วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

มาทำวิทยานิพนธ์ด้วยกัน 2

สวัสดีครับพี่น้องMBE#8 ทุกท่าน

หัวข้อวิทยานิพนธ์ : การคำนวณอัตราค่าธรรมเนียมน้ำมันที่เหมาะสมของสายการบินพานิชย์ในประเทศไทย




หลังจากคราวที่แล้วได้ค้างไว้เกี่ยวกับหัวข้อวิทยานิพนธ์ของผม ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบินที่ผมอยากทำงานในอนาคต ผมพยายามตั้งที่มาของปัญหาโดยมองว่า ปัญหาที่สำคัญของการดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมการบินโดยเฉพาะอย่างยิ่งสายการบินพานิชย์ นั้น จากส่วนหนึ่งของ "Aviation Knowledge" ของการบินไทย กล่าวว่า "การทำธุรกิจการบิน สัดส่วนค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่สุดก็คือ ค่าแรงงาน รองลงมาคือ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง (ซึ่งขณะนี้แนวโน้มค่าใช้จ่ายน้ำมันกำลังจะแซงหน้าค่าจ้างแรงงานเข้าทุกขณะ) การจะลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน สายการบินต่างๆก็ต้องคอยระมัดระวังเรื่องการประท้วง หรือนัดหยุดงานของพนักงานที่เกิดขึ้นเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้งตามหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งจะยิ่งทำให้ธุรกิจเสียหายและอาจเป็นปัญหาบานปลายต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน ส่วนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงแทบจะไม่มีโอกาสทำให้ลดลงได้เลย นอกเสียจากการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ที่มีสมรรถนะสูงเพื่อลดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง สายการบินใดที่สามารถปรับลดค่าใช้จ่ายทั้ง 2 ด้านนี้ได้ก็นับว่าโชคดี" จะเห็นได้ว่าเป็นปัญหาทั้งสองด้านระหว่างผู้ให้บริการคือสายการบิน และผู้รับบริการคือผู้โดยสารหรือลูกค้าที่ต้องการใช้บริการขนส่งสินค้าโดยผ่านทางเครื่องบิน
ปัญหาของสายการบิน คือ เรื่องของต้นทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นในการดำเนินธุรกิจซึ่งจะต้องบวกเข้าไปกับราคาที่ให้บริการหรือจำเป็นต้องผลักภาระไปสู่ผู้บริโภคถ้าจำเป็น (ถึงไม่จำเป็นก็ตาม)ซึ่งก็จะต้องกระทบกับส่วนงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเช่น ฝ่ายวางแผน ฝ่ายการตลาด ประชาสัมพันธ์ ทำอย่างไรให้ผู้บริโภคเข้าใจ และยอมรับในราคาที่บริษัทกำหนดขึ้น หรือทำอย่างไรให้บริษัทยังสามารถสร้างกำไรให้กับกิจการ และยังสามารถแข่งขันได้
ปัญหาของผู้รับบริการ ซึ่งก็หนีไม่พ้นเรื่องของราคาค่าบริการที่เพิ่มขึ้นจากต้นทุนดังกล่าวของสายการบิน(ขึ้นแล้วมักไม่ค่อยลงซะด้วย หรือลงก็ลงน้อยกว่าตอนที่ขึ้น) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ค่าธรรมเนียมน้ำมัน (fuel surcharge)" ที่เกิดขึ้นจากการคิดค่าชดเชยความผันผวนของราคาน้ำมัน จากข้อมูลที่ผมได้ลองศึกษาดู ตรงส่วนนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกระทบ แม้กระทั่งธุรกิจทัวร์ต่างๆ ซึ่งต้องกำหนดไว้ในรายการใบแจ้งค่าใช้จ่ายให้แก่ลูกค้าว่า ค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าธรรมเนียมน้ำมัน อาจมีการเปลี่ยนแปลงล่วงหน้าได้ ขึ้นอยู่กับสายการบินที่ให้บริการ
ตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นต่างๆเหล่านี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีอีกหลายแง่มุมที่น่าสนใจให้นำมาศึกษา วิเคราะห์ อธิบาย รวมทั้งหาวิธีแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่ ส่วนผมเองสนใจในเรื่องของการคำนวณค่า "fuel surcharge" ที่เป็นธรรมทั้งสองฝ่าย คือสมเหตุสมผล เหมาะสมกับต้นทุนที่แท้จริงของธุรกิจ และไม่เอารัดเอาเปรียบกับผู้บริโภคจนเกินไป หรือเป็นราคาดุลยภาพในเรื่องของค่า fuel surcharge ระหว่างผู้ให้บริการ กับผู้รับบริการ นั่นเอง

ตัวอย่างแนวคิดหนึ่งก็ เช่น "มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เสนอให้มีการปรับวิธีการคำนวณค่าธรรมเนียมน้ำมันใหม่ ในอัตราก้าวหน้า เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และเหมาะสมกับผู้รับบริการ" แต่จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนนั้น คงต้องว่ากันอีกทีนึงล่ะครับ บางครั้ง"สิ่งที่ดีและถูกต้อง ก็ใช่ว่าจะได้รับการยอมรับเสมอไป" ไม่งั้นป่านนี้ประเทศไทยคงเป็นประเทศที่เจริญแล้วแน่ๆ (แซวเล่น ๆ)

สุดท้ายหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่ผมขึ้นต้นในบทความคราวนี้ ผมขอตั้งแบบกว้างๆไว้ก่อน เนื่องจากผมเชื่อว่าคงต้องมีการปรับเปลี่ยนอีกอย่างแน่นอน เพราะข้อมูลเท่าที่ผมมีตอนนี้ ยังไม่สามารถสรุปให้เสร็จสิ้นในครั้งนี้ได้ แต่ถือว่าเอาพอเป็นแนวทางก่อนละกันนะครับ
ไว้คราวหน้าเรามาลองดูข้อมูลอื่นๆที่น่าจะเป็นประโยชน์กับการทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ของผมกันบ้างนะครับ
ขอบคุณครับ
ข้อมูลเพิ่มเติม : http://www.thaipa.net/mambo/index.php?option=com_content&task=view&id=62&Itemid=36

http://board.dserver.org/l/luegat2/00000958.html ข่าวเกี่ยวกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น
http://www.aviation.go.th กรมการขนส่งทางอากาศ

สามารถร่วมพูดคุย แบ่งปันกันได้เลยนะครับ "มาทำวิทยานิพนธ์ด้วยกันเถอะครับ"
nongboy15@gmail.com
manaw242@gmail.com
manaw15@hotmail.com