วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

เศรษฐศาสตร์ กับ การตลาด เกี่ยวข้องกันอย่างไร?

เศรษฐศาสตร์ กับ การตลาด เกี่ยวข้องกันอย่างไร? (Economics and Marketing?)
สวัสดีครับพี่น้องชาวMBE#8ทุกท่าน
คราวนี้เราพักเรื่องราวเกี่ยวกับการทำวิทยานิพนธ์ของผมไว้ก่อนดีกว่าครับ เนื่องจากผมไปอ่านเจอบทความหนึ่งซึ่งคิดว่าน่าสนใจมากๆ(สำหรับผม) เพราะเป็นแนวคิดพื้นฐานของคนที่เรียนเกี่ยวกับการตลาดและเศรษฐศาสตร์ ผมคิดว่าอย่างน้อยก็น่าจะจำเป็นต้องรู้ไว้วง่าทั้งเศรษฐศาสตร์ และ การตลาด เกี่ยวข้องกันอย่างไร? โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ " ด้วยแล้วยิ่งต้องรู้!
ความเหมือนหรือความแตกต่างของทั้งเศรษฐศาสตร์ กับ การตลาด จะเป็นอย่างไรบ้าง เราลองมาดูกันครับ





เศรษฐศาสตร์ กับ การตลาด เกี่ยวข้องกันอย่างไร? (Economics and Marketing?)

บทนำ

หากจะกล่าวถึงวิชาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ศึกษาถึงความต้องการของคนที่มีอยู่อย่างไม่จำกัดเมื่อเทียบกับทรัพยากรอันจำกัดที่มีอยู่บนโลกแล้วนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่กล่าวถึง ความต้องการ หรือ อุปสงค์ (Demand) เนื่องจากความรู้ความเข้าใจในอุปสงค์ เป็นพื้นฐานในการศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเราเข้าใจถึงความต้องการของมนุษย์แล้วนั้น จะสามารถตอบปัญหาพื้นฐานทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่ว่า จะผลิตอะไร? ผลิตอย่างไร? และผลิตเพื่อใคร? (What? How? for Whom?) ได้ เพราะเมื่อได้ศึกษาถึงความต้องการของคนแล้วจะสามารถเชื่อมโยงถึงการศึกษาเรื่อง ทฤษฎีการบริโภค ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์นั้น การบริโภคจะขึ้นอยู่กับอรรถประโยชน์ หรือ ความพอใจ (Utility) โดยอธิบายว่าการบริโภคสินค้าในแต่ละหน่วยจะทำให้ความพอใจลดลง ซึ่งความพอใจของแต่ละบุคคลก็จะแตกต่างกันไป ดังนั้นจึงต้องศึกษาถึงความต้องการของผู้บริโภคซึ่งมีอยู่หลากหลายรูปแบบด้วยเช่นกัน ส่วน การตลาด นั้น เป็นศาสตร์ที่ศึกษาถึง กิจกรรมของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล เพื่อให้เกิดการสนองความต้องการของบุคคลเหล่านั้น โดยผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยน ซึ่งการตลาดนั้นเป็นหน้าที่หนึ่งในการบริหารธุรกิจ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ทั้งเศรษฐศาสตร์และการตลาดนั้น เป็นการศึกษาถึงความต้องการและการสนองความต้องการของมนุษย์นั่นเอง

ความต้องการ (Needs, Wants, Demands)

ความต้องการของมนุษย์นั้น เริ่มมีมาตั่งแต่เกิดจนกระทั่งเสียชีวิต เช่น เด็กแรกเกิดต้องการ นม อาหาร ความรัก ความอบอุ่นจากแม่ จนเมื่อโตไปจนกระทั่งเสียชีวิตไปแล้วก็ยังต้องการพิธีศพที่ใหญ่โต เป็นต้น ความต้องการของคนตอนที่ยังมีชีวิตนั้นมีอยู่หลากหลาย และความต้องการของแต่ละคนก็จะมีไม่เท่ากัน แตกต่างกันไป เช่น ของสิ่งหนึ่งอาจเป็นที่ต้องการของคนกลุ่มหนึ่ง ในขณะที่ของสิ่งนั้นอาจไม่เป็นที่ต้องการของคนอีกกลุ่มหนึ่งเลยก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ยาเสพติด เป็นต้น ดังนั้นการที่จะเข้าใจถึงลักษณะความต้องการของคนแต่ละคนนั้น เป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ และนักการตลาดสนใจ ซึ่งความต้องการสามารถแยกออกเป็นประเภทได้ดังนี้

ความต้องการระดับ Needs

ความต้องการของมนุษย์ในระดับนี้นั้น หมายถึง ความต้องการความจำเป็นขั้นพื้นฐานเพื่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เช่น ความต้องการ อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เครื่อวนุ่งห่ม เป็นต้น ซึ่งถ้ามนุษย์ขาดสิ่งที่จะมาสนองความต้องการระดับนี้ การดำเนินชีวิตอาจสิ้นสุดลง หรือเป็นไปได้ด้วยความยากลำบาก ดังนั้น มนุษย์ทุกคนจึงต้องดิ้นรนเพื่อตอบสนองความต้องการระดับนี้เพื่อให้ชีวิตอยู่รอด แต่เมื่อมนุษย์ได้รับสิ่งที่มาสนองความต้องการเหล่านี้แล้ว ก็อาจเกิดความต้องการในระดับที่สูงขึ้นไปอีก ซึ่งเรียกว่าเป็นความต้องการระดับ Wants

ความต้องการระดับ Wants

ความต้องการของมนุษย์ในระดับนี้นั้น หมายถึง ความต้องการความที่ไม่ใช่สิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานเพื่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ แต่สิ่งที่จะมาสนองความต้องการในระดับนี้ จะมีลักษณะเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ซึ่งเป็นความต้องการที่เป็นการ อยากได้ มากกว่า จำเป็น เช่น ชื่อเสียง เงินทอง บ้าน รถ สิ่งของฟุ่มเฟือยต่างๆ เป็นต้น ซึ่งจริงๆแล้วถ้ามนุษย์ขาดสิ่งที่จะมาสนองความต้องการระดับนี้ก็ไม่เป็นไรดังนั้น มนุษย์บางกลุ่มจึงต้องดิ้นรนเพื่อตอบสนองความต้องการระดับนี้ ทำให้ความต้องการในระดับนี้เปลี่ยนแปลงได้บ่อยตามปัจจัยทางสังคมที่มีอิทธิพลต่อบุคคลแต่ละคน

ความต้องการระดับ อุปสงค์ Demands

ความต้องการในระดับนี้นั้น หมายถึง ความต้องการอีกระดับหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะประกอบด้วยความต้องการแล้วยังต้องมีอำนาจซื้อหนุนหลัง และเจ้าของความต้องการนั้นมีความเต็มใจที่จะจ่ายเงิน หรือกล่าวอีนัยหนึ่งก็คือ ความต้องการซื้อ นั่นเอง ซึ่งไม่ได้หมายถึงความต้องการในระดับ Wants แต่เป็นความต้องการที่มีอำนาจซื้อ (Purchasing Power) กำกับอยู่ด้วย กล่าวคือ ผู้บริโภคจะต้องมีเงินเพียงพอ และต้องมีความเต็มใจ (Ability and Willingness to pay) ที่จะจ่ายซื้อสินค้าและบริการนั้นๆได้ด้วย ซึ่งความต้องการในระดับอุปสงค์นี้ จะก่อให้เกิดการซื้อขายสินค้ากันขึ้นได้ และความต้องการในระดับอุปสงค์นี้ เป็นความต้องการที่ นักเศรษฐศาสตร์ และนักการตลาดสนใจ

ประเภทของ อุปสงค์ (Demands) กับ การตลาด

ความต้องการหรืออุปสงค์ (Demand) มีความหมายเฉพาะในวิชาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งอาจให้คำจำกัดความได้ว่า อุปสงค์สำหรับสินค้า และบริการชนิดใดชนิดหนึ่ง หมายถึงจำนวนต่างๆของสินค้าและบริการชนิดนั้นที่ผู้บริโภคต้องการซื้อในระยะเวลาหนึ่ง ณ ระดับราคาต่างๆกันของสินค้าชนิดนั้น หรือ ณ ระดับรายได้ต่างๆของผู้บริโภค ดังนั้น ความต้องการหรืออุปสงค์จึงเป็นจุดเริ่มต้นของงานการตลาด และเศรษฐศาสตร์ มุ่งที่จะวัดระดับความต้องการ (ระดับอุปสงค์) หรือความหยืดหยุ่นของอุปสงค์ ในขณะที่นักการตลาดสนใจที่จะแยกประเภทของความต้องการ (อุปสงค์) โดยเห็นความสำคัญว่า ความต้องการที่แฝงอยู่ในตัวคนอาจมีหลายประเภท และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยใช้เครื่องมือทางการตลาด ซึ่งทั้งหมดอาจแยกได้เป็นประเภทต่างๆ ดังนี้

1) อุปสงค์เป็นลบ (Negative Demand)
หมายถึง ผู้บริโภคมีความสนใจสินค้าเป็นลบ เป็นความต้องการที่ไม่ใช่เพียงแต่ไม่มีความต้องการในสินค้านั้นๆ แต่ความต้องการเป็นลบหมายถึง ผู้บริโภคยินยอมที่จะเสียเงินเพื่อหลีกเลี่ยงการบริโภคสินค้านั้น ยกตัวอย่างเช่น คนทั่วไปกลัวการถูกฉีดยา ฉีดวัคซีน กลัวการไปหาหหมอฟัน หรือ กลัวการบริโภคอะไรก็ตามที่จะเกิดผลเสียต่อตนเอง จึงยอมจ่ายเงินเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการบริโภคสินค้าเหล่านั้น เป็นต้น ดังนั้น นักการตลาดจะต้องแยกแยะว่า เหตุใดตลาดจึงไม่นิยมสินค้านั้น และต้องวางแผนการตลาดเพื่อเปลี่ยนแปลงความเชื่อ หรือทัศนคติของคนเหล่านั้น โดยอาศัยวิธีทางการตลาด ซึ่งอาจอยู่ในรูปของการเปลี่ยนแปลงสินค้า หรือการส่งเสริมการตลาด เช่น เปลี่ยนวัคซีนเป็นแบบรับประทานแทนการฉีด หรือชักชวนให้คนไปตรวจฟันจนเป็นนิสัย เป็นต้น

2) ไม่มีอุปสงค์ (No Demand)
หมายถึง ผู้บริโภคหรือกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ขาดความสนใจ ไม่สนใจในสินค้า หรือไม่เห็นความแตกต่างของสินค้า ยกตัวอย่างเช่น เกษตรกรไม่สนใจวิธีการเพาะปลูกแบบใหม่ เพราะไม่รู้ว่าให้ผลผลิตสูงกว่าแบบเก่า และต้นทุนลดลงกว่าเดิม หรือ คนไข้ป่วยด้วยโรคปวดศรีษะไม่รู้ว่ามีการรักษาโรคปวดศรีษะโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ดังนั้นการตลาดต้องพยายามหาทางที่จะแสดงผลประโยชน์ของสินค้านั้น ให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย โดยเน้นการตลาดด้านการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายให้เกิดความสนใจและติดตามในรายละเอียด

3) อุปสงค์แฝง (Latent Demand)
หมายถึง ความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งที่มีต่อสินค้าชนิดหนึ่ง แต่ไม่สามารถเข้าถึงสินค้าหรือบริการบางอย่างนั้นได้ ซึ่งมีผู้บริโภคจำนวนมากที่ต้องการสินค้าหรือบริการบางอย่างที่ไม่อาจตอบสนองได้ด้วยสินค้าที่มีอยู่ ยกตัวอย่างเช่น คนที่ไม่มีแฟนต้องการบริษัทจัดหาคู่ที่ดี คนหัวล้านต้องการยาปลูกผมที่ให้ผลรวดเร็ว หรือคนที่เป็นโรคเอดส์ต้องการหาหมอโดยไม่เปิดเผยข้อมูล (คลีนิคนิรนาม) เป็นต้น ดังนั้น งานของนักการตลาดคือ หาทางผลิตสินค้าใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค หรือปรับปรุงแก้ไขสินค้าให้เหมาะกับความต้องการและเผยแพร่ข้อมูลของสินค้าด้วยวิธีที่เหมาะสม

4) อุปสงค์ถดถอย (Falling Demand)
หมายถึง ความต้องการในสินค้าและบริการต่างๆนั้นลดลง ซึ่งเป็นปัญหาที่ธุรกิจหลายๆแห่งต้องประสบกับอุปสงค์ของสินค้าบางตัวหรือหลายตัวลดต่ำลง เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น สินค้าบางตัวเมื่อมีการออกสู่ตลาดใหม่ๆ ก็จะมีความต้องการสูง หรือเป็นไปตามแฟชั่น แต่ระยะเวลาต่อมาคนเริ่มลดความนิยมลงไป หรือ ในปัจจุบันนี้คนเริ่มเข้าวัดน้อยลง จำนวนนักเรียนที่สมัครเข้าเรียนในโรงเรียนลดน้อยลง เป็นต้น ดังนั้น นักการตลาดต้องวิเคราะห์ถึงสาเหตุแห่งความต้องการที่ลดลงนั้น และปรับปรุงแก้ไขในลักษณะหาตลาดเป้าหมายใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของสินค้า หรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ดีขึ้นกว่าเดิม

5) อุปสงค์ไม่สม่ำเสมอ (Irregular Demand)
หมายถึง ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามวันเวลา ทำให้มีธุรกิจหลายอย่างที่ประสบกับปัญหาอุปสงค์มีขนาดไม่สม่ำเสมอนี้ ซึ่งความต้องการส่วนใหญ่จะเปลี่ยนไปตามเวลา เช่น วัน ชั่วโมง หรือฤดูกาล ก่อให้เกิดปัญหารการทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น ร้านขายอาหารจะขายอาหารได้มากในช่วงเวลาตอนเที่ยง หรือตอนเย็น การจราจรจะติดขัดในช่วงเวลาเร่งด่วน ที่พักชายทะเลจะมีคนมาจองมากในช่วงฤดูร้อน หรือวันสุดสัปดาห์ วันหยุดเทศการต่างๆ เป็นต้น ดังนั้นนักการตลาดจะต้องหาทางเปลี่ยนแปลงขนาดของอุปสงค์ตามเวลาให้มีความสม่ำเสมอมากขึ้น โดยใช้เครื่องมือทางการตลาดที่เหมาะสม โดยอาจใช้การส่งเสริมการขาย การประชาสัมพันธ์ เช่นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมีคำขวัญที่ว่า "เที่ยวไทยไปได้ทุกเดือน" เป็นต้น

6) อุปสงค์เต็ม (Full Demand)
หมายถึง ความต้องการในสินค้าและบริการของผู้บริโภคนั้น เท่ากับกำลังการผลิตของธุรกิจพอดี ซึ่งเป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ และนักการตลาดต้องการ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นดุลยภาพของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ดังนั้น นักการตลาดจะต้องหาทางรักษาระดับของอุปสงค์นี้ให้คงอยู่ตลอดไป เนื่องจากอุปสงค์จะเปลี่ยนแปลงไปตามภาวะต่างๆ เช่น รสนิยมของผู้บริโภค รายได้ หรือ ภาวะการแข่งขัน เป็นต้น การรักษาระดับอุปสงค์นี้อาจอยู่ในรูปของการรักษาคุณภาพของสินค้าและบริการ หรือ ปรับปรุงสินค้าและบริการนั้นให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

7) อุปสงค์ล้น (Overfull Demand)
หมายถึง ความต้องการในสินค้าและบริการของผู้บริโภค บางชนิดนั้นมีมากเกินกว่ากำลังการผลิตของธุรกิจ และเป็นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งนักการตลาดควรหาทางลดอุปสงค์เหล่านี้ลงอย่างชั่วคราวหรือเป็นการถาวร ซึ่งงานการตลาดในทำนองนี้อาจจะทำได้ไม่ยากนัก ยกตัวอย่างเช่น การขึ้นราคาสินค้าหรือบริการให้มีราคาที่สูงขึ้น การลดการส่งเสริมการจำหน่าย แต่ควรที่จะเลือกลดอุปสงค์ของตลาดที่ทำกำไรน้อย แต่อย่างไรก็ตาม การลดอุปสงค์ไม่ใช่การทำลายอุปสงค์ แต่เป็นการทำให้ระดับของอุปสงค์นั้นมีขนาดที่พอเหมาะกับธุรกิจที่จะให้บริการได้ เท่านั้น

8) อุปสงค์ไม่พึงปรารถนา (Unwholesome Demand)
หมายถึง ความต้องการสินค้าและบริการของผู้บริโภคกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีความต้องการในสินค้าที่ไม่พึงปรารถนาของสังคมส่วนรวม ดังนั้นหากธุรกิจใดรับผิดชอบอยู่ จะไม่ได้รับการอนุญาตให้ส่งเสริมการบริโภค ยกตัวอย่างเช่น บุหรี่ อาวุธ เป็นต้น ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของนักการตลาดที่ควรจะส่งเสริมให้ผู้บริโภคลด หรือยกเลิกการบริโภคสินค้าเหล่านี้ โดยการใช้เครื่องมือทางการตลาดต่างๆ เช่น การโฆษณา การประชาสัมพันธ์กระจายข่าวไปยังกลุ่มผู้บริโภค ในขณะเดียวกันก็ควรหาทางขยายธุกิจไปยังกิจการที่ไม่มีปัญหาหรือส่งเสริมสังคมในทางที่ดีขึ้น

ความสำคัญของเศรษฐศาสตร์และการตลาดต่อระบบเศรษฐกิจ

เศรษฐศาสตร์และการตลาด มีส่วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ในภาพรวมของระบบเศรษฐกิจซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น การผลิต การกระจายสินค้าและการบริโภค ดังนั้นการตลาดมีบทบาทสำคัญในแง่ของการกระจายสินค้า โดยทำให้ผู้บริโภคได้รับอรรถประโยชน์สูงขึ้นในแง่ของผลิตภัณฑ์ สถานที่จำหน่าย เวลา และขนาดของสินค้าที่จำหน่าย นักเศรษฐศาสตร์และนักการตลาดพยายามที่จะทำความเข้าใจ ค้นหา วิจัย เกี่ยวกับความของการและพฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงสินค้า ทำให้ผู้บริโภคมีความพอใจมากขึ้นกว่าเดิม และการแข่งขันในเชิงการตลาดนั้นทำให้ผู้บริโภคได้บริโภคสินค้าที่ถูกลงและคุณภาพดีขึ้น และนอกจากจะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจเจริญก้าวหน้าแล้วนั้น กิจกรรมทางการตลาดยังเป็นการสร้างงานจำนวนมากให้เกิดขึ้นในกลุ่มประชากรของประเทศ และช่วยลดปัญหาการว่างงานที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจชะงักงันอีกด้วย

ในส่วนของความหมายในแง่ที่เป็นศาสตร์นั้น เศรษฐศาสตร์ และการตลาด เป็นศาสตร์ที่ศึกษาถึงพฤติกรรมของมนุษย์ในทางเศรษฐกิจ โดยเศรษฐศาสตร์ได้ให้ความคิดพื้นฐานแก่การตลาดในหลายเรื่อง เช่น เรื่องของความต้องการของคนที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด เมื่อเทียบกับทรัพยากรที่มีอยู่ในโลก ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ว่า จะผลิตอะไร ผลิตอย่างไร และผลิตเพื่อใคร ซึ่งความคิดนี้นักการตลาดได้นำมาเป็นข้อคิดในการผลิตสินค้าเพียงแต่เรียงลำดับความคิดใหม่ว่า จะผลิตสินค้าเพื่อใคร และใครเป็นผู้บริโภค แล้วจึงผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ส่วนในด้านเศรษฐศาสตร์นั้นได้อธิบายการบริโภคทั้งในด้านจุลภาค และมหภาค ในระดับเศรษฐศาสตร์จุลภาคนั้น การบริโภคจะขึ้นอยู่กับอรรถประโยชน์ หรือความพอใจ โดยการบริโภคสินค้าเพิ่มขึ้นแต่ละหน่วยจะทำให้ความพอใจลดลง ส่วนอีกแนวคิดหนึ่งคือ ความพอใจไม่สามารถวัดออกมาเป็นหน่วยได้ แต่ผู้บริโภคก็สามารถแสวงหาความพอใจสูงสุดได้ จากการบริโภคภายใต้งบประมาณที่มีจำกัดอยู่จำนวนหนึ่ง ถ้ารายได้เพิ่มหรือราคาสินค้าลดลง ผู้บริโภคก็จะได้รับความพอใจมากขึ้น ส่วนแนวคิดในระดับมหภาค การบริโภคของประเทศจะแปรไปในทางเดียวกับรายได้ประชาชาติ แนวคิดดังกล่าวให้ประโยชน์แก่การตลาดคือ ทราบว่าการบริโภคของคนจะแปรเปลี่ยนไปตามรายได้ ราคาสินค้า และลักษณะสินค้า เป็นต้น นอกจากนี้ เศรษฐศาสตร์ยังให้แนวคิดเกี่ยวกับการคาดคะเนอุปสงค์ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อช่วยให้ผู้ผลิตตัดสินใจว่า การลงทุนหรือการขยายกิจการนั้นคุ้มค่าเพียงใดหรือไม่ ลักษณะของตลาดมีผู้ขายกี่คน สภาพของการแข่งขันเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ เศรษฐศาสตร์ยังให้แนวคิดเกี่ยวกับการคาดคะเนอุปสงค์ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อช่วยให้ผู้ผลิตตัดสินใจว่า การลงทุนหรือการขยายกิจการนั้นคุ้มค่าเพียงใดหรือไม่ ลักษณะของตลาดมีผู้ขายกี่คน สภาพของการแข่งขันเป็นอย่างไร อำนาจในการกำหนดราคา หรือปริมาณขายมีมากน้อยเพียงใด การคำนวณต้นทุนเพื่อตั้งราคาขาย หรือการขยายกิจการโดยดูจาก ต้นทุนส่วนเพิ่ม และรายรับส่วนเพิ่ม ซึ่งแนวความคิดทั้งหมดนี้ทำให้นักการตลาดได้ความคิดพื้นฐาน เพื่อวางแผนและตัดสินใจในการตลาดต่อไป

ที่มา : "เศรษฐศาสตร์น่ารู้" ส่วนนโยบายการออมและการลงทุนในภาพรวม, สำนักนโยบายการออมและการลงทุน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, กระทรวงการคลัง http://www.fpo.go.th/s-i/Index.php?body=./Source/Data/DataIndex.php&Language=Thai&DBIndex=mysql