วันอังคารที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2552

งบสนับสนุน 2,000 พันบาทต่อหัว จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือ?

งบสนับสนุน 2,000 พันบาทต่อหัว จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือ?
สวัสดีครับพี่น้องชาว MBE#8 ทุกท่าน คราวนี้เรามาโฟกัสในเรื่องงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมในปี พ.ศ. 2552 ของรัฐบาลกันหน่อยดีกว่าครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งบสนับสนุน 2,000 พันบาทต่อหัวของรัฐบาล ซึ่งผมเคยยกตัวอย่างเกี่ยวกับสมการ GDP โดยการกระตุ้นการบริโภคของภาคประชาชน ผ่านการการใช้จ่ายของภาครัฐบาลและส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของ GDP ไปแล้วในครั้งก่อน




แต่มาคราวนี้ในช่วงที่ผ่านมาได้มีหลายกระแสเกี่ยวกับความกังวลและความเคลือบแคลงใจที่เพิ่มมากขึ้นของหลายฝ่าย ว่าวิธีการนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือ? ประชาชนจะนำเงินไปใช้จ่ายจริงหรือ? หรือว่าจะเอาเงินที่ได้รับไปเก็บออมซะมากกว่า? นี่เป็นตัวอย่างคำถามที่ได้ยินกันมาตั้งแต่ต้น และยิ่งได้ยินชัดมากขึ้นเนื่องจากว่ารัฐบาลจะต้องมีการจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ประชาชนภายในเดือนมีนาคม-เมษายา นี้แล้ว แต่ก่อนที่เราจะไปวัดผลที่เกิดขึ้นจริงในอนาคตนั้น เรามาลองอ่านบทความที่น่าสนใจนี้กันดูซักหน่อยนะครับว่า งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมดังกล่าวของรัฐบาลนั้น แท้ที่จริงแล้วมันน่าเป็นห่วงอย่างที่หลายฝ่ายคิดกันหรือไม่?

งบประมาณเพิ่มเติม 2552 ใครว่าไม่น่าห่วง?
คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ โดย ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ ศาสตราจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มติชนรายวัน วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11309

งบประมาณเพิ่มเติม หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า งบประมาณกลางปี เสนอโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว (เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2552) ขั้นตอนที่เหลือคือ การประกาศเป็นกฎหมายและการเบิกจ่ายงบประมาณออกจากคลังแผ่นดิน

กว่าเม็ดเงินจะผ่านส่วนราชการลงไปในระบบเศรษฐกิจก็คงหลังเดือนเมษายนเป็นต้นไป

สื่อมวลชนและคนทั่วไปอาจจะมองว่า "ผ่านไปแล้ว" จึงติดใจและไม่เป็นข้อพิจารณาต่อไป

บทความนี้ขอมองต่างมุม ความจริงเรื่องนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะการเบิกจ่ายและกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นยังเป็นหัวข้อน่าติดตามและศึกษาวิจัย (อย่างเอาจริงเอาจัง) ว่า มาตรการการใช้จ่ายภาครัฐในครั้งนี้ จะบรรลุเป้าหมายกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียงใด? และประสิทธิภาพของการใช้จ่ายเป็นอย่างไร

บทความนี้โปรยหัว ใครว่าไม่น่าห่วง ก็เพื่อจะสื่อความห่วงใยบางประการดังจะอภิปรายต่อไปนี้

ข้อห่วงใยหนึ่ง ความเสี่ยงต่อการขาดวินัยทางการคลัง คงจะต้องไม่ลืมว่า การจัดงบครั้งนี้เป็นการเพิ่มเติมจากงบประมาณแผ่นดินประจำปี 2552 ซึ่งขาดดุลอยู่ก่อนหน้าแล้วในรัฐบาลสมัคร ประมาณ 250,000 ล้านบาท (จากวงเงินรายจ่าย 1.835 ล้านล้านบาท และรายรับตามประมาณการเท่ากับ 1.585 ล้านล้านบาท) เมื่อบวกกับรายจ่ายเพิ่มเติม 0.116 ล้านล้านบาท โดยไม่มีรายได้เพิ่ม ดังนั้น การขาดดุลในปีงบประมาณ 2552 จึงต้องเกินกว่า 350,000 ล้านบาท ซึ่งน่าจะป็นวงเงินขาดดุลสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

ยิ่งถ้าหากคิดกันว่า รายได้ที่จะจัดเก็บจริงต่ำกว่าเป้าหมาย ยอดการขาดดุลอาจจะเกินกว่าร้อยละ 20 ของงบฯรายจ่ายฯ ซึ่งจะเป็นการละเมิดวินัยทางการคลังที่สู้อุตส่าห์รักษากันมาเป็นเวลายาวนานห้าสิบปี (ตั้งแต่มี พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 และการจัดตั้งสำนักงบประมาณโดยแยกออกมาจากกระทรวงการคลัง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณคนแรก หรือโอกาสนี้จะเป็นการขาดวินัยการคลังฉลอง 50 ปี สำนักงบประมาณ?)

อันที่จริงการทำงบประมาณกลางปี ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายรัฐบาลในอดีตก็เคยจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน เช่น การจัดทำงบประมาณกลางปีในปี 2545 นั้นเนื่องการจัดเก็บรายได้สูงกว่าที่ประมาณการเอาไว้ ดังนั้น การเพิ่มรายจ่ายก็มีเหตุผลสมควร ไม่เพิ่มการขาดดุล และรัฐบาลก็ไม่มีความจำเป็นต้องหาไฟแนนซ์เพิ่มเติม

สถานการณ์ในปี 2552 นั้นแตกต่างไปจากปี 2545 เหตุผลประการสำคัญคือ รัฐบาลอ้างว่ามีความจำเป็นต้องใช้กระตุ้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อรองรับการตกงาน และการว่างงาน (ของเยาวชนที่ถึงวัยแรงงาน) ซึ่งคาดกันว่ารวมกันอาจจะเป็นหลักล้านคน เช่นเดียวกับหลายๆประเทศทั่วโลก ซึ่งก็รับฟังได้

แต่นั่นมิได้หมายความว่า งบประมาณกลางปีกว่าหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นล้านบาท เหมาะสมแล้ว

เราอาจจะต้องช่วยกันพิจารณาว่ามีเหตุผลสมจริงปานใด เส้นแบ่งระหว่างเหตุผล "กระตุ้นเศรษฐกิจ" กับเหตุผล "นโยบายประชานิยม" ไม่ชัดเจนเท่าใดนัก

ในทรรศนะของผู้เขียน ความรู้สึกห่วงใยจะลดลงไปอย่างมาก ถ้าหากงบฯรายจ่ายกลางปีจะอยู่ในวงเงินประมาณ 50,000 ล้านบาท (พร้อมกับสนับสนุนอย่างจริงใจ) โดยนำรายจ่ายส่วนใหญ่นำใช้กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการจ้างงาน ด้วยโปรแกรม workfare ทำให้เม็ดเงินลงถึงมือของคนตกงานและคนยากจนทั้งในเขตเมืองและชนบท

เอกสารงบประมาณเพิ่มเติม ระบุการใช้จ่ายเงินออกไปตามส่วนราชการต่างๆ ซึ่งไม่มีความชัดเจนว่าเป็นรายจ่ายเพื่อกระตุ้นการจ้างงาน จึงเป็นที่น่ากังขาว่า มีรายจ่าย (spending) จริง แต่ว่ากระตุ้นเศรษฐกิจ (stimulus) หรือไม่ยังเป็นข้อสงสัย

รายจ่าย 2,000 พันบาทต่อหัวที่รัฐบาลจะ "แจก" ให้กับผู้ใช้แรงงานที่มีรายได้น้อย (ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน) เป็นข้ออภิปรายที่หลายฝ่ายแสดงความไม่เห็นด้วย

ข้ออ้างคือจะทำให้ผู้ใช้แรงงานจำนวนหลายล้านคนมีรายได้เพิ่มขึ้น และนำไปใช้จ่ายบริโภคเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ...

แต่ข้อเท็จจริงนั้น จะเป็นอย่างไรไม่มีใครทราบอย่างแน่นอนจนกว่าจะทดสอบเชิงประจักษ์

เช่นภายใน 3 เดือนให้หลังจากเม็ดเงินออกจากคลังไปแล้ว ในภาษาเศรษฐศาสตร์ถือว่าเป็น windfall income, transitory income ทำนองว่าเป็น "เงินที่ตกมาจากฟากฟ้า" เหมือนกับว่า เราเดินไปตามถนนแล้วโชคดีเห็นแบงก์พันบาท 2 ใบตกอยู่ตรงหน้า โดยไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของ จึงเก็บใส่กระเป๋าแล้ววางแผนว่าจะทำอย่างไรดี? บุคคลนี้จะรีบใช้จ่ายบริโภคออกไปทั้งหมด? หรือว่าเก็บออมไว้ก่อน? บางคนอาจจะชวนเพื่อนออกไปดื่มฉลอง (สุราเมรัย "จงอย่าทำ เพราะว่า สสส. เตือนว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ")

ปรมาจารย์เศรษฐศาสตร์ มิลตัน ฟรีดแมน เคยศึกษาพฤติกรรมของรายได้และการบริโภค ที่เรียกว่า transitory income และ transitory consumption เอาไว้ พร้อมกับความเห็นว่า ไม่แน่ไม่นอน ไม่มีสหสัมพันธ์ที่คาดหวังได้

ผู้เขียนออกจะเห็นคล้อยตามทฤษฎีของฟรีดแมน ยิ่งถ้านำใช้ทฤษฎีการคาดคะเนอย่างสมเหตุสมผล (rational expectation theory) ก็ต้องเอาว่า ผู้ใช้แรงงานยิ่งจะต้องตระหนักว่า "อาจจะถูกปลดออกจากงาน" ในวันใดวันหนึ่ง ดังนั้น จะต้องยิ่งเก็บเงินไว้รองรับสถานการณ์ที่ไม่แน่ไม่นอน ประยุกต์มโนทัศน์ของอีกทฤษฎีหนึ่งที่อ้างว่า การตัดสินใจของคนเรานั้นอิงความเคยชินหรืออิงพฤติกรรมของเพื่อนๆ หรือคนใกล้ชิด (norm-based behavior)... ก็ในเมื่อคนอื่นๆ ต่างพากันระวังตัวรัดเข็มขัดกันทั้งนั้น ก็น่าจะเชื่อได้ว่าเงินที่ได้มาแบบลาภลอย 2,000 บาท จะไม่ถูกนำมาใช้จ่ายเป็นส่วนใหญ่

ตีเสียว่าถ้าแรงงานใช้จ่ายออกไปเพียง 10%-20% มาตรการของรัฐบาลที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำในครั้งนี้ มีความเสี่ยงที่จะ "แป๊ก" สูงทีเดียว

แต่ว่าเรื่องนี้เถียงกันไปก็ไลฟ์บอย?.

ทางที่ดีกว่า คือสมควรให้มีการวิจัยเชิงประจักษ์ แต่ถ้าจะทำจริงๆขอให้เลือกสถาบันวิจัยที่เป็นกลางดำเนินการ (เชื่อใจใน สกว.) ไหนๆรัฐบาลก็จ่ายออกไปตั้งแสนล้านแล้ว จะไปเสียดมเสียดายสตางค์อะไรกับเงินวิจัยประเมินที่มีคุณภาพดี (งบประมาณที่จะจ้างนักศึกษาออกไปสำรวจความคิดเห็นก็เป็นหนึ่งในของการใช้จ่ายที่กระตุ้นเศรษฐกิจ ยังมีค่าใช้จ่ายค่าโดยสารและค่าเบี้ยเลี้ยงประจำวัน ซึ่งดูอย่างไงเป็นมาตรการ stimulus)ข้อห่วงใยที่สอง ความเสี่ยงต่อการใช้จ่ายที่ด้อยประสิทธิภาพของส่วนราชการ ต้องยอมรับว่าการจัดทำงบประมาณกลางปีมักจะดำเนินการอย่างเร่งรีบ ทันทีที่รัฐบาลส่งสัญญาณว่าจะจ่ายเพิ่มขึ้น ส่วนราชการต่างเร่งกันทำข้อเสนอโครงการเพื่อจะได้รับงบกลางปี

ข้อเสนอโครงการสมมติว่ามีจำนวน 100 โครงการ มีส่วนหนึ่งที่เข้าท่า/ตรงประเด็น แต่อีกจำนวนหนึ่ง "ไม่ได้ความ" ในตำราเศรษฐศาสตร์การคลังมีคำสอนหนึ่งที่เรียกว่า flypaper effect อธิบายการให้เงินอุดหนุนของรัฐ ซึ่งสรุปความได้ว่า (เงิน) เป็นเสมือนกระดาษล่อแมลงวัน มองว่า รัฐบาลเป็นนาย (principal) ส่วนหน่วยราชการนั้นเป็นบ่าว (agents) ทฤษฎีการบริหารจัดการยุคใหม่สอนให้เข้าใจว่า นายเป็น "นาย" ก็จริงอยู่ แต่ว่าบ่าวอาจจะ "หลอกนาย" ได้ โดยอาศัยว่ารัฐบาลไม่รู้ข้อมูลสนเทศมากเท่ากับหน่วยราชการ นำเสนอข้อมูลเฉพาะส่วนที่ดี ส่วนที่ด้อยประสิทธิภาพนั้น ส่วนราชการปิดบังเอาไว้หรือไม่นำเสนอ

มาตรการใช้จ่ายของภาครัฐนั้น การจะหวังผลลัพธ์ประสิทธิภาพทั้ง 100% คงเป็นเรื่องยาก

แต่เราคงจะยอมรับไม่ได้ ถ้าหากว่าความด้อยประสิทธิภาพสูงเกินไป (เกินกว่าระดับหนึ่ง ที่คนส่วนใหญ่เห็นร่วมกัน)

ทางที่ดี รัฐบาล และ สภานิติบัญญัติจะต้องหา "ตัวช่วย" กล่าวคือสถาบันเป็นกลางและมีหลักวิชาการ บวกกับการระดมคนที่มีความรู้ใน "ภาคประชาสังคม" ที่สนใจเฝ้าติดตามรายจ่ายและการทำงานของภาครัฐ จึงเสนอให้ "เอาจริงเอาจังว่ากับการประเมิน"

ถ้าหากเราติดตามได้ว่ารายจ่ายงบประมาณกลางปี 2552 ดำเนินการอย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ ก็จะหน้าตาของประเทศ และเป็นการพัฒนาเชิงสถาบันที่น่าชื่นชม และประชาสัมพันธ์ปากต่อปาก

ข้อห่วงใยที่สาม สถานการณ์ของเงินคลังและการกู้ยืม สถานการณ์คลังในกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2552 นี้ พบว่า เงินคงคลังประมาณ 5 หมื่นล้านในขณะนี้ ลดลงจากสถานการณ์ตามปกติ (1-2 แสนล้าน)

และข่าวในสื่อมวลชนระบุว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลังได้ออกไปเจรจากับต่างประเทศ (เช่น ญี่ปุ่น) เพื่อขอกู้ยืมเงินมาเสริมสภาพคล่อง พร้อมกับเชิญชวนให้นักลงทุนต่างประเทศ "เชื่อมั่นประเทศไทย"... ส่งอีกสัญญาณหนึ่งที่น่าเป็นห่วง

ถ้าหากสถานการณ์การคลังไม่มีปัญหารุนแรง คงไม่มีความจำเป็นต้องเร่หาแหล่งเงินกู้ และน่าจะตรวจสอบกับอดีต (เงินกู้มิยาซาวาที่ดำเนินการโดยรัฐบาลขณะนั้น ได้ผลเพียงใด?) และอาจจะเกิดการทำงานแบบขัดแย้งกัน กล่าวคือ ในทางหนึ่งรัฐบาลบอกให้จ่ายเงินออกไป

แต่งานการคลังในภาคปฏิบัติอาจจะทำตรงกันข้าม คือ "ดึง" ให้เงินอยู่ในคงคลัง ไม่ให้น้อยกว่าระดับที่เชื่อมั่น

สรุปว่าเรื่องนี้ต้องดูละเอียด เพราะปากพูดอย่างการกระทำอีกอย่างหนึ่ง การส่งสัญญาณที่ไม่สมจริงหรือฟังดูขัดแย้งกันก็อาจจะไม่ได้ผลหรือว่าไม่ศักดิ์สิทธิ์

ในทรรศนะของผู้เขียน ถ้าหากว่ารัฐบาลไทยมีความจำเป็นต้องกู้ยืมมาเสริมเงินคงคลัง การออกพันธบัตรภายในประเทศน่าจะเป็นหนทางเลือกที่ดีกว่า เพราะว่าไม่มีปัญหาขาดสภาพคล่องในสถาบันการเงินของไทย และคนที่มีกำลังซื้อพันธบัตรก็มีอยู่จำนวนมาก

ดอกเบี้ยที่รัฐบาลจ่ายสำหรับผู้ถือพันธบัตรคนไทยก็ยังเป็นรายได้ของคนไทยและหมุนเวียนในประเทศ (ต่างกับการกู้ยืมจากต่างประเทศ ดอกเบี้ยจะกลายเป็นเงินโอนออกนอกประเทศ)

ยกเว้นเสียแต่ว่ารัฐบาลมีความจำเป็นจะต้องเพิ่มสำรองเงินตราระหว่างประเทศ ซึ่งจากข่าวคราวและข้อมูลก็ไม่น่าจะใช่อย่างนั้น

งบประมาณกลางปี 2552 ผ่านการตัดสินใจของฝ่ายการเมืองไปแล้วก็จริงอยู่ แต่ว่าเรื่องราวยังไม่จบสิ้น ความจริงยังเป็นแค่เริ่มต้นเท่านั้น ในไม่ช้าก็จะถึงเวลาของภาคปฏิบัติ

กล่าวคือเงินผ่านมือกรมบัญชีกลางลงไปยังส่วนราชการและส่งต่อไปยังประชาชน

เรื่องนี้ต้องย้ำว่าการกำกับและติดตามให้รายจ่ายงบประมาณมีประสิทธิภาพและสมประสงค์ตามเป้าหมายนั้น อาจจะสำคัญยิ่งไปกว่าขั้นตอนอนุมัติวงเงิน

งบประมาณกลางปี 2552 เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญยิ่ง

เดิมพันครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก

ในฐานะนักเรียนเศรษฐศาสตร์ก็อดวิเคราะห์และแสดงความห่วงใยไม่ได้ พร้อมกับลุ้นให้สภานิติบัญญัติ/สถาบันวิชาการต่างๆและภาคประชาชนร่วมกันประเมินคุณภาพและประสิทธิภาพของการใช้จ่ายเงินของส่วนราชการอย่างเอาจริงเอาจัง...

ขอเพียงให้เป็นหน่วยงานกลางและไม่สังกัดราชการทำหน้าที่ประเมิน หลายหน่วยงานทำการประเมินก็ได้ ยิ่งดี

ที่มาของบทความ : nidambe11.net