วันพุธที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2552

มองเศรษฐกิจปี 52 จากสายตาธุรกิจไทย

มองเศรษฐกิจปี 52 จากสายตาธุรกิจไทย

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเศรษฐกิจโลกในขณะนี้เกิดภาวะถดถอยอย่างหนัก สาเหตุหลักเนื่องมาจากวิกฤติทางการเงินของกลุ่มประเทศยักษ์ใหญ่ในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ที่ผ่านมามีผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจ นักวิชาการ รวมถึงบริษัทวิจัยชื่อดัง จากหลายค่ายทั่วโลก ได้ทำการสำรวจผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะวิกฤติของเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้น และเป็นอยู่ในขณะนี้ รวมทั้งสำรวจความคิดเห็นจากธุรกิจของแต่ละประเทศทั่วโลก ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือประเทศไทย เรามาลองดูกันนะครับว่า ธุรกิจต่างๆในประเทศไทยเค้ามองภาวะเศรษฐกิจโลกกันอย่างไร และคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในปี 52 นี้ อย่างไรกันบ้างครับ ?




แกรนท์ ธอร์นตัน อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลกจากสหรัฐ ได้เผยแพร่ผลการสำรวจทัศนคติเชิงบวกของบริษัทธุรกิจทั่วโลก 7,000 แห่ง จาก 36 ประเทศทั่วโลก และเป็นดัชนีชี้วัดทัศนคติที่มีต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั้งเชิงบวกและลบ ปรากฏว่านักธุรกิจทั่วโลกมีทัศนคติเชิงลบในต้นปี 2552 เฉลี่ยติดลบ 16% เทียบกับบวก 40% จากการสำรวจจนถึงต้นปี 2551

ทั้งนี้ดัชนีชี้วัดของแกรนท์ ธอร์นตันซึ่งให้ผลเฉลี่ยลบ 16% ถือเป็นผลครั้งแรกที่พบว่าทัศนคติเชิงลบของธุรกิจต่างๆ มีน้ำหนักมากกว่าทัศนคติเชิงบวกที่ธุรกิจมีต่อภาพรวมเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามรายงานผลสำรวจความเห็นของบริษัทธุรกิจทั่วโลก ส่วนใหญ่เห็นสอดคล้องกันว่าอุปสงค์ของผู้บริโภคที่ลดลง เป็นอุปสรรคสำคัญสุดในการทำธุรกิจ

ในรายละเอียดของผลสำรวจ บ่งชี้ว่าบริษัทธุรกิจในสหรัฐและจีน ซึ่งมีจีดีพีรวมกันกว่า 32% ของจีดีพีโลก ให้ทัศนคติเชิงบวกลดลงเป็นติดลบ 34% และเป็นบวก 30% ตามลำดับ ส่วนญี่ปุ่นกับอินเดียที่มีจีดีพีรวมกันกว่า 11% ของจีดีพีโลก ให้ทัศนคติแตกต่างกันมาก คือติดลบ 85% และบวก 83% ตามลำดับ

ทั้งนี้นายปีเตอร์ วอล์คเกอร์ กรรมการอาวุโสของแกรนท์ ธอร์นตันในไทย กล่าวว่าผลสำรวจทัศนคติที่แตกต่างกันแบบสุดขั้วข้างต้น บ่งชี้ตลาดโลกยังมีความหวัง หมายความว่าขณะที่ธุรกิจทั้งหมดอยู่ระหว่างการเตรียมพร้อม สำหรับภาวะเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลงเป็นเวลานาน บริษัทธุรกิจในประเทศเศรษฐกิจยังคงเติบโตดีนั้นมีทัศนคติเชิงบวก และมองช่วงเวลานี้ยังเป็นโอกาส

สำหรับประเทศไทยนั้น ในรายงานของแกรนท์ ธอร์นตันระบุว่าผู้ประกอบการยังมีทัศนคติเชิงบวกลดลง จากระดับบวก 30% เมื่อต้นปี 2550 ลดเหลือติดลบ 30% ในต้นปี 2551 และติดลบมากขึ้น 63% ในต้นปี 2552 มีเพียงญี่ปุ่นกับสเปน เป็นสองทัศนคติเชิงบวกลดลงมากกว่าหรืออยู่ระดับต่ำกว่าไทย คือติดลบ 65% และ 85% ตามลำดับ

"ระดับทัศนคติเชิงบวกที่ลดลงอย่างมากนั้นไม่น่าแปลกใจ เมื่อมีทั้งปัญหาเศรษฐกิจทั่วโลกที่หนักขึ้นเป็นสองเท่า อีกทั้งยังมีปัจจัยเรื่องความไม่มั่นคงทางการเมืองในประเทศ และการสำรวจนี้จัดทำขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์ปิดล้อมสนามบิน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บรรยากาศเศรษฐกิจทั่วทั้งประเทศอยู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์" นายวอล์คเกอร์อธิบาย

รายงานระบุด้วยว่า แม้ธุรกิจในหลายประเทศเป็นกลุ่มตัวอย่างจะแสดงทัศนคติเชิงลบ แต่ยังมีบริษัทธุรกิจอีกหลายประเทศให้ทัศนคติเชิงบวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจ เช่น อินเดียให้ทัศนคติบวก 83% บอตสวานาบวก 81% ฟิลิปปินส์บวก 65% และบราซิลบวก 50%

ในทางตรงข้ามประเทศที่มีธุรกิจให้ทัศนคติเชิงลบมากสุดคือ ญี่ปุ่นติดลบ 85% และสเปนติดลบ 65% ส่วนประเทศที่ธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกผันมากที่สุดได้แก่ ธุรกิจในฮ่องกงที่เปลี่ยนแปลงจากบวก 81% เมื่อต้นปี 2551 มาเป็นลบ 49% ในต้นปี 2552 เพราะเป็นศูนย์กลางการเงินที่ประสบวิกฤตมากที่สุดแห่งหนึ่ง และค้าขายกับชาติตะวันตกมากด้วย

การสำรวจยังสอบถามผู้ประกอบธุรกิจถึงปัจจัยที่ก่อความกังวลใจให้มากที่สุด พบว่าธุรกิจใน 33 ประเทศรวมทั้งไทย มองว่าอุปสงค์ผู้บริโภคที่ลดลงน่ากังวลใจมากที่สุด ตามด้วยปัญหาเครดิตการทำธุรกิจ

ความเห็นข้างต้นทำให้นายวอล์คเกอร์ชี้ว่า ผลสำรวจที่ได้จากความเห็นของผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ ควรช่วยให้ผู้นำทางการเมืองไทยและชาติอื่นๆ ตัดสินใจได้ หลังจากไม่แน่ใจเรื่องความจำเป็นต้องกระตุ้นผู้บริโภคใช้จ่าย หรือหันมาเริ่มฟื้นฟูเศรษฐกิจเศรษฐกิจโดยลงทุนในสาธารณูปโภค

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์