วันจันทร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ทฤษฎีสองสูง ของเจ้าสัวซีพี

หลายท่านคงเคยได้ยินแนวคิดเกี่ยวกับการเพิ่มรายได้ของเกษตรกร และการเพิ่มรายได้ของประชาชนและข้าราชการ ที่เรียกว่า ทฤษฎีสองสูง ของคุณธนินท์ เจียรวนนท์กันมาบ้าง แต่สำหรับคนที่ยังไม่รู้จักวันนี้ผมนำบทความหนึ่ีงที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีนี้มาให้ลองอ่านกันดูครับ

"ทฤษฎีสองสูง" ในทางเศรษฐศาสตร์ : "นโยบายราคา และรายได้" (PRICE & INCOME POLICY)
ที่มา : ดร.พิสิฏฐ ภัคเกษม อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 03 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ( มติชนรายวัน วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11049 เหมือนกัน )

แนวคิด "ทฤษฎีสองสูง" ที่ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวไว้คือ สูงแรก : เน้นว่า "ราคาสินค้าเกษตรจะต้องสูง" เพราะเหตุผลที่ว่าราคาสินค้าเกษตรจะเป็นแรงขับเคลื่อนตัวสำคัญ ต่ออุปสงค์/อุปทาน หรือ DEMAND/SUPPLY ของสินค้าเกษตร โดยการอาศัย "กลไกตลาด" เป็นหลัก แต่ที่ผ่านมา กล่าวได้ว่า ราคาสินค้าเกษตรในประเทศต่างๆ ไม่ได้เป็นไปตามหลักดังกล่าว แต่ราคาถูกกระทบและบิดเบือน ด้วยสาเหตุ 4 ประการ ดังนี้

ประการแรก "การที่ DEMAND สูง แต่ SUPPLY สินค้าเกษตรผลิตไม่ทันหรือไม่เพียงพอ" โดยเฉพาะในซีกโลกตะวันออก ได้แก่ จีน อินเดีย และอาเซียน ซึ่งมีประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก มีเศรษฐกิจและรายได้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีการบริโภคอาหารเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ประเทศกลุ่มนี้กลายเป็นประเทศที่นำอาหารและสินค้าเกษตรเข้าสุทธิ และทำให้ราคาสูงขึ้นทั่วโลก

เช่นเดียวกับปริมาณการผลิตน้ำมันในตลาดโลกมีเพียง 80 ล้านบาร์เรล/วัน แต่มีความต้องการใช้มากถึง 83 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้น้ำมันในตลาดโลกมีราคาสูงขึ้น และอาจจะถึง $200 ต่อบาร์เรลอีกในไม่ช้า หรือกล่าวโดยสรุปได้ว่า โลกจะไม่มี "ยุคอาหารและน้ำมันถูกอีกต่อไป"

ในการนี้ทำให้รัฐบาลหลายประเทศดำเนิน "นโยบายเข้ามาแทรกแซงและบิดเบือนกลไกตลาด" ทำให้ราคาสินค้าเกษตรไม่เป็นไปตามกลไกตลาด จึงมีปัญหาขึ้นในปัจจุบัน อาทิเช่น การขายข้าว "ราคาถูก" หรือ "กดราคาพลังงานให้ถูก" ซึ่งจะกลายเป็น "ระเบิดเวลา" ทำให้เกิดปัญหาตามมามากยิ่งขึ้นในอนาคต

ประการที่ 2 "การเก็งกำไรในตลาดโภคภัณฑ์ ของกองทุน HEDGE FUND" ก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกประการ ที่ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรและราคาน้ำมันสูงขึ้นไม่ต่ำกว่า 30% ทั้งนี้ เพราะว่า กองทุน HEDGE FUND เหล่านี้ ได้เปลี่ยนจากการเก็งกำไรใน "ตลาดหุ้นและตลาดเงินตรา" มาเก็งกำไรในตลาดโภคภัณฑ์มากขึ้นในปัจจุบัน เพราะเล็งเห็นว่าอนาคตของสินค้าเกษตรมีแนวโน้มราคาที่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะข้าวมีราคาแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะการเก็งกำไรของกองทุนซื้ออนาคตเหล่านี้ ได้สร้างความบิดเบือนราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ประการที่ 3 "การที่นโยบายของรัฐเข้าแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร" โดยรัฐบาลในหลายๆ ประเทศทั้งในประเทศที่กำลังพัฒนา และประเทศที่ร่ำรวยต่างก็ดำเนินนโยบายอุดหนุน (SUBSIDIES) และแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรในรูปแบบต่างๆ ขึ้น จึงทำให้เกิดการบิดเบือนราคา และสร้างความวุ่นวายให้กับกลไกตลาด โดยพยายามจะกดดันให้ราคาสินค้าถูกไว้

ตัวอย่างเช่น ในประเทศฟิลิปปินส์ แต่เดิมสามารถส่งออกข้าวออกไปต่างประเทศ แต่เนื่องจากรัฐบาลได้เข้ามาแทรกแซงราคาข้าว ทำให้ข้าวในประเทศมีราคาถูก ส่งผลให้ชาวนาเลิกปลูกข้าว จนทำให้ฟิลิปปินส์กลายเป็นประเทศที่นำเข้าข้าวอันดับ 1 ของโลก คือประมาณ 2 ล้านตันต่อปี

ทั้งนี้ นายโรเบิร์ต เซลลิก (ROBERT B. ZOELLICK) ประธานธนาคารโลก เป็นอีกคนหนึ่ง ที่กล่าวว่า รัฐบาลในหลายๆ ประเทศ "ไม่ควรใช้มาตรการควบคุมราคาสินค้าเกษตรและอาหาร" เพราะนั่นหมายถึง "การฝ่าฝืนกลไกตลาด ซึ่งจะทำให้เกิดการบิดเบือนราคาไปเป็นอย่างมาก จึงเกิดการขาดแคลนขึ้น"

ประการสุดท้าย ผลกระทบจาก "ภาวะโลกร้อน (GLOBAL WARMING)" ในปัจจุบันส่งผลให้ภูมิอากาศทั่วโลกแปรปรวน (CLIMATE CHANGE) กระทบต่อผลิตผลด้านเกษตรกรรม โดยเฉพาะการผลิตอาหารลดน้อยลง และไม่เพียงพอต่อความต้องการในตลาดโลก จึงส่งผลให้พืชเกษตรและอาหารมีราคาเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ดังนั้น สูงที่ 1 คือ "ราคาสินค้าเกษตรสูง" คือ การปล่อยให้ราคาสินค้าเกษตร เป็นไปตาม DEMAND & SUPPLY และกลไกตลาด รัฐไม่ควรเข้าไปแทรกแซงหรือควบคุมราคา ทำให้เกิดการบิดเบือนและไม่ได้ผล

สูงที่ 2 คือ "รายได้หรือค่าจ้างของประชาชนจะต้องสูง" ให้สัมพันธ์กับราคาสินค้าเกษตรและอาหารที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ตามแนวคิด "ทฤษฎีสองสูง" จะมุ่งเน้นรายได้ประชาชน 2 กลุ่มใหญ่ คือ 1) เกษตรกรในชนบท ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ จะต้องทำให้มีรายได้สูงขึ้น 2) รายได้ ข้าราชการ และผู้ใช้แรงงานในเมือง ก็จะต้องสูงขึ้นเช่นกัน

การเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรใน "ชนบท" นั้น หากปล่อยให้ราคาสินค้าเกษตรเป็นไปตามกลไกตลาดนั้น รายได้ของเกษตรกรก็จะเพิ่มขึ้น จะมีกำลังซื้อมากขึ้น มีการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจส่วนรวมของไทยขับเคลื่อนได้ดียิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน ภาครัฐจะต้องมีนโยบายและมาตรการในการส่งเสริมด้าน "การยกระดับภาคเกษตรให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น" รัฐควรให้ความสำคัญกับการทำ "เกษตรแบบดั้งเดิม" คือ เกษตรกรรายย่อย โดยการเข้าไปลงทุน พัฒนาบริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็น สำหรับการเกษตร อาทิเช่น ขยายระบบชลประทาน ให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยี และจัดระบบโลจิสติกส์ เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ลดความเสี่ยง และเพิ่มอำนาจต่อรองให้เกษตรกร ให้ได้ราคาที่เป็นธรรม เพื่อให้ "เกษตรแบบดั้งเดิม" ได้พัฒนาควบคู่กับ "การเกษตรแบบก้าวหน้า" ที่ภาคเอกชนดำเนินการได้ดีอยู่แล้ว ก็จะส่งผลให้ภาคการเกษตรของประเทศไทยเข้มแข็ง และมีฐานะรายได้ดีขึ้น

ในส่วนการเพิ่มรายได้ให้กับคน "ในเมือง" หมายถึง รายได้ของผู้ใช้แรงงาน และข้าราชการที่มีรายได้ต่ำมาก และไม่สัมพันธ์กับภาระด้านรายจ่ายตามค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น จากการที่ราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้น จึงควรเน้นพิจารณา "ปรับรายได้" ให้ "สัมพันธ์" กับ "ราคา" ที่สูงขึ้น เพื่อให้ประชาชนกลุ่มนี้สามารถอยู่ได้ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ขณะเดียวกัน ประชาชนในช่วงนี้ก็จำเป็นจะต้องปรับวิถีชีวิตโดยเฉพาะ ในเรื่องการใช้จ่ายให้สอดคล้องกับรายได้และค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยยึดระบบเศรษฐกิจแบบ "พอเพียง" มาใช้

นอกจากนี้ ถ้าเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศมีรายได้สูงขึ้น ก็จะมีพลังการจับจ่ายใช้สอยเป็นตัวขับเคลื่อน ทำให้เศรษฐกิจส่วนรวมของประเทศเราได้มี "การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน" ต่อไป

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า "ทฤษฎีสองสูง" เป็น "กฎเหล็ก" ทางเศรษฐศาสตร์ที่สามารถนำมาปฏิบัติได้หรือใช้ได้จริง ซึ่งจะกลายเป็นโอกาสของประเทศไทย ที่จะนำแนวคิดทฤษฎีสองสูงมาใช้ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคที่ราคาสินค้าเกษตร มีแนวโน้มราคาสูง เพราะไทยเราเป็นประเทศเกษตรกรรม คนส่วนใหญ่ของประเทศก็มีอาชีพเป็นเกษตรกร รัฐควรให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรมากขึ้นกว่าปัจจุบัน เพื่อให้ประเทศไทย จะได้รักษาฐานะเป็น "อู่ข้าว" หรือ "ผู้ผลิตอาหารที่สำคัญของโลก" ต่อไป เพื่อนำความมั่งคั่งมาสู่ประเทศไทยอย่างยั่งยืน

Link ของบทความนี้ http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2008q2/2008june03p2.htm

ฮ่าๆ ฮือๆ เกรดออกครบแล้ว

ฮ่าๆ ฮือๆ เกรดออกครบแล้ว

สวัสดีครับ พี่น้องชาวMBE#8 ทุกท่าน ในที่สุดเกรดคะแนนที่พวกเรารอคอย(บางคนลอยคอ เพราะรู้ครบแล้วก่อนหน้านี้) ก็ออกครบหมดทุกวิชาให้พวกเราได้ชื่นชมกับผลงานที่ผ่านมาของตัวเองในเทอมแรก
ผมเริ่มต้นขึ้นมาด้วยคำว่า " ฮ่าๆ ฮือๆ เกรดออกครบแล้ว " ฟังดูแล้วเหมือนคนบ้ายังไงไม่รู้เนอะ แต่ที่จริงแล้วมันมีความหมายสองอย่างสองอารมณ์รวมอยู่ในนี้ครับ
คำแรกคือ "ฮ่าๆ" นี่แสดงความดีใจสำหรับพี่น้องที่ได้ผลคะแนนหรือเกรดของทั้งสองวิชา คือ การลงทุนทางการเงิน กับ การวิเคราะห์เชิงปริมาณทางเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ ออกมาเป็นที่น่าพอใจ หรือดีเกินคาด แล้วแต่ว่าใครจะได้เกรดอะไรบ้าง
คำที่สองคือ "ฮือๆ" แสดงความเสียใจกับพี่น้องท่านใดที่เกรดออกมาไม่ได้ดังหวังนะครับ ส่วนใหญ่ก็ได้ B บ้าง แต่ที่น่าเห็นใจ และควรให้กำลังใจคือ คนที่ได้คะแนนน้อยกว่า B ซึ่งก็ไม่ต้องเสียใจจนเกินไปครับ ท่องไว้ครับ "สอบได้เป็นเรื่องตลก สอบตกเป็นเรื่องธรรมดา" คิดซะว่าได้เรียนมากกว่าคนอื่นก็ย่อมต้องเก่งกว่าคนอื่นแน่นอน แต่ที่แน่นอนกว่านั้นคือตอนนี้สิ่งที่ต้องมอง และทำให้ดีกว่าเดิม คือ เทอมสองที่เรากำลังเรียนกันอยู่นี้ครับ เพราะฉะนั้นทำวันนี้ให้ดีที่สุดดีกว่าครับ
สำหรับผมเองต้องบอกว่าพอใจแล้วล่ะ หรือไม่ตกก็บุญแล้วว่ะ ฮะๆ แต่ผมมีความคิดอย่างนึงนะว่า ฮึ่ม ใครที่ได้คะแนนเยอะสุด2-3คนในคลาสเราต้องได้รับผลกรรมที่ทำไว้ โดยการเลี้ยงฉลองให้กับพวกเราซะ 555 โทษฐานได้คะแนนเยอะกว่าเพื่อน เห็นด้วยมั้ยครับพี่น้องชาวMBE#8 ทุกท่าน