
- Response ลงทุนให้เกินกำลังการผลิตและมีกระยวนการที่มีความยืดหยุ่น
- Differentiation กระบวนการผลิตที่มีมาตรฐาน mass customization
1.1.4 ลักษณะของสินค้าคงคลัง (Inventory Characteristics)
- Low Cost ลดสินค้าคงคลังให้ต่ำที่สุด โดยใช้การควบคุมห่วงโซ่อุปทาน
- Response พัฒนาระบบการตอบสนองโดยการกำหนดตำแหน่งใน Buffer Stock เพื่อสร้างหลักประกันในการหาวัตถุดิบ
- Differentiation ลดต้นทุนสินค้าคงคลังเพื่อไม่ให้เกิดสินค้าล้าสมัย
1.1.5 ลักษณะของเวลาในขณะที่รอในการสั่งสินค้า (Lead –time Characteristics)
- Low Cost ระยะเวลาที่รอในการสั่งสินค้าน้อยที่สุด โดยไม่ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น
- Response มีการลงทุนเชิงรุก เพื่อลดระยะเวลาที่รอในการสั่งสินค้าเพื่อผลิต
- Differentiation มีการลงทุนเชิงรุกเพื่อลดระยะเวลาที่รอในการสั่งสินค้าเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์
1.1.6 ลักษณะของการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product – Design Characteristics)
- Low Cost ผลการดำเนินงานสูงสุด และใช้ต้นทุนต่ำสุด
- Response ใช้การออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อทำให้เกิดเวลาในการเตรียมการผลิตที่ต่ำ และมีวิธีการผลิตที่รวดเร็วและรัดกุม
- Differentiation การใช้การออกแบบมาตรฐานเพื่อสร้างความแตกต่างในการเลือกการนำเสนอสินค้าออกสู่ตลาด
ห่วงโซ่อุปทานในการผลิตทั่วโลก (Global Supply-Chain Issues)
- มีความยืดหยุ่นพอสมควร ต่อผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทันทีทันใด ในแต่ละส่วนที่มีความเป็นไปได้ การกระจายสินค้า และการขนส่ง
- สามารถใช้คอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยี การสื่อสาร ในการจัดการ ต่อการส่งสินค้าในแต่ละภาคส่วน ว่ามีการส่งสินค้าออกไปจำนวนเท่าใด
- ใช้ทีมงานที่มีความชำนาญในท้องถิ่น ให้มีส่วนในการจัดการด้านการค้า การบรรทุกสินค้า ภาษีศุลกากร และ ด้านการเมือง

1.2 การจัดซื้อ (Purchasing)
1.2.1 เป็นการจัดหาสินค้าและบริการ
1.2.2 กิจกรรมในการจัดซื้อ
- ช่วยในการตัดสินใจว่าจะผลิตเอง หรือซื้อ
- สามารถระบุ แหล่งผลิตหรือผู้ขายปัจจัยการผลิตได้
- การเลือกผู้ขายปัจจัยการผลิต หรือ การเจรจา ทำสัญญา
- การควบคุม การปฏิบัติของผู้ขายปัจจัยการผลิต
1.2.3 ความสำคัญ
- ต้นทุนเป็นศูนย์กลางหลัก
- ผลกระทบ ต่อคุณภาพของผลผลิตของสินค้า
1.2.4 ต้นทุนของการจัดซื้อ ต่อเปอร์เซ็นต์ของการขาย (Purchasing Costs as a Percent of Sales)

1.2.5 เทคนิคในการจัดซื้อ
- ลดการขนส่งและการบรรจุหีบห่อ (Drop shipping and special packaging)
- สั่งสินค้าหลายอย่างในเวลาเดียวกัน (Blanket order)
- จัดซื้อที่มีใบรายการน้อยที่สุด (Invoice less purposing) - สั่งสินค้า และการเคลื่อนย้ายทุนทางอิเลคทรอนิคส์ (Electronic ordering and funds transfer)
- ใช้การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเลคทรอนิคส์ (Electronic data interchange: EDI)
- จัดซื้อโดยเก็บสำรองสินค้าให้น้อยที่สุด (Stockless purchasing)
- จัดให้มีมาตรฐานในการจัดซื้อ (Standardization)
1.2.6 หลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าจะผลิต หรือซื้อสินค้า (Make/Buy Considerations)
1.2.7 กลยุทธ์ในการจัดซื้อ
- Many Supplies เป็นกลยุทธ์ ในการเลือกผู้ขายปัจจัยการผลิต โดยการต่อรองราคาที่ต่ำที่สุด จากหลายๆ ราย ส่วนใหญ่จะเป็นการติดต่อครั้งแรก
- Few Supplies เป็นกลยุทธ์ ในการติดต่อผู้ขายปัจจัยการผลิต เฉพาะรายที่ได้คัดเลือกไว้แล้ว เป็นการติดต่อในระยะที่ 2 เนื่องจากทราบข้อมูลของผู้ขายปัจจัยการผลิตมาก่อนแล้ว
- Vertical Integration กลยุทธ์การรวมในแนวดิ่ง เป็นการเลือกผู้ขายปัจจัยการผลิต ที่จะร่วมเป็นพันธมิตร หรือควบรวมกิจการทางการค้า หรืออาจสั่งเป็นเจ้าประจำก็ได้
- Keiretsu Network เป็นการชวนผู้ขายปัจจัยการผลิต มาเป็นพันธมิตรทางการค้าร่วมกัน เช่น แลกหุ้นส่วน แต่อย่าให้มากเกิน 5%
- Virtual Companies เป็นกลยุทธ์โดยการใช้ภาพเสมือนทางการค้า ได้แก่ การค้าทางอิเลคทรอนิคส์ เช่น การประมูลงานทางอิเลคทรอนิคส์ (E–option) , การพาณิชย์อิเลคทรอนิคส์ (E-Commerce)

1.3 การเลือกผู้ขาย (Vendor Selection)
1.3.1 ขั้นตอนในการคัดเลือกผู้ขาย
- การประเมินผู้ขาย Vendor Evaluation เป็นกลยุทธ์โดยใช้วิธีการประเมินผู้ขายปัจจัยการผลิต เช่น เงินทุน ความมั่นคง เพื่อให้แน่ใจว่า เขาสามารถส่งสินค้าได้ตามจำนวน และตรงเวลา เพื่อช่วยในการระบุ หรือเลือกผู้ขายปัจจัยการผลิต
- การพัฒนาผู้ขาย Vendor Development พัฒนาผู้ขายปัจจัยการผลิต ให้สามารถผลิตวัตถุดิบที่มีคุณภาพ หรือใช้เครื่องมือที่ทันสมัย เช่น ใช้การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเลคทรอนิคส์
- การเจรจาต่อรอง Negotiations การต่อรองราคาของวัตถุดิบ ให้ได้ราคาต่ำ แต่มีคุณภาพ เช่น ใช้การซื้อจำนวนมาก เพื่อให้สามารถต่อรองราคาให้ต่ำลงได้
1.3.2 เกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ขายปัจจัยการผลิต (Supplier Selection Criteria)
- จากการดำเนินกิจการ เช่น ความมั่นคงทางการเงิน การบริหารจัดการ ที่ตั้งใกล้แหล่งการผลิต เป็นต้น
- ผลิตภัณฑ์ มีคุณภาพ ราคาต่ำ
- การบริการ ทันเวลา มีเงื่อนไขพิเศษในการส่งมอบ มีฝ่ายเทคนิคมาดูแล มีการอบรมพนักงานให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1.3.3 กลยุทธ์ในการเจรจาต่อรอง
- แบบจำลองราคาโดยใช้ฐานจากต้นทุน
- แบบจำลองราคาโดยใช้ฐานจากราคาตลาด
- การเสนอราคาจากการแข่งขัน
1.4 การจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Management the Supply-Chain) จัดให้มีการวางแผน การจัดองค์กร การปฏิบัติ และการควบคุม เกี่ยวกับวัตถุดิบ โดยเริ่มจากวัตถุดิบ ไปสิ้นสุดที่การกระจายสินค้าและบริการ
1.5 การจัดการวัตถุดิบ (Materials Management)
1.5.1 หน้าที่ในการจัดการวัตถุดิบ
- การจัดซื้อ (Purchasing)
- การจัดการสินค้าคงคลัง (Inventory management)
- การควบคุมการผลิต (Production control)
- โกดังและร้านค้า (Warehousing and store)
- การควบคุมคุณภาพ (Incoming quantity control)
1.5.2 วัตถุประสงค์ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และการจัดการให้ได้ต้นทุนต่ำ
1.5.3 การเคลื่อนย้ายสินค้า (Goods Movement Options)
- รถบรรทุก (Trucking)
- รถไฟ (Railways)
- ทางอากาศ (Airway)
- ทางน้ำ (Waterways)
- ทางท่อ (Pipelines)

1.6 การจัดการห่วงโซ่อุปทาน เชิงเปรียบเทียบ (Benchmarking Supply-Chain Management )

วันเสาร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2551

10 คำถามยอดฮิต ในการสัมภาษณ์งาน

10 คำถามยอดฮิต ในการสัมภาษณ์งาน

เพื่อนๆทุกคนเวลาไปสัมภาษณ์งานตามบริษัทต่างๆ ขั้นตอนที่ยากที่สุดและเรียกได้ว่าเป็นด่านสุดท้ายที่จะตัดสินว่า เราจะได้งานหรือไม่นั้น คงหนีไม่พ้นขั้นตอนการสัมภาษณ์งานจริงมั้ยครับ บางคนอาจมีทักษะ ประสบการณ์ในการสัมภาษณ์งานมาหลายที่จนรู้สึกเป็นเรื่องธรรมดา(สังเกตุว่าหลายที่) แต่ถึงยังไงก็ตามคำถามที่บริษัทต่างๆถามก็มักจะแตกต่างกันออกไป จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมในการสัมภาษณ์งานเสมอก่อนวันสัมภาษณ์จริง
แต่ถึงแม้ว่าบริษัทต่างๆจะมีวิธีการ และคำถามในการสัมภาษณ์งานที่แตกต่างกันออกไป แต่คำถามหลักส่วนใหญ่ก็มักจะมีความคล้ายคลึงกัน ดังนั้นเรามาลองดูกันดีกว่าครับว่า 10 คำถามยอดฮิต ในการสัมภาษณ์งานของบริษัทต่างๆนั้น มักจะถามคำถามอะไรเราบ้าง


1. ทำไมคุณจึงอยากทำงานที่นี่
การที่จะทำงานทีไหนก็ตาม ผู้สัมภาษณ์จะต้องถามความเป็นมา ว่าทำไม คุณต้องการ ที่จะทำงาน ในบริษัทของเค้า และคำถามนี้ก็เป็น สิ่งที่คุณควร ทราบ และคุณก็ควรจะรู้ถึงเหตุผลของคุณอย่างแท้จริง ไม่ไช่ตอบไปสุ่มสี่สุ่มห้า


2. ทำไมคุณถึงออกจากงานที่เคยทำอยู่
คำถามนี้จะง่ายมาก สำหรับน้อง ๆ ที่ยังไม่เคยทำงานมาก่อน แต่จะเป็นคำถาม ที่ยากมาก สำหรับคนที่เคย มีประสบการณ์ ในการทำงานมาแล้ว และเป็น คำถามที่ตรงประเด็น มากเลยทีเดียว เพราะหากคุณพอใจ ต่องานที่ทำอยู่ คุณคงไม่ต้องหางานใหม่ ทำหรอกจริงไหมล่ะ คำถามนี้จึงเป็นคำถาม ที่คุณ ต้องเตรียมตัวอย่างมาก เลยทีเดียว และที่สำคัญ คุณห้ามนำข้อเสีย ที่คุณได้รู้จาก บริษัทเก่า มาพูดเด็ดขาด เพราะสิ่งนั้น อาจทำให้คะแนน แห่งความเชื่อถือ ของคุณ ลดลงก็ได้


3. ลองเล่าประวัติของคุณแบบย่อ ๆ
การที่จะทำงานร่วมกันได้นั้น สิ่งที่สำคัญ ก็จะเป็นเรี่อง ข้อมูลส่วนตัว ประวัติ ความเป็นมา เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สามารถบ่งบอกถึง นิสัยใจคอของคุณได้ และ สามารถบอกถึง ความเหมาะสม กับงานด้านนี้ของคุณ ในการตอบคำถาม จึงควรอยู่ในแง่ของ การทำงาน บุคลิกภาพส่วนตัว และแง่คิดของชีวิต บ้างนิดหน่อย คุณไม่ควรจะเล่าประวัติชีวิตของคุณให้มากเกินไป เพราะการพูดมากเกินไป อาจจะทำให้เกิดผลเสียแก่ตัวคุณเอง


4. คุณคิดจะทำอะไรให้กับบริษัทมากที่สุ
คำถามนี้จะทำให้คุณบอกถึง ความสามารถของคุณ ที่จะทำให้กับบริษัท ได้มากน้อยแค่ไหน ในการบอกถึงคุณสมบัติ ที่คุณสามารถทำได้นั้น ไม่ถือว่า เป็นการโอ้อวดว่า คุณเก่งแต่อย่างไร แต่สิ่งที่คุณพูดนั้น จะสามารถสร้าง น้ำหนัก ในการตอบคำถามให้แก่คุณได้


5. จะมีปัญหาอะไรไหมหากต้องทำงานล่วงเวลา
เจอคำถามนี้เข้า ก็ทำให้อึ้งเอาการ อยู่ทีเดียว ก็แหมใครอยากจะไป ทำงาน ล่วงเวลา หากไม่ได้ อะไรตอบแทนบ้างเลย ฉะนั้นในการตอบคำถามนี้ คุณควรจะกล่าวถึง ความพร้อมเสมอ ในการทำงานล่วงเวลา ถึงแม้ว่า ค่าตอบแทน อาจจะน้อยมาก หรือในการทำงานล่วงเวลา จะไปตรงกับ ตารางนัดสำคัญ กับคนพิเศษของคุณก็ตาม


6. เรื่องทั่ว ๆ ไป
ในการสัมภาษณ์คุณอาจจะต้องพูดถึง เรื่องปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น ข่าวทาง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และค่านิยม ที่เกิดขึ้นในเวลานั้น เป็นข่าว หนังสือพิมพ์ คำถามนี้จะแสดงให้เห็นว่า คุณให้ความสนใจกับข่าวสาร บ้านเมือง ไม่เป็นคนที่ตกข่าว สามารถพูดคุยได้ทุกเรื่อง ที่เกี่ยวกับ เหตุการณ์ปัจจุบัน การทราบข้อมูลเหล่านี้ อาจทำให้คะแนน การสัมภาษณ์ ของคุณ เพิ่มขึ้นมาก็ได้


7. ความใฝ่ฝันและโครงการในอนาคต
เป็นการพิจารณาถึง ความเอาจริงเอาจังของคุณ เพราะหากคุณสามารถบอกถึง ทิศทางในอนาคตได้ นั่นก็แสดงว่าคุณสามารถรับผิดชอบ ในงานที่ได้รับ มอบหมายอย่างดีทีเดียว ก็ขนาดอนาคตที่ไม่มีใคร สามารถรู้ได้ คุณยัง วางแผนสู่อนาคต ได้อย่างเป็นระบบ นั่นก็หมายถึงว่า คุณไม่ได้มีความคิด ย่ำอยู่กับที่จริงไหม


8. คุณมีงานอดิเรกอะไรไหม
คำถามในข้อนี้จะเจาะประเด็นว่า คุณรู้จักแบ่งเวลาของคุณ ให้เกิดประโยชน์ มากน้อยแค่ไหน และแสดงให้เห็นถึง บุคลิกของคุณว่า คุณเป็นคนอย่างไร ร่าเริง เปิดเผย หรือเก็บตัว เช่น ถ้าคุณตอบว่า คุณชอบอ่านหนังสือ คุณอาจจะ ถูกถาม ต่อว่า หนังสือเล่มล่าสุดที่คุณอ่าน คือเรื่องอะไร และอาจให้คุณวิจารณ์ ถึงหนังสือเล่มนั้น ในการถามคำถามนี้ ยังสามารถได้รู้ถึง ความละเอียด อ่อนของคุณ การรู้จักสังเกต การมีปฏิภาณไหวพริบ กระทั่ง การใช้ชีวิต ร่วมกับคนอื่น ๆ อีกด้วย


9. คุณต้องการเงินเดือนเท่าไหร่
เป็นเรื่องที่ยากมาก ในการตอบคำถามนี้ ถ้าหากว่า งานที่คุณไปสมัคร ระบุ เงินเดือนไว้แล้ว ก็เกิดความสบายใจหน่อย แต่ถ้าไม่ได้ระบุถึง อัตรา ค่าจ้างเลย ก็แย่หน่อย ทางที่ดีคุณควรตอบ ตามอัตราเงินเดือน ที่คนทั่วไป ได้รับกัน เช่น อาจจะถามเพื่อน ที่ทำงาน เหมือนกับตำแหน่ง ที่คุณสมัคร หรือตอบตาม เงินเดือนราชการ ที่คุณทราบก็ได้ แต่ถ้าหากผู้สัมภาษณ์ เสนอเงินเดือน มาสูง หรือต่ำกว่า อัตราที่คุณรู้ คุณก็อย่าพึ่งตอบตกลง คุณอาจจะขอเวลาในการ พิจารณาสัก 3 วัน แล้วค่อยให้คำตอบ เพราะถ้า เกิดคุณตอบตกลงไปแล้ว และคุณมาขอขึ้นทีหลังก็เหมือนกับว่า คุณเป็นคนโลเล ไม่น่าเชื่อถือก็ได้


10. คุณมีข้อสงสัยอะไรอีกไหม
เจอคำถามนี้ก็บ่งบอกว่า การสัมภาษณ์ได้สิ้นสุดลง แต่ในการตอบคำถาม ข้อสุดท้ายนี้ จะตอบอย่างไรดี ที่จะแสดงว่า เราไม่เป็นคนไม่ฉลาดออกมา เช่น คุณอาจถามย้ำ เรื่องเวลาการทำงานก็ได้

อย่างไรก็ตามไม่ว่าคุณจะเก่งซักแค่ไหน การเตรียมความพร้อมนับเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดครับ รู้อย่างนี้แล้วเราก็สามารถเตรียมความพร้อม และคำตอบที่คิดว่าดีและเหมาะสมที่สุดไว้ล่วงหน้าได้นะครับ " โชคดี = โอกาส + การเตรียมตัว" นะครับ โชคดีครับ

อ้้างอิง : Sanook.com

วันศุกร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2551

SMEs คืออะไร

SMEs คืออะไร

เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำนี้ และคุ้นเคยกันดีในช่วง 2-3ปีที่ผ่านมาเนื่องจากจำนวนของ ธุรกิจSMEs นั้นเมื่อเทียบกับธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ๆของไทย เช่น ปตท. ปูนซีเมนต์ การสื่อสาร เป็นต้น ธุรกิจSMEs จจะมีจำนวนมากกว่าแน่นอนเนื่องจากขนาดของการลงทุน และลักษณะรูปแบบการประกอบกิจการ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าธุรกิจSMEs จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่สำคัญอย่างแท้จริงมากกว่า จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่รัฐบาลทุกชุดที่เข้ามาบริหารประเทศจะให้ความสำคัญกับธุรกิจSMEs เป็นอันดับต้นๆ และอยู่ในนโยบายการบริหารประเทศด้านเศรษฐกิจของทุกพรรคการเมืองเลยทีเดียว
เราลองมาดูกันนะครับว่า ความหมาย และลักษณะของธุรกิจSMEs นั้นเป็นยังไงบ้าง

SMEs ย่อมาจาก Small and Medium Enterprises หรือแปลไทยว่า วิสาหกิจขนาดกลางและ ขนาดย่อม สำหรับความหมายของวิสาหกิจ ครอบคลุมกิจการ 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่
1. กิจการการผลิต (Product Sector) ครอบคลุมการผลิตในภาคเกษตรกรรม (Agricultural Processing) ภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing) และเหมืองแร่(Mining)
2. กิจการการค้า (Trading Sector) ครอบคลุมการค้าส่ง (Wholesale) และการค้าปลีก (Retail)
3. กิจการบริการ (Service Sector)
ลักษณะขนาดของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กำหนดจากมูลค่าชั้นสูงของสินทรัพย์ถาวร สำหรับกิจการแต่ละประเภท ดังนี้
ขนาดกลาง ขนาดย่อม
1. กิจการการผลิต ไม่เกิน 200 ล้านบาท ไม่เกิน 50 ล้านบาท
2. กิจการบริการ ไม่เกิน 200 ล้านบาท ไม่เกิน 50 ล้านบาท
3. กิจการการค้า
- ค้าส่ง ไม่เกิน 100 ล้านบาท ไม่เกิน 50 ล้านบาท
- ค้าปลีก ไม่เกิน 60 ล้านบาท ไม่เกิน 30 ล้านบาท
ส่วนลักษณะขนาดของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กำหนดจากจำนวนการจ้างงาน สำหรับกิจการ แต่ละประเภท ดังนี้
ขนาดกลาง ขนาดย่อม
1. กิจการการผลิต ไม่เกิน 200 คน ไม่เกิน 50 คน
2. กิจการบริการ ไม่เกิน 200 คน ไม่เกิน 50 คน
3. กิจการการค้า
- ค้าส่ง ไม่เกิน 50 คน ไม่เกิน 25 คน
- ค้าปลีก ไม่เกิน 30 คน ไม่เกิน 15 คน

หมายเหตุ : ทั้งนี้ หากจำนวนการจ้างงานของกิจการใดเข้าลักษณะของวิสาหกิจขนาดย่อม แต่มูลค่าสินทรัพย์ถาวรเข้าลักษณะของวิสาหกิจขนาดกลาง หรือจำนวนการจ้างงานเข้าลักษณะของวิสาหกิจขนาดกลาง แต่มูลค่าสินทรัพย์ถาวรเข้าลักษณะของวิสาหกิจขนาดย่อม ให้ถือจำนวนการจ้างงานหรือมูลค่าสินทรัพย์ถาวรที่น้อยกว่าเป็นเกณฑ์ในการ พิจารณา
1. หลักเกณฑ์การพิจารณาจำนวนการจ้างงาน ให้พิจารณาจากหลักฐานแสดงจำนวนการจ้างงานที่ได้จัดทำขึ้นตามที่กฎหมายกำหนด
2. หลักเกณฑ์การพิจารณามูลค่าสินทรัพย์ถาวร พิจารณาจากมูลค่าสินทรัพย์ถาวรสุทธิซึ่งไม่รวมที่ดินตาม ที่ปรากฏในงบการเงินล่าสุดของกิจการที่ได้จัดทำขึ้นโดยผู้ทำบัญชีของผู้มี หน้าที่จัดทำบัญชี หรือได้รับการตรวจสอบและแสดงความคิดเห็นโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแล้วตาม กฎหมายว่าด้วยการบัญชี มูลค่าสินทรัพย์ถาวรสุทธิซึ่งไม่รวมที่ดิน ตามที่ได้รับการประเมินจากสถาบันการเงินหรือบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินที่ น่าเชื่อถือ ในกรณีที่มูลค่าสินทรัพย์ถาวรสุทธิดังกล่าวต่างกัน ให้ถือจำนวนที่น้อยกว่าเป็นมูลค่าสินทรัพย์ถาวร
ที่มา : สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
http://www.ismed.or.th/SME/src/bin/controller.php?view=first.First

การลงทะเบียนเรียนของกลุ่ม แผน ก.


การลงทะเบียนเรียนของกลุ่ม แผน ก.

ดีครับพี่น้องแผน ก. ทุกท่านผมมีข่าวการลงทะเบียนมาแจ้งครับ คืองี้ครับ สำหรับพวกเราที่ลงทะเบียนเป็นแบบแผน ก. เนื่องจากวิชาเลือกที่เราต้องลงเรียนนั้น มันครบกำหนด 2วิชา หรือ6หน่วยกิจแล้วตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด ดังนั้นพวกเราจึงไม่จำเป็นต้องลงวิชาเลือกอีกต่อไปหลังจากนี้ คือลงเฉพาะวิชาบังคับเท่านั้น (แต่สามารถลงเป็นแบบ AUDIT หรือลงทะเบียนเรียนโดยไม่นับหน่วยกิจก็ได้นะครับ แต่ก็จะมีผลคือ ผ่าน หรือ ไม่ผ่าน นะครับ)

ดังนั้นเทอมนี้ใครที่ไม่อยากลงวิชาเลือกเหมือนผมก็ไม่ต้องลงครับ แต่เราต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ ที่คณะว่าเราจะลงบทะเบียนเรียนน้อยกว่ากำหนด พร้อมกับแจ้งเหตุผลที่ไม่ลงตามกำหนด เช่น ลงทะเบียนวิชาเลือกครบแล้ว เป็นต้นครับ ไม่งั้นเราจะไม่สามารถลงทะเบียนเรียนได้ครั้บ เพราะกำหนดขั้นต่ำในการลงทะเบียนมันคือ 9 หน่วยกิจครับ
สำหรับตารางการลงทะเบียนก็ตามนี้เลยครับ



หมายเหตุ : ถึงจะไม่ลงวิชาเลือกดังกล่าว เราก็สามารถเข้าไปนั่งเรียนได้ตามปกติครับ เพราะลงทะเบียนแบบเหมาจ่ายครับ สบายใจได้ครับ

ตารางเรียนMBE#8ภาคปลาย(2/2551)


สวัสดีครับพี่น้องชาวMBE#8ทุกท่าน

หลายคนคงทราบเกรดวิชา Micro economic กับ วิชา Special Toppics ... กันแล้วนะครับ ดีใจกับคนที่ได้เกรดรงกับความต้องการหรือเป็นที่น่าพอใจทุกคนด้วยนะครับ ส่วนคนที่ได้น้อยก็ไม่ต้องเสียใจ หรือเครียดจนเกินไปนะครับ ลองหาทางแก้ไขดูครับ อาจจะสอบถามเจ้าหน้าที่ที่คณะ หรือปรึกษาอาจารย์ผู้สอนโดยตรงก็ได้ครับ
สำหรับตารางเรียนในภาคปลายหรือเทอม2/2551 นะครับ สามารถดูได้ตามตารางนี้เลยนะครับ

ลองดูนะครับมันจะเป็นตารางเรียนปกติครับ หมายความว่าถ้าไม่ลงทะเบียนเพิ่ม/ลด ไปกว่านี้ วิชาที่ลงก็ตามนี้เลยครับ

วันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2551

แจ้งเวลาเปิดให้บริการห้องสมุด ช่วงเดือน ต.ค. 51 ครับ

แจ้งเวลาเปิดให้บริการห้องสมุด ช่วงเดือนต.ค.51
เขียนโดย Wadchara
Mon 13 Oct 08

เวลาทำการห้องสมุด

สำนักวิทยบริการเปลี่ยนแปลงเวลาเปิดให้บริการห้องสมุด ระหว่างวันที่ 13-26 ตุลาคม ดังนี้
วันจันทร์ - วันศุกร์ เปิดให้บริการในเวลา 8.30 - 16.30 น.
วันเสาร์ และวันอาทิตย์ ปิดบริการ
การให้บริการทุกอย่าง งดก่อนปิดทำการ 15 นาที เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบระบบ ก่อนการปิดอาคารสำนักวิทยบริการ

และตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2551 เป็นต้นไป เปิดให้บริการ ดังนี้

วันจันทร์-วันศุกร์ เปิดให้บริการเวลา 8.30-19.30 น.

วันเสาร์ เปิดให้บริการเวลา 9.00-20.00 น.



วันอาทิตย์ เปิดให้บริการเวลา 9.00-17.00 น.

Library Hour
October 13-26th 2008
Mon.-Fri. 8.30 am - 4.30 pm
Sat. - Sun. closed

Public Holidays Closed All services not available 15 minutes before library closed

October 27th 2008
Mon.-Fri. 8.30 am - 7.30 pm
Sat. 9.00 am - 8.00 pm

Sun. 9.00 am - 5.00 pm
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Mon 13 Oct 08 )

วันจันทร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2551

กำหนดวันเวลาลงทะเบียนเรียน ล่าสุด

กำหนดวัน เวลา การลงทะเบียนวิชาเรียน ภาคปลาย ปีการศึกษา 2551(ด่วนมากที่สุด)

สวัสดีครับพี่น้องชาวMBE#8ทุกท่าน ตอนนี้ทางสำนักทะเบียนฯ มข. เค้าแจ้งกำหนดการ วัน เวลา ในการลงทะเบียนเรียนเทอม2/2551 หรือภาคปลายแล้วนะครับ ขอให้พวกเรารีบลงทะเบียนเรียนในวันเวลาดังต่อไปนี้นะครับ

การ ลงทะเบียนวิชาเรียน(บันทึก/เปลี่ยนแปลง/แก้ไข/ยืนยัน/พิมพ์ใบแจ้งยอด/ชำระ เงิน) ภาคปลาย ปีการศึกษา 2551 ทั้งระดับปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา เริ่ม 17 ตค 51 เวลา 8.30 น ถึงวันที่ 22 ตค 51 เวลา 18.00 น

หรือสามารถเข้าไปดูได้ที่นี่เลยครับ http://reg.kku.ac.th/registrar/home.asp

sample business plans

sample business plans
ดีครับทุกท่าน บทความนี้ผมพยายามรวบรวมลิงค์เกี่ยวกับ ตัวอย่างแผนธุรกิจหรือ sample business plans ที่น่าสน มาไว้ให้เป็นคลังข้อมูลเผื่อว่า พี่น้องท่านใดมีเงินทุนเพียงพอและอยากทำธุรกิจ แต่คิดไม่ออกว่าจะทำธุรกิจอะไรดีที่เหมาะกับความรู้ ความสนใจ ความถนัด
และที่สำคัญคือเงินทุนของเรา ลองเลือกคลิ๊กเข้าไปดูกันเลยนะครับ

แผนธุรกิจเว็บไซต์สำเร็จรูป http://www.smesmart.is.in.th/?md=product&ma=show&id=26

แผนธุรกิจร้านเช่าหนังสือ http://intranet.dip.go.th/boc/Download/Example_Business_Plan/006%20bookrent.pdf

แผนธุรกิจร้านสปา http://intranet.dip.go.th/boc/Download/Example_Business_Plan/032%20SPA.pdf

แผนธุรกิจInternet Phone ttp://intranet.dip.go.th/boc/Download/Example_Business_Plan/014%20internet_phone.pdf

แผนธุรกิจบ้านไร่กาแฟ http://intranet.dip.go.th/boc/Download/Example_Business_Plan/001%20Ban-Rai%20Coffee.pdf

แผนธุรกิจคาร์แคร์ http://intranet.dip.go.th/boc/Download/Example_Business_Plan/013%20CarCare.pdf

แผนธุรกิจร้านเช่าหหนังสือ http://intranet.dip.go.th/boc/Download/Example_Business_Plan/006%20bookrent.pdf

แผนธุรกิจน้ำผลไม้ชนิดผง http://intranet.dip.go.th/boc/Download/Example_Business_Plan/002%20Powder%20Fruit%20Juice.pd
ตัวอย่างแผนธุรกิจอื่นๆได้ที่ http://www.smesmart.is.in.th/?md=product&ma=show&id=19
ที่มา : http://smesmart.net/wizContent.asp?wizConID=66&txtmMenu_ID=43

Spyware and Adware

ความเหมือนที่แตกต่าง

สปายแวร์ (Spyware) หรือ แอดแวร์ (Adware) สองคำนี้เราจะได้ยินบ่อยมากพอ ๆ กับคำว่าไวรัส เมื่อเราก้าวเข้าสู่การใช้งานระบเครือข่าย ความหมายของมันคือ โปรแกรมที่แฝงตัวมาอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของเรา และแอบทำการส่งข้อมูลการใช้อินเตอร์เน็ตของเราไปให้ผู้ที่ต้องการข้อมูลเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง ชื่อเรียกอาจจะมี หลายชื่อแต่มีความหมายเดียวกัน เช่น Malware , Trackware , Hijackware , Thiefware , Snoopware หรือ Scumware และแต่ใครจะเรียก

Adware (แอดแวร์) คืออะไร
Adwareเป็นศัพท์เทคนิคมาจากคำว่า Advertising Supported Software แปลเป็นไทยได้ว่า "โปรแกรมสนับสนุนโฆษณา" โดยบริษัทต่าง ๆ จะพยายาม โฆษณาสินค้าของตนเอง เพื่อที่จะได้ขายสินค้านั้น ๆ ตัวอย่างเช่น ถ้าเราลองไปดาวน์โหลดโปรแกรมฟรีตามเว็บต่าง ๆ เราก็จะเห็นโฆษณาสินค้าปรากฏขึ้นมาบ่อย ๆ ถ้าเราอยากให้โฆษณานั้นหายไปก็ต้องเสียเงินค่าลิขสิทธิ์ เพื่อไม่ให้มีโฆษณาขึ้นมากวนในอีกต่อไป



Spyware คืออะไร
Spyware เป็นโปรแกรมที่แฝงมาขณะเล่นอินเตอร์เน็ตโดยจะทำการติดตั้งลงไปในเครื่องของเรา และจะทำการเก็บพฤติกรรมการใช้งานอินเตอร์เน็ตของเรา รวมถึงข้อมูลส่วนตัวหลาย ๆ อย่างได้แก่ ชื่อ - นามสกุล , ที่อยู่ , E-Mail Address และอื่น ๆ ซึ่งอาจจะรวมถึงสิ่งสำคัญต่าง ๆ เช่น Password หรือ หมายเลข บัตรเครดิตของเราด้วย นอกจากนี้อาจจะมีการสำรวจโปรแกรม และไฟล์ต่าง ๆ ในเครื่องเราด้วย นอกจากนี้อาจจะมีการสำรวจโปรแกรม และไฟล์ต่าง ๆ ในเครื่องเราด้วย และ Spyware นี้จะทำการส่งข้อมูลดังกล่าวไปในเครื่องปลายทางที่โปรแกรมได้ระบุเอาไว้ ดังนั้นข้อมูลต่าง ๆ ในเครื่องของท่านอาจไม่เป็นความลับอีกต่อไป



Spyware มาได้อย่างไร
Spyware มีวิธีการในการเข้ามาในเครื่องเราหลายวิธี เช่น อาจใช้วิธีอย่างโจ่งแจ้ง เช่น ขอ Install ดื้อ ๆ เมื่อเราได้ตอบปุ่ม "ตกลง" ไปก็จะทำการติดตั้งลงมาที่เครื่อง ซึ่งบ่อยครั้งที่เรา ขี้เกียจอ่านแล้วก็คลิ๊กตอบ ๆ ไปอย่างรำคาญ บางตัวอาจมาในลักษณะของ Plug-in ให้คุณเอง เพื่อช่วยในการดูเว็บบางเว็บสมบูรณ์ขึ้น หรือแอบแฝง โดยเราไม่รู้ตัว เช่น แฝงมากับโปรแกรมฟรีต่าง ๆ , เกมส์ต่าง ๆ เป็นต้น



เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเครื่องเราติด Spyware
คงต้องใช้การสังเกตจากข้อบ่งชี้หลาย ๆ ข้อต่อไปนี้ ในการสันนิษฐานเป็นเบื้องต้น ก่อนที่จะหาเครื่องมือหรือโปรแกรมในการตรวจสอบและกำจัดมันออกไป
1. การติดต่อเข้าสู่อินเตอร์เน็ตช้าผิดปกติ พวกสปายแวร์จะเป็นตัวถ่วงหรืออุดเส้นทางในการเชื่อมต่อเข้ากับอินเตอร์เน็ตของเรา เพราะมันจะกันช่องทางส่วน หนึ่งในการส่งข้อมูลออกไปยังผู้เขียนโปรแกรม หรือไม่ก็นำข้อมูลเข้ามาในเครื่องของเราเช่น หน้าต่างป๊อบอัพโฆษณาสินค้าและบริการที่เราไม่ได้เรียกร้อง ทำให้เหลือ ช่องทางในการสื่อสารสำหรับเราน้อยลง ถ้ามีเครื่องอื่นเปรียบเทียบการใช้งานจะเห็นชัดมากขึ้น
2. ค่าเว็บไซด์เริ่มต้น (Default Homepage) เปลี่ยนไป ปกติเรามักจะกำหนดให้เว็บไซต์ใดเว็บไซต์หนึ่งที่เราใช้งานบ่อย ๆ เป็นค่าเริ่มต้น ทุกครั้งในการเปิดหน้าต่างบราวเซอร์ โปรแกรมพวกนี้จะเปลี่ยนค่าให้ชี้ไปยังเว็บไซด์ที่ผู้เขียนโปรแกรมต้องการ ไม่สามารถเปลี่ยนไป URL อื่น ได้จนกว่าจะโหลดหน้านั้น ๆ เสร็จ ถ้าผู้ใช้งานคลิกหยุดการทำงานบราวเซอร์แล้วเปลี่ยนไปยัง URL ใหม่จะทำให้ไม่สามารถออกไปยังเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้เลย
3. ประสิทธิภาพของคอมพิวเตอร์ลดลง เนื่องจากโปรแกรมพวกนี้จะทำงานตลอดเวลาเมื่อเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ทั้งการรับ - ส่ง ข้อมูล จึงทำให้เราใช้งาน โปรแกรมอื่น ๆ ได้ช้าลง ฮาร์ดดิสก์ทำงานหนักและตลอดเวลา จนการเข้าถึงไฟล์ต่าง ๆ ช้าลงอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนั้นเรายังเป็นพาหะหรือผู้แพร่เชื้อให้กับบุคคลอื่น ๆ ในเครือข่ายแบบไม่รู้ตัวอีกด้วย



โทษของ Adware & Spyware
1. ส่งข้อมูลต่าง ๆ ของเราไปให้ทางบริษัท โดยที่เราไม่รู้ตัว
2. โปรแกรมถูกรันให้ทำงานในคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดอาการแฮงค์ เปลืองแมมโมรี่ หรือ เปิดโปรแกรมบางตัวไม่ได้ เพราะแมมโมรี่ไม่พอ หรือบางที่ เปิดคอมฯ ไม่ติดเลยก็มี
3. บางครั้ง Adware & Spyware จะตั้งค่าต่าง ๆ ในระบบเช่น ค่าเว็บไซด์แรกที่เราเปิดใน Internet Explorer หรือ Netscape Navigator
4. บาง Adware & Spyware ตั้งค่าโมเด็มให้หมุนหมายเลขโทรศัพท์ต่างประเทศ ทำให้เสียค่าโทรศัพท์ในอัตราสูง


สรุปการทำงาน หรืออาคารของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มี Spyware
1. อาจมีป้ายโฆษณาเล็ก ๆ ปรากฏขึ้นมา (Adware) หรือที่เรียกว่า pop - up
2. ขโมยข้อมูลส่วนตัวในเรื่องคอมฯ ของคุณ โดยเฉพาะ username , password
3. เก็บข้อมูลการเข้าเว็บไซต์ต่าง ๆ และเว็บที่คุณชื่นชอบ ส่งไปยังผู้ที่ต้องการ
4. เว็บเริ่มต้นในการทำงาน ถูกเปลี่ยนไป
5. มีโปรแกรมใหม่ ๆ ถูกติดตั้งขึ้นมาโดยที่ไม่ได้มีการติดตั้ง
6. ค้นหาข้อมูลใน Search Engine จะมีความแตกต่างออกไปจากเดิม


การป้องกัน Spyware เบื้องต้น
1. ระวังเรื่องการ Download โปรแกรมจากเว็บไซต์ต่าง ๆ
2. ระวังอีเมลล์ ที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการแจกโปรแกรมฟรี เกี่ยวกับการกำจัด Spyware
3. ระหว่างการใช้งานอินเตอร์เน็ต ถ้มีหน้าต่างบอกให้คลิกปุ่ม Yes ระวังสักนิด อ่านรายละเอียดให้ดี อาจมี Spyware แฝงอยู่ แนะนำให้คลิก No ไว้ก่อน จะ ปลอดภัยกว่า
4. เมื่อมีหน้าต่าง pop-up ขึ้นมา แนะนำให้คลิ๊ก "X" แทนการคลิกปุ่มใด ๆ และโดยเฉพาะบริเวณป้ายโฆษณา นั่นอาจหมายถงคุณกำลังยืนยันให้มีกาติดตั้ง Spyware แล้ว
5. ตรวจสอบ ด้วยโปรแกรมกำจัด spyware อย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง สำหรับองค์กร แนะนำให้ตรวจสอบทุกวัน โดยเฉพาะเวลาพักทานข้าว ซึ่งถือได้ว่า เป็นเวลาที่เหมาะสมมากที่สุด
6. ใช้งานอินเตอร์เน็ตเฉพาะเว็บไซด์ที่น่าไว้ในเท่านั้น โดยเฉพาะการให้ข้อมูลสำคัญ เพื่อลงทะเบียน ถ้าไม่มีความจำเป็นต้องไปทำการลงทะเบียนควรละเว้นเสีย
7. เมื่อมีการ Request ให้ติดตั้งโปรแกรม ควรหลีกเลี่ยงและตรวจสอบก่อนคลิ๊กปุ่มใด ๆ โดยอ่านข้อความอธิบายก่อนที่จะทำการคลิก ถ้าจำเป็นต้องติดตั้ง ให้อ่าน คำแนะนำให้รอบคอบ
8. ถ้าสงสัยในเครื่องจะมี Spyware ให้ดูรายการโปรแกรมที่ติดต้งในเครื่อง แล้วทำการ Remove โปรแกรมที่ไม่รู้จักทิ้งเสีย
9. หาโปรแกรมที่ใช้ตรวจสอบ Spyware มาใช้งานโดยจะสามารถตรวจสอบ แล้วรายงาน และทำการลบโปรแกรมทิ้งได้ แต่ให้ระวังโปรแกรมบางตัว ที่แอบอ้าง ว่าเป็นตัวกำจัด Spyware แต่แท้จริงแล้วเป็น Spyware เสียเอง


การแก้ไขปัญหา Spyware & Adware โดยใช้ spyware cleaner
เราสามารถใช้โปรแกรมสำหรับการตรวจและกำจัดได้ เช่น Spybot Search & Destroy , Adware เป็นต้น ซึ่งโปรแกรมเหล่านี้เป็นฟรีแวร์ที่สามารถใช้งานได้จริง ประกอบด้วย

1. Spybot Search & Destroy - โปรแกรมที่ใช้ในการตรวจสอบและกำจัด
2. Lavasoft Ad-Ware - โปรแกรมที่ใช้ในการตรวจสอบและกำจัด
3. SpywareBlaster - โปรแกรมที่ใช้ในการป้องกัน
4. SpywareGuard - โปรแกรมที่ใช้ในการป้องกัน

ที่มา : http://www.it.mju.ac.th/virus_alert/spyware.htm

การเลือกใช้บริการ Web Hosting Service

การเลือกประเภท Web Hosting Service
สวัสดีครับ คราวนี้ผมเอาบทความเกี่ยวกับ web hosting มาให้อ่านกันครับ เป็นบทความจากนักเขียนนิรนาม ของ HostSearch.com เจ้าของบทความเค้าบอกว่า เอาไปใช้เพื่อการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เป็นไปในทางการค้าได้ แต่ห้ามดัดแปลงด้วยประการทั้งปวง! เราลองมาดูกันเลยครับว่า เจ้า Web Hosting Service ที่ว่านี่มันคืออะไร มีข้อดีอย่างไร ทำไมการทำธุรกิจในยุคปัจจุบันจึงต้องพึ่งพา Web Hosting Service เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง small business web site hosting มาดูกันครับ
ทุกวันนี้ จุดเด่นและคุณสมบัติพิเศษมากมายปรากฎในอุตสาหกรรม web hosting เรื่องเกี่ยวกับ web hosting นั้น มันไม่ได้ยากอย่างที่เราคิด ถ้าเด็ก 8 ขวบขี้มูกย้อย (snotty little 8-year old kid) สามารถทำ website ส่วนตัวที่ดูดีมีฟังชั่นต่างๆสมบูรณ์ แล้ว (การหา web host) มันจะยากตรงไหนล่ะ? สำหรับ hosting beginner การรู้เรื่องทางเทคนิคเกี่ยวกับอุตสหกรรม web hosting นั้นไม่ได้สำคัญเท่ากับ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ ประเภทของโฮสต์ที่เหมาะกับประเภทของ website ของคุณเลย...


โดยทั่วไปเราสามารถแบ่ง website ได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆดังนี้ครับ

1. Personal/Small Business Homepages (website ส่วนตัวหรือธุรกิจขนาดเล็ก)

2. E-Commerce Web Sites (website ที่ดำเนินธุรกิจออนไลน์เป็นหลัก)

3. Information Providers (website ที่คอยให้ข้อมูลข่าวสาร)

ประเภทของ web host ที่คุณจะเลือกก็ขึ้นอยู่กับประเภทของ website ของคุณด้วยครับ


Personal Homepage/Small Business Website


website ประเภทนี้ไม่ได้ต้องการอะไรมากมายครับ เพราะเป็น website ขั้นพื้นฐานที่ ใครก็สามารถทำได้ ถ้าคุณคิดจะสร้าง website ประเภทนี้ ก็ไม่ต้องขวนขวายอะไรมากมายหรอกครับ ลองพิมพ์ คำว่า “free web hosting” ใน Google ดู คุณก็หา free web host ได้แล้วครับ (อาจจะรวมถึง free blog ทั้งหลายแหล่ อย่างที่ผม กำลังทำอยู่ก็ได้ครับ)


E-Commerce Website


ถ้าคุณวางแผนจะทำธุรกิจ online ผ่านทาง website ของคุณล่ะก็ คุณก็คงต้องการ web host ที่มันซับซ้อนมากกว่า เว็บของเด็กแปดขวบครับ เพราะคุณต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับ space ของ web host ที่คุณจะใช้ หรือ ขนาดของ website ที่คุณจะสร้างขึ้นมา รวมถึงรู้วิธีคำนวณและจัดการกับ traffic หรือ data transfer ด้วยครับ เพราะฉะนั้น web hosting ที่เหมาะกับ e-commerce website ก็เป็นไปได้ 3 ประเภทครับ คือ Co-location (ฝากเครื่อง server ของเราไว้กับผู้ให้บริการซะเลย) , Dedicated Server (เช่าเครื่อง server ของผู้ให้บริการ) และ Virtual Hosting (เช่าพื้นที่ web server ที่มี websites อื่นๆเช่าอยู่ด้วย แต่ทำงานเสมือนเป็น server ย่อยๆ หลายเครื่อง) ซึ่ง web host แต่ละประเภทนั้น แตกต่างกันยังไง อ่านไปเรื่อยๆจะเจอเองครับ (ผมลืมไปเลยว่า ยังไม่เคยให้นิยาม คำว่า web hosting เลย เอาไว้คราวหลังจะกลับมาแก้ตัวครับ ตอนนี้ขอเขียนเรื่องนี้ให้จบก่อน ไม่งั้นลมปราณจะแตกซ่าน!)


Information Provider


เป็น website ประเภทที่ใหญ่ที่สุดครับ ต้องการความเชี่ยวชาญอย่างล้นเหลือในการออกแบบ และจัดการกับปริมาณของ traffic หรือ data transfer (ซึ่ง “เด็ก 8 ขวบขี้มูกย้อย” ไม่น่าจะทำได้!) ถ้าคุณคิดการใหญ่ อยากจะสร้าง website ประเภทให้ข้อมูลกับผู้ใช้ทั่วโลกาล่ะก็ คุณต้องลงทุนลงแรงหนักเป็นพิเศษครับ ควรจะมีเครื่อง server ไว้ครอบครองเป็นดีที่สุด พร้อมภูมิความรู้เรื่องระบบ network ทั้งหลายทั้งปวง ระดับคุรุ (เกินความสามารถที่ “ครุ ถัง กะละมัง” อย่างผมจะบรรยายได้หมด) ตัวเลือกรองลงมาก็ co-location server หรือ dedicated server ครับ แล้ว website ประเภทนี้ ก็เหมาะสำหรับ ผู้คิดการใหญ่และทุนอำนวยเท่านั้นครับ ไม่เหมาะกับ webmaster “จอมยุทธพเนจร หัวเดียวกระเทียมลีบ” แน่นอน เพราะคุณต้องสุมหัวกับพรรคพวกหนักหน่อย กว่าจะทำให้ website ของคุณปรากฏกายได้อย่างภาคภูมิ


Virtual Hosting

Virtual Hosting บางทีเรียกว่า Virtual Private Server (VPS) ซึ่งก็คือประเภทของ web host ที่แบ่งพื้นที่ใน server ขนาดใหญ่ให้เราเช่านั่นเองครับ ซึ่งเราต้องแชร์พื้นที่ร่วมกับ website หรือผู้เช่าคนอื่นๆใน server นั้นๆด้วย ข้อดีของ virtual hosting ก็คือ ประหยัดครับ เมื่อเทียบกับฟังชั่น และคุณสมบัติพิเศษอื่นๆที่คุณได้รับแล้ว ถือว่าคุ้มค่ากับการลงทุน แล้วก็หา web host ประเภทนี้ได้มากมายครับ ทั้งของไทยและของอินเตอร์ (บทความใน blog นี้ก็จะเน้นที่ web hosting ประเภทนี้แหละครับ) ข้อเสียก็มีครับ ถ้าเกิดคุณไปใช้เช่าพื้นที่ของ server ห่วยๆ ละก็ ความซวยจะตามมาครับ คุณอาจจะต้องเสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา (อาจถึงขั้นเสีย website ไปเลยก็ได้) แถมเสียหน้าอีกต่างหาก ถ้า website ของคุณล่ม (DOWN!) บ่อยๆ คงไม่มีผู้เยี่ยมชมที่ไหนปรบมือให้หรอกครับ


Co-location

Co-location Hosting หมายถึง คุณนำเอาอุปกรณ์และเครื่อง server ของคุณ ไปติดตั้งไว้กับผู้ให้บริการด้านระบบ network ซึ่งอาจจะหมายถึง ผู้ให้บริการ internet (ISP) ครับ ข้อดีของ co-location hosting ก็คือ คุณสามารถควบคุมและปรับแต่งการทำงานแทบทุกอย่างใน server ของคุณเองได้ตามประสงค์ แต่ข้อเสียก็คือ แพง! ขอรับเจ้านาย เพราะเครื่อง server เครื่องนึงไม่ใช่ กล้วยปิ้ง นะครับ ไหนจะต้องจ่ายค่าบำรุงรักษาเองอีก รวมถึงค่าจ้างผู้ชำนาญการในการติดตั้งและดูแลระบบอีกต่างหาก แต่ก็เหมาะกับ webmaster ผู้มีบุญญาวาสนาสูงหรือ webmaster ที่ทำงานให้กับองค์กรใหญ่ๆครับ ถ้าคุณไม่ไว้วางใจบริการของ web hosting ที่ไหนเลย และมีแรงจ่ายได้ไม่อั้น co-location hosting เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของคุณครับ




Dedicated Server

Dedicated Server Hosting หมายถึง คุณไปเช่า server ทั้งเครื่องจากผู้ให้บริการรายนั้นๆครับ เหมาะสำหรับ webmaster ที่เอาเป็นเอาตายกับการสร้าง website แต่ไม่ได้เกิดมาบนกองเงินกองทองครับ เพราะคุณจะสามารถควบคุม server ได้ในระดับสูง (แต่น้อยกว่าระดับ co-location hosting) มีพื้นที่ใช้สอยกว้างขวางสะดวกสบาย (a lot of disk space) แถมไม่ต้องห่วงเรื่องการจราจรติดขัด (a lot of bandwidth) เพราะคุณจะเป็น website อันเดียวใน server นั้นครับ สรุปแบบกำปั้นทุบดิน ว่า ข้อดีของ dedicated server hosting คือ เสียเงินน้อยกว่า co-location hosting ข้อเสียคือ เสียเงินมากกว่า virtual hosting นั่นเอง...

(ใครอยากอ่านต้นฉบับไปดูเองที่นี่ครับ hostsearch articles)

ที่มา : finewebhosting.blogspot.com

วันอาทิตย์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2551

แจ้งข่าวเรื่อง การลงทะเบียนเรียนเทอม2/51 MBE#8

แจ้งข่าวเรื่อง การลงทะเบียนเรียนเทอม2/51 MBE#8 ครับ
สวัสดีครับพี่น้องชาว MBE#8 ทุกท่านครับ ผมมีข่าวความก้าวหน้าเรื่อง การลงทะเบียนเรียนเทอม2/51 มาฝากครับ
ได้ข่าวว่าระบบทะเบียน จะเปิดให้พวกเราลงทะเบียนเรียนได้ระหว่างวันที่ 17 ต.ค. 51 - 22 ต.ค. 51 รวมถึงการชำระเงินก็น่าจะเป็นในช่วงเวลาเดียวกันนะครับ(อันนี้ไม่แน่ใจนะครับ เอกสถิติเค้าบอกมาน่ะครับ)
ส่วนวันเปิดเทอมของพวกเราก็คือวัน เสาร์ ที่ 1 พ.ย. 51 นะครับพี่น้อง ส่วนวิชาที่เราจะลงทะเบียนก็ตามตารางที่เราได้รับตอนวันปฐมนิเทศครับ คิดว่าหลายคนคงมีแล้ว (ผมจะส่งเมล์แนบไฟล์ให้สำหรับพี่น้องที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นนะครับ)

หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ทุกเวลานะครับ ขอให้พี่น้องทุกท่านตามข่าวสารการลงทะเบียนเรียนบ่อยๆนะครับ
ที่มา : เอก(สถิติ) ,บอย (นันทพงษ์)

วันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2551

นักเศรษฐศาสตร์เหรียญทอง

นักเศรษฐศาสตร์เหรียญทอง
(เผยแพร่ต่อได้เมื่อระบุว่านำมาจากบทความเรื่อง Economics Olympics โดย Fred Foldvary บรรณาธิการอาวุโส เว็บไซต์ The Progress Report ที่ http://www.progress.org/2008/fold574.htm )

คนที่เรียนวิชาทางด้านเศรษฐศาสตร์ เวลาเรียนเคยสงสัยกันบ้างมั้ยครับว่าเจ้าทฤษฎีทางด้านต่างๆไม่ว่าจะเป็น ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านการเงิน เศรษฐกิจ หรือแม้แต่ด้านการเมืองการปกครอง และอื่นๆอีกมากมาย ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกนั้น ใครเป็นผู้ที่คิดค้น หรือเป็นคนกำหนดขึ้นมา (ทำไมพวกเราต้องมาปวดหัวกับการทำความเข้าใจกับมันด้วย) แล้วถ้ามีการจัดลำดับนักเศรษฐศาสตร์ที่เก่งที่สุดในโลกล่ะ ใครจะได้ที่หนึ่ง !!.?.?.
คำถามนี้คงตอบได้ยากมากๆครับ เนื่องจากว่านักเศรษฐศาสตร์แต่ละคนก็มีความรู้ ความถนัดในเรื่องที่ตนเองสนใจเป็นพิเศษเท่านั้น คงไม่มีใครเก่งไปซะทุกเรื่อง จริงมั้ย แล้วเราจะรู้ได้ไงล่ะ ว่าใครเก่ง และมีผลงานโดดเด่นด้านไหนบ้าง ?? อย่าเสียเวลาไปหาคำตอบให้เซ็งจิต! เรามาดูกันเลยดีกว่าครับ...

สมมุติว่ามีการจัดเศรษฐศาสตร์โอลิมปิกเพื่อให้รางวัลแก่บรรดานักเศรษฐศาสตร์ทั้งอดีตและปัจจุบัน นักเศรษฐศาสตร์ต่อไปนี้จะได้เหรียญทอง:

การใช้คำอุปมาหรืออุปลักษณ์ (metaphor) ดีที่สุดทางเศรษฐศาสตร์: Adam Smith สำหรับคำว่า มือที่มองไม่เห็น

งานเขียนทางเศรษฐศาสตร์ดีที่สุดเชิงวรรณกรรม: Henry George ซึ่งมีการใช้งานเขียนของเขาในห้องเรียนภาษาอังกฤษ

นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจดีที่สุด: Milton Friedman สำหรับงานเขียนเกี่ยวกับฟังก์ชันด้านการบริโภคและประวัติเงินตราและการธนาคารในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (the Great Depression ทั่วโลก ค.ศ. 1929 - 1935)

ความคิดเริ่มแรก (original) ดีที่สุด: Mason Gaffney ในส่วนที่เกี่ยวกับ “quantum leap effect” หรือ การที่การผลิตลดลงอย่างมาก (downward jump) เมื่อบริษัทหนึ่งไม่สามารถผลักภาระภาษีได้ (ดูเรื่อง The Gaffney Quantum Leap Effect ที่ http://www.prosper.org.au/2008/07/02/the-gaffney-quantum-leap-effect )

นักเศรษฐศาสตร์ที่มีอิทธิพลสูงสุด: Karl Marx

นักเศรษฐศาสตร์ที่ดีน้อยที่สุด: John Maynard Keynes เพราะคิดว่าเราสามารถทำให้เกิดผลผลิต (output) เป็นหลาย ๆ เท่าของการใช้จ่ายของรัฐได้ราวกับใช้เวทมนตร์

นักปฏิรูปยิ่งใหญ่ที่สุด: Henry George ผู้เสนอให้ยกเลิกภาษีต่าง ๆ ที่ดูเหมือนเป็นการลงโทษ แล้วเก็บแต่ภาษีที่ดินเพื่อเป็นรายได้สาธารณะแทน

นักเศรษฐศาสตร์การธนาคารดีที่สุด: George Selgin สำหรับหนังสือของเขาเรื่อง ทฤษฎีการธนาคารเสรี (The Theory of Free Banking)

ผู้วิจารณ์ลัทธิสังคมนิยมดีที่สุด: Ludwig von Mises นักเศรษฐศาสตร์สำนักออสเตรียน

ทฤษฎีความรู้ที่ดีที่สุด: Friedrich Hayek โดยชี้ให้เห็นว่าความรู้เกี่ยวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นการกระจายการ (decentralized) อย่างไร และผู้วางแผนส่วนกลางไม่สามารถทราบได้

ทฤษฎีมูลค่าดีที่สุด: Carl Menger ผู้ก่อตั้งสำนักความคิดออสเตรียน

การคิดเชิงปริมาณดีที่สุดด้านการสูญเปล่าจากภาระตายตัวทางภาษี (dead weight loss of taxation): T. Nicolaus Tideman

ทฤษฎีการพัฒนาเศรษฐกิจดีที่สุด: Francois Quesnay นักเศรษฐศาสตร์ฝรั่งเศสสำนัก Physiocrat

นักทฤษฎีวิเคราะห์ดีที่สุด: David Ricardo สำหรับการวิเคราะห์จุดกำเนิดของค่าเช่าที่ดินและแนวคิดเรื่องความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ

ผู้สนับสนุนเสรีภาพดีที่สุด: Milton Friedman สำหรับหนังสือและการแสดงของเขาเรื่อง "Free to Choose"

นักจักรวรรดินิยมทางเศรษฐกิจดีที่สุด: Gary Becker สำหรับการประยุกต์เศรษฐศาสตร์กับอาชญากรรม การสมรส และด้านอื่น ๆ

นักเศรษฐศาสตร์อนาธิปไตยดีที่สุด: David Friedman สำหรับงานเขียนเรื่อง The Machinery of Freedom

ผู้บูรณาการเศรษฐศาสตร์กับจริยศาสตร์ดีที่สุด: Henry George

ดีที่สุดด้านเศรษฐศาสตร์สังคม: Edward Clarke สำหรับผลงานของเขาเกี่ยวกับการเปิดเผยอุปสงค์

ดีที่สุดด้านเศรษฐศาสตร์การปกครอง: James Buchanan สำหรับผลงานเกี่ยวกับการเลือกผลิตโภคภัณฑ์เพื่อมหาชน (public choice) และเศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ

ความคิดที่ลุ่มลึกที่สุด: Henry George “ไม่มีเหตุผลในธรรมชาติที่จะมีความยากจน” (There is in nature no reason for poverty.)

นักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปที่ดีที่สุด: Leon Walras สำหรับทฤษฎีดุลยภาพส่วนรวม (general equilibrium)

นักประวัติศาสตร์ความคิดทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุด: Joseph Schumpeter

ทฤษฎีดอกเบี้ยที่ดีที่สุด: Knut Wicksell นักเศรษฐศาสตร์สวีเดน

ผู้บูรณาการทฤษฎีที่ดีที่สุด: Mason Gaffney โดยบูรณาการทฤษฎีสินค้าประเภททุนของสำนักออสเตรียเข้ากับทฤษฎีที่ดินของ Henry George

ผู้พยากรณ์เศรษฐกิจเก่งที่สุด: Fred Harrison ผู้ทำนายว่าเศรษฐกิจจะถดถอยใน ค.ศ. 1990 และ 2008-10

นักเศรษฐศาสตร์เก่งที่สุดทางกราฟ: Alfred Marshall สำหรับการออกแบบเส้นอุปทานและอุปสงค์

ผู้ใช้คณิตศาสตร์เก่งที่สุด: Paul Samuelson

นักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมดีที่สุด: Arthur Cecil Pigou ภาษีที่เก็บจากการผลักผลกระทบทางลบออกภายนอก (tax on negative externalities) เช่น ภาวะมลพิษ ได้ตั้งชื่อตามชื่อของเขา คือ Pigouvian หรือ Pigovian tax

ตำราเศรษฐศาสตร์ดีที่สุด: Principles of Economics โดย Greg Mankiw

งานศึกษา (studies) ที่ดีที่สุดถึงสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ทำและคิด: Daniel Klein

นักการธนาคารกลางดีที่สุด: Paul Volcker ผู้หยุดเงินเฟ้อในทศวรรษที่เริ่มแต่ปี 1970

นักเศรษฐศาสตร์ดีที่สุดในรัฐบาลสหรัฐฯ ปัจจุบัน: (ไม่มี)

นักเศรษฐศาสตร์ที่ดีในระยะแรกสุด: Sir William Petty (1623-1687) นักเศรษฐศาสตร์บริติช

นักทฤษฎีเกมที่ดีที่สุด: John von Neumann

ผู้วิเคราะห์ดีที่สุดด้านแรงจูงใจมนุษย์: Adam Smith สำหรับเรื่องอัตประโยชน์ (self-interest) ในหนังสือ The Wealth of Nations และเรื่องการกระทำด้วยความเห็นใจ (sympathetic action) ในหนังสือ The Theory of Moral Sentiments

นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้เหรียญทองมากกว่า 1 เหรียญมี Adam Smith (2 เหรียญ) Henry George (4 เหรียญ) Milton Friedman (2 เหรียญ) Mason Gaffney (2 เหรียญ) ผู้ชนะเลิศได้แก่ Henry George!

(จากเว็บเศรษฐศาสตร์เพื่อความเป็นธรรม http://geocities.com/utopiathai )

การเขียน RESUME

หลายๆคน โดยเฉพาะนักศึกษาที่จบใหม่ เมื่อเรียนจบมาก็มีจุดมุ่งหมายที่ต่างกันออกไป บ้างก็เรียนต่อ บ้างก็ทำธุรกิจส่วนตัว หรือช่วยงานธุรกิจของครอบครัว อีกมากมายแล้วแต่ความฝันของแต่ละคน

แต่ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่เมื่อจบการศึกษามาแล้วก็ต้องอยากได้งานทำที่ดี อยู่ในบริษัทที่มั่นคง และมีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่งานในอนาคต ดังนั้นจึงมักจะมองหาบริษัทที่มีชื่อเสียงมาเป็นอันดับต้นๆเพื่อติดต่อในสมัครงาน แต่ปัญหาอย่างหนึ่งที่ผมพบมาก หรือแม้แต่ตัวผมเองก็คยเจอปัญหานี้ก็คือ การเขียนจดหมายแนะนำตัว หรือประวัติย่อของผู้สมัครงาน หรือที่เรียกว่า Resume หรือCurriculum Vitae(CV) สุดแท้แต่ใครจะเรียก

ซึ่ง Resume นี้เองจะเป็นเอกสารบริษัทใช้พิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครในเบื้องต้น นอกเหนือจากใบสมัครและ Portfolio (แฟ้มบันทึกสะสมผลงาน) ของผู้สมัครเอง เป็นต้น
เนื่องจาก Resume สามารถแสดงออกถึงทักษะหลายด้านของตัวผู้สมัครให้บริษัททราบได้ เช่น ข้อมูลส่วนตัวเบื้องต้นของผู้สมัครงาน ทักษะการเขียน การเรียงลำดับหัวข้ออย่างเป็นลำดับขั้นในการจะนำเสนอตัวเอง

เพราะฉะนั้นบริษัทใหญ่ๆ ก็มักจะมีการกำหนดให้ผู้สมัครงานต้องส่ง Resume เป็นหลักฐานประกอบการสมัครงานนั้นๆด้วย นั่นเอง

เห็นมั้ยครับว่า Resume นั้นสำคัญมากแค่ไหน ซึ่ง Resume ที่ดีนั้น ก็เท่ากับว่าเป็นใบเบิกทางที่ดีของผู้สมัครงาน สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน อันจะนำไปสู่จุดมุ่งหมายของผู้สมัครงานได้ง่ายขึ้นเช่นกัน เผลอๆอาจจะสามารถส่งผลต่อการสร้าง prefirst impression หรือความประทับใจก่อนแรกพบได้เลยก็เป็นได้
หลายคนคงเริ่มสงสัยแล้วสินะครับ ว่า เอ๊ะแล้วเราจะเขียน Resume ให้โดนใจได้ไงล่ะ ดังนั้นผมมีคำแนะนำที่น่าสนใจในการเขียน Resume ที่ดี รวมถึงตัวอย่าง และแบบฟอร์มในการเขียนมาฝากครับ

คำแนะนำ

1. เน้นเขียนข้อมูลที่คาดว่าจะมีผลต่อการสมัครงานของเราเป็นหลัก ไม่นอกเรื่อง

2. ต้องเขียนให้กระชับพอดี มีเนื้อหาครอบคลุมพอสมควร ไม่สั้นหรือยาวจนเกินไป ซึ่งอาจทำให้คนอ่านรู้สึกว่าไม่น่าสนใจ

3. ควรมีความรู้ภาษาอังกฤษพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่จบปริญญาตรีขึ้นไปควรเขียน Resume ด้วยภาษาอังกฤษ ซึ่งจะทำให้เรามีโอกาสในการพิจารณามากกว่า ถึงแม้ว่าเราจะเขียนไม่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์แบบ 100% ก็ตาม แต่ขอให้อ่านแล้วพอเข้าใจก็นับว่าใช้ได้แล้ว

4. ควรใช้ภาพถ่ายที่น่าเชื่อถือ ดูเป็นทางการประกอบร่วมกับ Resume ซึ่งจะทำให้ Resume ของเรามีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น (ไม่จำเป็นต้องหน้าตาดีนะครับ ขอให้ดูเรียบร้อย สุภาพ ก็ใช้ได้แล้วล่ะครับ)

5. ขอให้ระลีกไว้เสมอว่า Resume คือสิ่งสำคัญที่สุดในการสมัครงาน เพราะบริษัทจะพิจารณาว่าเรามีคุณสมบัติเหมาะสมหรือไม่ก็จะดูจาก Resume นี้ ดังนั้นก่อนการเขียน Resume เราควรศึกษาให้ละเอียดก่อนว่าข้อมูลที่ต้องเขียนใน Resume มีอะไรบ้าง, ต้องวางลำดับข้อมูลก่อนหลังอย่างไร, อะไรที่ควรเขียนหรือไม่ควรเขียนใน Resume หลังการเขียนเสร็จเราควรอ่านทวนหลายๆรอบ เพื่อให้ได้ Resume ที่สมบูรณ์ที่สุด และไม่มีคำผิด

ข้อพึงระวัง


1. ไม่ควรเขียนข้อมูลฟุ่มเฟือยสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อสมัครงาน และไม่เขียนสิ่งที่เป็นจุดบกพร่องของตนเอง
2. พื้นที่ในการเขียนรวมแล้วไม่ควรยาวเกินกว่า 2 หน้ากระดาษ A4

3. พยายามอย่าทำให้กระดาษที่เขียนเลอะเทอะ สกปรกหรือมีรอยลบด่างดำจนไม่น่าดู รวมถึงไม่ควรใช้ลิขวิดเปเปอร์ในการลบคำผิดด้วยนะครับ (เพื่ออนาคต เขียนใหม่ยังดีกว่าส่งไปแบบชุ่ยๆจริงมั้ยครับ)

ตัวอย่างการเขียน Resume ครับ

18/8 Soi Buathong Village
Pracharaj Rd., Muang District
Nonthaburi 11000

May 21, 2002

Personnel and Administration Department
ThaiCabinCrew Airlines Corporation Limited
103 Soi Sukhumwit 32 Klongton,
Klongtoey, Bangkok 10110

Dear Sir,

I have learned that ThaiCabinCrew Airlines now needs the staff to join the working team. I am confident that my qualifications and capabilities will fulfill the requirements so I would like to apply for the position of Flight Attendant.

I am 22 years old, make a good appearance and get along exceedingly well with people. I graduated with a Bachelor's Degree in Humanities, majoring in English and minoring in Hotel and Travel Industry Management from Chiang Mai University. I can communicate very well both in written and spoken English. Although I have never worked in the Aviation field before, I am an enthusiastic person and willing to learn to work. Also, I can perform well in an international and teamwork environment.

Realizing that this summary, as well as my resume, cannot cover my qualifications in-depth, I would appreciate if you could grant me an opportunity to discuss with you in person at your most convenience.

Lastly, I would like to thank you for your time considering my rough introduction and I look forward to hearing from you soon.


Sincerely yours,

-your signature here-

Kamhaengharn Saeng La-fah

Enc.: Resume, Transcript, and Photograph



Curriculum Vitae

Kamhaengharn Saeng La-fah
18/8 Soi Buathong Village, Pracharaj Rd., Muang District
Nonthaburi 11000 Tel:0-123-4567
E-mail: kamhaengharn@hotmail.com


APPLICATION FOR : Flight Attendant

EDUCATION

1998-2002
: Chiang Mai university

Faculty of Humanities

Major: English, emphasis on conversational skill
Minor: Hotel and Travel Industry Management
1992-1998
: Suankularb College, Bangkok
Emphasis on English and German


PERSONAL DATA

Age
: 21 years old
Date of Birth
: November 6,1980
Sex
: Male
Marital status
: Single
Nationality
: Thai
Religion
: Buddhist
Height
: 176 cms.
Weight
: 65 kgs.

ACTIVITY
Computer skills
: Microsoft Office, Photoshop, Dreamweaver
Hobbies
: Reading, Travelling
Sports
: Swimming, Rugby football, Football
Activities
: University computer club's membership


REFERENCES

Mr. Thao Thai Jai Harn: Manager, Thai Flying High Training School, Don Muang, Bangkok Tel: 0-234-5678
Mr. Kon Arom Sia: Lecturer, Faculty of Sciences, Chiang Mai University

ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.thaicabincrew.com/mainwebsite_html/html/aircrew_resume.htm

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


อันนี้สามารถใช้ได้ทั้งสมัครงาน หรือสมัครขอทุนเรียนต่อก็ได้ครับ (ตัวอย่างแบบฟอร์มจากทุนมูลนิธิฟอร์ด)



Sample Resumé

Ms. Sumalee Khonngarm

Personal Details

Date of Birth: February 29, 1972

Marital Status: Single

Contact Address: 82 Moo 5 Ban Thamuang

Muang, Udonthani 41000

Tel. 042-123456

Fax. 042-123457

Mobile. 01-9999999

Education Rajabhat Institute Udonthani, Udonthani

Bachelor of Arts in English, 1991-1995, G.P.A. 2.87

Ban Thamunag School, Udonthani, 1991-1983, G.P.A. 2.92

Work Experience

Ban Thamuang School

Teacher, 1997-present

Ø Teaching English language to students of Mattayom5-6

Ø Giving advise to students

Ø Preparing lesson plans, teaching materials and tests

Ban Nok Noi School

Teacher, 1995-1997

Ø Taught English language to students of Prathom 1-2

Ø Prepared lesson plans, teaching materials and tests

Training

Certificate of Teaching English, Thammasat University, 1997

Computer skills

Microsoft Word, Power Point, Internet

Language skills

English, Northeast Dialect

Special Trips Abroad

English Language Teacher’s Conference, August 1998, Malaysia


------------------------------------------------------------------------------------------------------

ทราบเทคนิคการเขียน Resume และตัวอย่างรวมทั้งแบบฟอร์มการเขียนต่างๆ แล้ว ก็อย่าลืมนำไปใช้กันนะครับ จำไว้ว่า " พาหนะที่ดีกว่า ย่อมได้เปรียบในการเดินทางไปสู่จุดมุ่งหมายได้ดีกว่า ครับ "