วันอังคารที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2552

งบสนับสนุน 2,000 พันบาทต่อหัว จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือ?

งบสนับสนุน 2,000 พันบาทต่อหัว จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือ?
สวัสดีครับพี่น้องชาว MBE#8 ทุกท่าน คราวนี้เรามาโฟกัสในเรื่องงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมในปี พ.ศ. 2552 ของรัฐบาลกันหน่อยดีกว่าครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งบสนับสนุน 2,000 พันบาทต่อหัวของรัฐบาล ซึ่งผมเคยยกตัวอย่างเกี่ยวกับสมการ GDP โดยการกระตุ้นการบริโภคของภาคประชาชน ผ่านการการใช้จ่ายของภาครัฐบาลและส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของ GDP ไปแล้วในครั้งก่อน




แต่มาคราวนี้ในช่วงที่ผ่านมาได้มีหลายกระแสเกี่ยวกับความกังวลและความเคลือบแคลงใจที่เพิ่มมากขึ้นของหลายฝ่าย ว่าวิธีการนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือ? ประชาชนจะนำเงินไปใช้จ่ายจริงหรือ? หรือว่าจะเอาเงินที่ได้รับไปเก็บออมซะมากกว่า? นี่เป็นตัวอย่างคำถามที่ได้ยินกันมาตั้งแต่ต้น และยิ่งได้ยินชัดมากขึ้นเนื่องจากว่ารัฐบาลจะต้องมีการจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ประชาชนภายในเดือนมีนาคม-เมษายา นี้แล้ว แต่ก่อนที่เราจะไปวัดผลที่เกิดขึ้นจริงในอนาคตนั้น เรามาลองอ่านบทความที่น่าสนใจนี้กันดูซักหน่อยนะครับว่า งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมดังกล่าวของรัฐบาลนั้น แท้ที่จริงแล้วมันน่าเป็นห่วงอย่างที่หลายฝ่ายคิดกันหรือไม่?

งบประมาณเพิ่มเติม 2552 ใครว่าไม่น่าห่วง?
คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ โดย ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ ศาสตราจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มติชนรายวัน วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11309

งบประมาณเพิ่มเติม หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า งบประมาณกลางปี เสนอโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว (เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2552) ขั้นตอนที่เหลือคือ การประกาศเป็นกฎหมายและการเบิกจ่ายงบประมาณออกจากคลังแผ่นดิน

กว่าเม็ดเงินจะผ่านส่วนราชการลงไปในระบบเศรษฐกิจก็คงหลังเดือนเมษายนเป็นต้นไป

สื่อมวลชนและคนทั่วไปอาจจะมองว่า "ผ่านไปแล้ว" จึงติดใจและไม่เป็นข้อพิจารณาต่อไป

บทความนี้ขอมองต่างมุม ความจริงเรื่องนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะการเบิกจ่ายและกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นยังเป็นหัวข้อน่าติดตามและศึกษาวิจัย (อย่างเอาจริงเอาจัง) ว่า มาตรการการใช้จ่ายภาครัฐในครั้งนี้ จะบรรลุเป้าหมายกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียงใด? และประสิทธิภาพของการใช้จ่ายเป็นอย่างไร

บทความนี้โปรยหัว ใครว่าไม่น่าห่วง ก็เพื่อจะสื่อความห่วงใยบางประการดังจะอภิปรายต่อไปนี้

ข้อห่วงใยหนึ่ง ความเสี่ยงต่อการขาดวินัยทางการคลัง คงจะต้องไม่ลืมว่า การจัดงบครั้งนี้เป็นการเพิ่มเติมจากงบประมาณแผ่นดินประจำปี 2552 ซึ่งขาดดุลอยู่ก่อนหน้าแล้วในรัฐบาลสมัคร ประมาณ 250,000 ล้านบาท (จากวงเงินรายจ่าย 1.835 ล้านล้านบาท และรายรับตามประมาณการเท่ากับ 1.585 ล้านล้านบาท) เมื่อบวกกับรายจ่ายเพิ่มเติม 0.116 ล้านล้านบาท โดยไม่มีรายได้เพิ่ม ดังนั้น การขาดดุลในปีงบประมาณ 2552 จึงต้องเกินกว่า 350,000 ล้านบาท ซึ่งน่าจะป็นวงเงินขาดดุลสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

ยิ่งถ้าหากคิดกันว่า รายได้ที่จะจัดเก็บจริงต่ำกว่าเป้าหมาย ยอดการขาดดุลอาจจะเกินกว่าร้อยละ 20 ของงบฯรายจ่ายฯ ซึ่งจะเป็นการละเมิดวินัยทางการคลังที่สู้อุตส่าห์รักษากันมาเป็นเวลายาวนานห้าสิบปี (ตั้งแต่มี พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 และการจัดตั้งสำนักงบประมาณโดยแยกออกมาจากกระทรวงการคลัง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณคนแรก หรือโอกาสนี้จะเป็นการขาดวินัยการคลังฉลอง 50 ปี สำนักงบประมาณ?)

อันที่จริงการทำงบประมาณกลางปี ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายรัฐบาลในอดีตก็เคยจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน เช่น การจัดทำงบประมาณกลางปีในปี 2545 นั้นเนื่องการจัดเก็บรายได้สูงกว่าที่ประมาณการเอาไว้ ดังนั้น การเพิ่มรายจ่ายก็มีเหตุผลสมควร ไม่เพิ่มการขาดดุล และรัฐบาลก็ไม่มีความจำเป็นต้องหาไฟแนนซ์เพิ่มเติม

สถานการณ์ในปี 2552 นั้นแตกต่างไปจากปี 2545 เหตุผลประการสำคัญคือ รัฐบาลอ้างว่ามีความจำเป็นต้องใช้กระตุ้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อรองรับการตกงาน และการว่างงาน (ของเยาวชนที่ถึงวัยแรงงาน) ซึ่งคาดกันว่ารวมกันอาจจะเป็นหลักล้านคน เช่นเดียวกับหลายๆประเทศทั่วโลก ซึ่งก็รับฟังได้

แต่นั่นมิได้หมายความว่า งบประมาณกลางปีกว่าหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นล้านบาท เหมาะสมแล้ว

เราอาจจะต้องช่วยกันพิจารณาว่ามีเหตุผลสมจริงปานใด เส้นแบ่งระหว่างเหตุผล "กระตุ้นเศรษฐกิจ" กับเหตุผล "นโยบายประชานิยม" ไม่ชัดเจนเท่าใดนัก

ในทรรศนะของผู้เขียน ความรู้สึกห่วงใยจะลดลงไปอย่างมาก ถ้าหากงบฯรายจ่ายกลางปีจะอยู่ในวงเงินประมาณ 50,000 ล้านบาท (พร้อมกับสนับสนุนอย่างจริงใจ) โดยนำรายจ่ายส่วนใหญ่นำใช้กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการจ้างงาน ด้วยโปรแกรม workfare ทำให้เม็ดเงินลงถึงมือของคนตกงานและคนยากจนทั้งในเขตเมืองและชนบท

เอกสารงบประมาณเพิ่มเติม ระบุการใช้จ่ายเงินออกไปตามส่วนราชการต่างๆ ซึ่งไม่มีความชัดเจนว่าเป็นรายจ่ายเพื่อกระตุ้นการจ้างงาน จึงเป็นที่น่ากังขาว่า มีรายจ่าย (spending) จริง แต่ว่ากระตุ้นเศรษฐกิจ (stimulus) หรือไม่ยังเป็นข้อสงสัย

รายจ่าย 2,000 พันบาทต่อหัวที่รัฐบาลจะ "แจก" ให้กับผู้ใช้แรงงานที่มีรายได้น้อย (ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน) เป็นข้ออภิปรายที่หลายฝ่ายแสดงความไม่เห็นด้วย

ข้ออ้างคือจะทำให้ผู้ใช้แรงงานจำนวนหลายล้านคนมีรายได้เพิ่มขึ้น และนำไปใช้จ่ายบริโภคเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ...

แต่ข้อเท็จจริงนั้น จะเป็นอย่างไรไม่มีใครทราบอย่างแน่นอนจนกว่าจะทดสอบเชิงประจักษ์

เช่นภายใน 3 เดือนให้หลังจากเม็ดเงินออกจากคลังไปแล้ว ในภาษาเศรษฐศาสตร์ถือว่าเป็น windfall income, transitory income ทำนองว่าเป็น "เงินที่ตกมาจากฟากฟ้า" เหมือนกับว่า เราเดินไปตามถนนแล้วโชคดีเห็นแบงก์พันบาท 2 ใบตกอยู่ตรงหน้า โดยไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของ จึงเก็บใส่กระเป๋าแล้ววางแผนว่าจะทำอย่างไรดี? บุคคลนี้จะรีบใช้จ่ายบริโภคออกไปทั้งหมด? หรือว่าเก็บออมไว้ก่อน? บางคนอาจจะชวนเพื่อนออกไปดื่มฉลอง (สุราเมรัย "จงอย่าทำ เพราะว่า สสส. เตือนว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ")

ปรมาจารย์เศรษฐศาสตร์ มิลตัน ฟรีดแมน เคยศึกษาพฤติกรรมของรายได้และการบริโภค ที่เรียกว่า transitory income และ transitory consumption เอาไว้ พร้อมกับความเห็นว่า ไม่แน่ไม่นอน ไม่มีสหสัมพันธ์ที่คาดหวังได้

ผู้เขียนออกจะเห็นคล้อยตามทฤษฎีของฟรีดแมน ยิ่งถ้านำใช้ทฤษฎีการคาดคะเนอย่างสมเหตุสมผล (rational expectation theory) ก็ต้องเอาว่า ผู้ใช้แรงงานยิ่งจะต้องตระหนักว่า "อาจจะถูกปลดออกจากงาน" ในวันใดวันหนึ่ง ดังนั้น จะต้องยิ่งเก็บเงินไว้รองรับสถานการณ์ที่ไม่แน่ไม่นอน ประยุกต์มโนทัศน์ของอีกทฤษฎีหนึ่งที่อ้างว่า การตัดสินใจของคนเรานั้นอิงความเคยชินหรืออิงพฤติกรรมของเพื่อนๆ หรือคนใกล้ชิด (norm-based behavior)... ก็ในเมื่อคนอื่นๆ ต่างพากันระวังตัวรัดเข็มขัดกันทั้งนั้น ก็น่าจะเชื่อได้ว่าเงินที่ได้มาแบบลาภลอย 2,000 บาท จะไม่ถูกนำมาใช้จ่ายเป็นส่วนใหญ่

ตีเสียว่าถ้าแรงงานใช้จ่ายออกไปเพียง 10%-20% มาตรการของรัฐบาลที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำในครั้งนี้ มีความเสี่ยงที่จะ "แป๊ก" สูงทีเดียว

แต่ว่าเรื่องนี้เถียงกันไปก็ไลฟ์บอย?.

ทางที่ดีกว่า คือสมควรให้มีการวิจัยเชิงประจักษ์ แต่ถ้าจะทำจริงๆขอให้เลือกสถาบันวิจัยที่เป็นกลางดำเนินการ (เชื่อใจใน สกว.) ไหนๆรัฐบาลก็จ่ายออกไปตั้งแสนล้านแล้ว จะไปเสียดมเสียดายสตางค์อะไรกับเงินวิจัยประเมินที่มีคุณภาพดี (งบประมาณที่จะจ้างนักศึกษาออกไปสำรวจความคิดเห็นก็เป็นหนึ่งในของการใช้จ่ายที่กระตุ้นเศรษฐกิจ ยังมีค่าใช้จ่ายค่าโดยสารและค่าเบี้ยเลี้ยงประจำวัน ซึ่งดูอย่างไงเป็นมาตรการ stimulus)ข้อห่วงใยที่สอง ความเสี่ยงต่อการใช้จ่ายที่ด้อยประสิทธิภาพของส่วนราชการ ต้องยอมรับว่าการจัดทำงบประมาณกลางปีมักจะดำเนินการอย่างเร่งรีบ ทันทีที่รัฐบาลส่งสัญญาณว่าจะจ่ายเพิ่มขึ้น ส่วนราชการต่างเร่งกันทำข้อเสนอโครงการเพื่อจะได้รับงบกลางปี

ข้อเสนอโครงการสมมติว่ามีจำนวน 100 โครงการ มีส่วนหนึ่งที่เข้าท่า/ตรงประเด็น แต่อีกจำนวนหนึ่ง "ไม่ได้ความ" ในตำราเศรษฐศาสตร์การคลังมีคำสอนหนึ่งที่เรียกว่า flypaper effect อธิบายการให้เงินอุดหนุนของรัฐ ซึ่งสรุปความได้ว่า (เงิน) เป็นเสมือนกระดาษล่อแมลงวัน มองว่า รัฐบาลเป็นนาย (principal) ส่วนหน่วยราชการนั้นเป็นบ่าว (agents) ทฤษฎีการบริหารจัดการยุคใหม่สอนให้เข้าใจว่า นายเป็น "นาย" ก็จริงอยู่ แต่ว่าบ่าวอาจจะ "หลอกนาย" ได้ โดยอาศัยว่ารัฐบาลไม่รู้ข้อมูลสนเทศมากเท่ากับหน่วยราชการ นำเสนอข้อมูลเฉพาะส่วนที่ดี ส่วนที่ด้อยประสิทธิภาพนั้น ส่วนราชการปิดบังเอาไว้หรือไม่นำเสนอ

มาตรการใช้จ่ายของภาครัฐนั้น การจะหวังผลลัพธ์ประสิทธิภาพทั้ง 100% คงเป็นเรื่องยาก

แต่เราคงจะยอมรับไม่ได้ ถ้าหากว่าความด้อยประสิทธิภาพสูงเกินไป (เกินกว่าระดับหนึ่ง ที่คนส่วนใหญ่เห็นร่วมกัน)

ทางที่ดี รัฐบาล และ สภานิติบัญญัติจะต้องหา "ตัวช่วย" กล่าวคือสถาบันเป็นกลางและมีหลักวิชาการ บวกกับการระดมคนที่มีความรู้ใน "ภาคประชาสังคม" ที่สนใจเฝ้าติดตามรายจ่ายและการทำงานของภาครัฐ จึงเสนอให้ "เอาจริงเอาจังว่ากับการประเมิน"

ถ้าหากเราติดตามได้ว่ารายจ่ายงบประมาณกลางปี 2552 ดำเนินการอย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ ก็จะหน้าตาของประเทศ และเป็นการพัฒนาเชิงสถาบันที่น่าชื่นชม และประชาสัมพันธ์ปากต่อปาก

ข้อห่วงใยที่สาม สถานการณ์ของเงินคลังและการกู้ยืม สถานการณ์คลังในกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2552 นี้ พบว่า เงินคงคลังประมาณ 5 หมื่นล้านในขณะนี้ ลดลงจากสถานการณ์ตามปกติ (1-2 แสนล้าน)

และข่าวในสื่อมวลชนระบุว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลังได้ออกไปเจรจากับต่างประเทศ (เช่น ญี่ปุ่น) เพื่อขอกู้ยืมเงินมาเสริมสภาพคล่อง พร้อมกับเชิญชวนให้นักลงทุนต่างประเทศ "เชื่อมั่นประเทศไทย"... ส่งอีกสัญญาณหนึ่งที่น่าเป็นห่วง

ถ้าหากสถานการณ์การคลังไม่มีปัญหารุนแรง คงไม่มีความจำเป็นต้องเร่หาแหล่งเงินกู้ และน่าจะตรวจสอบกับอดีต (เงินกู้มิยาซาวาที่ดำเนินการโดยรัฐบาลขณะนั้น ได้ผลเพียงใด?) และอาจจะเกิดการทำงานแบบขัดแย้งกัน กล่าวคือ ในทางหนึ่งรัฐบาลบอกให้จ่ายเงินออกไป

แต่งานการคลังในภาคปฏิบัติอาจจะทำตรงกันข้าม คือ "ดึง" ให้เงินอยู่ในคงคลัง ไม่ให้น้อยกว่าระดับที่เชื่อมั่น

สรุปว่าเรื่องนี้ต้องดูละเอียด เพราะปากพูดอย่างการกระทำอีกอย่างหนึ่ง การส่งสัญญาณที่ไม่สมจริงหรือฟังดูขัดแย้งกันก็อาจจะไม่ได้ผลหรือว่าไม่ศักดิ์สิทธิ์

ในทรรศนะของผู้เขียน ถ้าหากว่ารัฐบาลไทยมีความจำเป็นต้องกู้ยืมมาเสริมเงินคงคลัง การออกพันธบัตรภายในประเทศน่าจะเป็นหนทางเลือกที่ดีกว่า เพราะว่าไม่มีปัญหาขาดสภาพคล่องในสถาบันการเงินของไทย และคนที่มีกำลังซื้อพันธบัตรก็มีอยู่จำนวนมาก

ดอกเบี้ยที่รัฐบาลจ่ายสำหรับผู้ถือพันธบัตรคนไทยก็ยังเป็นรายได้ของคนไทยและหมุนเวียนในประเทศ (ต่างกับการกู้ยืมจากต่างประเทศ ดอกเบี้ยจะกลายเป็นเงินโอนออกนอกประเทศ)

ยกเว้นเสียแต่ว่ารัฐบาลมีความจำเป็นจะต้องเพิ่มสำรองเงินตราระหว่างประเทศ ซึ่งจากข่าวคราวและข้อมูลก็ไม่น่าจะใช่อย่างนั้น

งบประมาณกลางปี 2552 ผ่านการตัดสินใจของฝ่ายการเมืองไปแล้วก็จริงอยู่ แต่ว่าเรื่องราวยังไม่จบสิ้น ความจริงยังเป็นแค่เริ่มต้นเท่านั้น ในไม่ช้าก็จะถึงเวลาของภาคปฏิบัติ

กล่าวคือเงินผ่านมือกรมบัญชีกลางลงไปยังส่วนราชการและส่งต่อไปยังประชาชน

เรื่องนี้ต้องย้ำว่าการกำกับและติดตามให้รายจ่ายงบประมาณมีประสิทธิภาพและสมประสงค์ตามเป้าหมายนั้น อาจจะสำคัญยิ่งไปกว่าขั้นตอนอนุมัติวงเงิน

งบประมาณกลางปี 2552 เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญยิ่ง

เดิมพันครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก

ในฐานะนักเรียนเศรษฐศาสตร์ก็อดวิเคราะห์และแสดงความห่วงใยไม่ได้ พร้อมกับลุ้นให้สภานิติบัญญัติ/สถาบันวิชาการต่างๆและภาคประชาชนร่วมกันประเมินคุณภาพและประสิทธิภาพของการใช้จ่ายเงินของส่วนราชการอย่างเอาจริงเอาจัง...

ขอเพียงให้เป็นหน่วยงานกลางและไม่สังกัดราชการทำหน้าที่ประเมิน หลายหน่วยงานทำการประเมินก็ได้ ยิ่งดี

ที่มาของบทความ : nidambe11.net

วันศุกร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2552

ทำไมราคาทองคำจึงผันผวน

ทำไมราคาทองคำจึงผันผวน!!
สวัสดีครับ ช่วงนี้ในด้านการลงทุนแล้วคงไม่มีตลาดใดร้อนแรงเกินไปกว่าการลงทุนในตลาดทองคำอย่างแน่นอน เห็นได้จากการเปิดตัวของตลาดซื้อขายทองคำล่วงหน้า ราคาทองคำที่มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงอยู่ทุกวันจนยากแก่การคาดเดาของใครหลายๆคน(รวมทั้งผมด้วยครับ) การย้ายฐานการลงทุนของนักลงทุนจากตลาดหุ้นมาเป็นตลาดทองคำ เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่า และปลอดภัยกว่าการลงทุนในตลาดหุ้นในภาวะการณ์แบบนี้




แต่็ก็ใช่ว่าการลงทุนในตลาดทองคำจะสามารถทำได้ง่ายๆ และก็ใช่ว่าจะยากจนเกินไป หากเราทำการศึกษาอย่างลึกซึ้งและเข้าใจในธรรมชาติของทองคำและการซื้อขายทองคำล่วงหน้าแล้วล่ะก็ ผมเชื่อว่าการลงทุนในตลาดทองคำจะเป็นอะไรที่ไม่ยากอย่างที่ใครๆคิด และทำให้เราสามารถตัดสินใจบนพื้นฐานความรู้ และจังหวะเวลาที่ถูกต้องอย่างแน่นอนครับ
เพราะฉะนั้น ตอนนี้เราลองมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของราคาทองคำกันดีกว่า ว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่เป็นตัวกำหนด และทำไมราคาทองคำมันจึงผันผวนเหลือเกินในช่วงนี้

ราคาทองคำกำหนดอย่างไร

Future world by TFEX : เกศรา มัญชุศรี กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 05 มีนาคม พ.ศ. 2552

ทองคำเป็นสินทรัพย์และหลักทรัพย์ชนิดเดียวที่ยังคงให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจในภาวการณ์ปัจจุบัน นับจากปี 2000 ราคาทองคำทะยานสูงขึ้นโดยตลอดจากระดับ 280 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ไปแตะระดับ 1,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในปี 2008 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มมีการหยุดพักบางช่วงเวลา ราคามีความสั่นไหวขึ้น

และลงมากกว่าปีอื่นๆ ที่ผ่านมา และในรอบสองเดือนแรกของปี 2009 นี้ ราคาทองคำกลับพุ่งสูงขึ้นไปแตะระดับสูงสุดอีกครั้ง เมื่อคำนวณอัตราผลตอบแทนโดยเฉลี่ยของทองคำในช่วงแปดปีที่ผ่านมา พบว่าบวกทุกปีและสูงถึงปีละ 8.7% จึงเป็นที่ประจักษ์ว่าในช่วงเวลานี้ทองคำเป็นพระเอกตัวจริง ผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศหันมาสนใจและลงทุนในทองคำ รวมถึงสินค้าที่อ้างอิงกับทองคำ จนทำให้การซื้อขายเพิ่มสูงขึ้นทำลายสถิติเดิมทุกวัน กระแสตื่นทองนี้ปรากฏทั่วโลกและในประเทศไทย

ประเภทการลงทุนหลักๆ ได้แก่ การซื้อขายทองคำจริง ในรูปของทองคำรูปพรรณและทองคำแท่ง โดยซื้อขายได้จากร้านค้าทองคำทั้งในและต่างประเทศ แต่สำหรับประเทศไทยที่มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับในเรื่องการนำเงินออกไปต่างประเทศ ก็อาจมีข้อจำกัดในการซื้อทองจากต่างประเทศ

อย่างไรก็ดี สำหรับการลงทุนประเภทที่เป็นวิธีการสมัยใหม่ เช่น ETF (Exchange-traded Fund) หรือ ETC (Exchange-Traded Commodity) ซึ่งลงทุนในทองคำ หรือที่เรียกกันว่า กองทุนทองคำ เป็นการลงทุนที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ลงทุน ทั้งในเรื่องการถือครองสิทธิในทองคำ โดยมีทองคำจริงเก็บไว้ที่ผู้รับฝากทรัพย์สิน และการซื้อขายที่เป็นลักษณะออนไลน์ รวมทั้งมีการกำกับดูแลจากภาครัฐ จึงเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นในต่างประเทศ ในขณะที่ผู้ลงทุนไทยอาจไม่คุ้นเคยกับการลงทุนในลักษณะดังกล่าว เนื่องจากเรามีที่เก็บทรัพย์สินที่ปลอดภัยในราคาถูก และยังชอบที่จะได้สัมผัสและชื่นชมความงามของทองคำที่เราเป็นเจ้าของ ทำให้รูปแบบการลงทุนประเภทนี้ยังไม่แพร่หลาย

ในขณะที่ อีกรูปแบบหนึ่งของการลงทุนในทองคำ คือ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ Gold Futures ที่ซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ที่มีอยู่เกือบทั่วโลก สำหรับตลาดอนุพันธ์ในประเทศไทยนั้น TFEX เพิ่งเปิดตัว Gold Futures ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าเป็นช่วงเวลาที่สอดรับกับกระแสโลก

ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ซื้อขายตลอด 24 ชั่วโมงในตลาดต่างๆ ทั่วโลก ราคาที่ปรากฏในจอข้อมูลต่างๆ เช่น reuters, bloomberg และสำนักข่าวอื่นๆ มาจากข้อมูลราคาในตลาด Spot และตลาดอนุพันธ์ของตลาดต่างประเทศที่เปิดทำการ ณ ขณะนั้นๆ ราคาทองคำขึ้นอยู่กับความต้องการและปริมาณการซื้อขายของโลก ตลาดที่สำคัญคือ ตลาดนิวยอร์ก ลอนดอน ฮ่องกง โตเกียว ซึ่งสามารถซื้อขายข้ามตลาดระหว่างกันได้ จึงยากที่ใครคนใดคนหนึ่งจะมีอิทธิพลต่อราคาของทองคำ

ราคาทองคำในตลาดข้างต้นเป็นราคาดอลลาร์ต่อหนึ่งหน่วยทรอยออนซ์ ซึ่งเท่ากับทองคำแท่งซึ่งมีน้ำหนัก 31.1035 กรัม ความบริสุทธิ์ที่ระดับ 99.99% หรือ 99.5% แต่เมื่อไปปรากฏในประเทศอื่นๆ จะมีการปรับเป็นเงินสกุลท้องถิ่น และอาจปรับตามหน่วยมาตรฐานน้ำหนักและความบริสุทธิ์ตามความนิยมของแต่ละประเทศ สำหรับไทยใช้มาตรฐานทองคำ 96.5% หน่วยน้ำหนักเป็นบาททองคำ หรือ 15.244 กรัม โดยในตลาด Spot ของไทยนั้น สมาคมค้าทองคำเป็นผู้กำหนดราคาทองคำแท่งและรูปพรรณในทุกๆ เช้า เพื่อให้ร้านค้าทองคำทั่วประเทศใช้ในการซื้อขาย ซึ่งสมาคมฯ อาจปรับเปลี่ยนราคาระหว่างวันได้ หากราคาทองคำในตลาดโลกมีการเปลี่ยนแปลง

ราคา Gold Futures ในตลาดอนุพันธ์ (TFEX) นั้น จะไม่มีการกำหนดราคาดังเช่นในตลาด Spot เนื่องจากผู้ซื้อผู้ขาย จะเป็นผู้กำหนดราคาที่ต้องการเอง และส่งคำสั่งซื้อขายเข้าสู่ระบบการซื้อขายที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ ในลักษณะเดียวกับการซื้อขายหุ้นที่ผู้ซื้อผู้ขายเป็นผู้สั่งซื้อสั่งขายหุ้นในราคาและจำนวนที่ต้องการเอง ซึ่งเป็นข้อแตกต่างที่สำคัญยิ่งระหว่างตลาด Spot และตลาดอนุพันธ์ เพราะการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์เป็นการตกลงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายที่พอใจซื้อหรือขาย Gold Futures ในราคาและจำนวนสัญญาที่ต้องการ ตลาดอนุพันธ์และสำนักหักบัญชีเป็นตัวกลางในเรื่องระบบงาน ระบบการจัดการ และกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้ความมั่นใจแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องว่าการซื้อขายเป็นไปด้วยความโปร่งใส ยุติธรรม และตรวจสอบได้ รวมทั้งเป็นธุรกิจภายใต้การกำกับของ สำนักงาน ก.ล.ต.

สำหรับผู้ลงทุนอาจสงสัยว่าจะใช้ข้อมูลใดมาช่วยในการตัดสินใจเรื่องราคา Gold Futures ซึ่งเป็นจำนวนเงินบาทต่อหน่วยน้ำหนักทองคำ 1 บาท ที่ความบริสุทธิ์ 96.5% ตามมาตรฐานไทย โดยราคาที่ซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ควรเป็นไปตามความเคลื่อนไหวของราคาทองคำในตลาดโลก การแปลงค่าราคาทองคำให้เป็นเงินบาทนั้น TFEX ใช้สูตรการคำนวณราคาซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่ใช้ในต่างประเทศ

London Gold A.M. Fixing x (15.244/31.1035) ? (0.965/0.995) x (THB/USD)

ซึ่งประกอบด้วย ราคาทองคำต่างประเทศจาก London Gold Fixing และแปลงน้ำหนักจากทรอยออนซ์ (31.1035 กรัม) เป็นทองคำน้ำหนัก 1 บาท (15.244 กรัม) ต่อมาแปลงค่าความบริสุทธิ์ของทองคำจาก 99.5% เป็น 96.5% และสุดท้ายเป็นการแปลงค่าเงิน โดยสรุปแล้วมีเพียงสองตัวแปร คือ ราคาทองคำและค่าเงินบาทในวันนั้น

ซึ่งตลาดอนุพันธ์ได้รับความร่วมมือจาก reuters และธนาคารพาณิชย์ในการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อการนี้ ส่วนในเรื่องของน้ำหนักและความบริสุทธิ์เป็นสูตรแน่นอนที่มีค่ากำกับอยู่แล้ว ตลาดอนุพันธ์ใช้สูตรข้างต้นในการกำหนดราคาเพื่อใช้ชำระราคาในวันสุดท้ายของการซื้อขาย (Final Settlement Price) โดย London Gold Fixing เป็นศูนย์กลางกำหนดราคาทองคำเพื่อใช้ในการอ้างอิงมาตั้งแต่ปี 1919 (www.goldfixing.com) ซึ่งจะประกาศราคาทองคำที่ความบริสุทธิ์ 99.5% ทุกวันทำการ วันละ 2 เวลา คือ 10:30 น. และ 16:30 น. (เวลาที่ลอนดอน)

สำหรับการคำนวณราคาโดยทั่วไป สามารถใช้ราคาทองคำต่างประเทศในลักษณะ real time จาก reuters, bloomberg, สำนักข่าวอื่น ๆ หรือจากเว็บไซต์ www.kitco.com , www.goldprice.com เป็นต้น มาคำนวณตามสูตรข้างต้น โดยอาจต้องปรับค่าความบริสุทธิ์ให้เป็น 99.5% หากว่าราคาทองคำนั้นเป็นราคาที่มีความบริสุทธิ์ 99.99% เช่น หากทองคำราคา 915 ดอลลาร์ อัตราแลกเปลี่ยน 36.50 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์ เมื่อคำนวณตามสูตรข้างต้นจะได้ราคาทอง (Spot Price) เท่ากับ 915 x (15.244/31.1035) ? (0.965/0.995) x 36.50 ซึ่งมีค่าเท่ากับ 15,874.79 บาทต่อทองคำน้ำหนัก 1 บาท ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถใช้สูตรข้างต้นเพื่อคำนวณราคาทองคำ Spot ที่เกิดขึ้น ณ เวลานั้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการกำหนดราคา Gold Futures ได้

เป็นไงกันบ้างครับ รู้อย่างนี้แล้วก็ช่วยให้เรามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของราคาทองคำกันมากขึ้น และหายสงสัยกันแล้วว่าทำไมราคาทองคำจึงผันผวน อย่าลืมนะครับ การลงทุนมีความเสี่ยง ควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน

วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2552

การตัดสินใจครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในชีวิต

การตัดสินใจครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในชีวิต
สวัสดีครับพี่น้องชาวMBE#8ทุกท่าน
ไม่ได้มาเขียนบล็ิอกตั้งนานแล้วนะครับ ช่วงนี้พอมีเวลาเลยแวะมาเขียนเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของคณะเราซะหน่อย
เชื่อว่าหลายคนคงทราบกันดีอยู่แล้วนะครับ ว่าเราจะมีการจัดงานสานสัมพันธ์ระหว่างสาขาภายในคณะ วิทยาการจัดการของเราขึ้นมา ในวันที่ 14 มี.ค. 52 ที่จะถึงนี้




ทำไมงานนี้จึงสำคัญ?
มีใครบอกผมได้บ้างครับว่างานนี้มั้นสำคัญยังไง? ทำไมเราต้องมาเสียเวลาจัดงานที่ส่วนใหญ่เด็กๆเค้าจะร่วมงานกัน? บางคนอาจคิดว่า ก็แค่งานสานสัมพันธ์ธรรมดาๆ เช้าแข่งกีฬา ร้อนก็ร้อน เย็นก็ร่วมงานเลี้ยง กินข้าว ร้องเพลง กลับบ้าน จบ จะว่าไปมันก็จริงนะครับ แต่มันใช่ทั้งหมดรึเปล่าครับ ผมเคยอ่านหนังสือเล่มนึงคิดว่าพี่น้องหลายท่านคงเคยอ่านเช่นกัน ด้านหน้าปกเค้าเขียนว่า "คนรวยมองหาวิธีในการสร้างเครือข่าย ในขณะที่คนจนมองหางานทำ" ใช่แล้วครับ เป็นหนังสือชื่อดัง ของคุณ "โรเบิร์ต ที คิโยซากิ" นั่นเองครับ ซึ่งเขียนเกี่ยวกับธุรกิจเครือข่าย และพลังของเครือข่าย แต่สิ่งที่น่าจะเกี่ยวข้องกับพวกเราและงานในครั้งนี้คือ การที่เราร่วมกันสร้างเครือข่ายโดยการทำความรู้จักกันไว้ในวันนี้ ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจได้ร่วมงานกัน เป็นหุ้นส่วนกัน ช่วยเหลือกันในเรื่องต่างๆอีกมากมายก็เป็นได้ กิจกรรมที่เราร่วมกันจัด ร่วมกันทำขึ้นมา จริงอยู่มันอาจจะดูเล็กน้อย แต่มันจะสำคัญเท่าความสัมพันธ์ที่ดีของพวกเราทุกสาขาได้ไง จริงมั้ยครับ ยิ่งถ้าเราสามารถสร้างเครือข่ายที่ใหญ่ได้(การตลาด การโรงแรม และเศรษฐศาสตร์) จนเป็นธรรมเนียมให้รุ่นน้องๆของพวกเรา มันก็จะยิ่งดูมีพลังมากขึ้น เครือข่ายก็ใหญ่ขึ้น ในขณะที่ถ้าเราเรียน ๆ ๆและเรียน ไม่สนใจใคร เรียนไปเรื่อยๆ จบปุ๊ป ทำงานๆๆ ลองนึกภาพดูครับว่ามันจะมีประโยชน์อะไรกับการมาเรียนครั้งนี้ ถ้าอนาคตเป็นอย่างที่ว่านะ เป็นผมผมก็ไม่มาเรียนหรอกครับ จริงมั้ย ? ทีนี้มองเห็นโอกาสของอนาคตในการสร้างเครือข่ายรึยังครับ?? เรียกว่าลงทุนโคตรน้อย แต่ได้กำไรโคตรมากเลย ไม่มาร่วมได้ไง จริงป้ะ

ไม่มาได้มั้ย??
คำตอบคือ ไม่ได้เฟ่ย !! งานนี้ใครไม่มาผมถือว่าไม่แน่จริง และเป็นนักลงทุนไม่ได้แน่นอน โอกาสอยู่ตรงหน้าแล้วแท้ๆ (ยกเว้นคนที่ติดงานด่วววนนน สุดๆ แบบกำลังจะคลอด ประมาณนั้นนะครับ) เพราะอย่างที่บอกมันสำคัญมาก งานนี้เราจัดกันเอง 3 สาขา ไม่เกี่ยวกับอาจารย์ ไม่ได้ป็นทางการจ๋า การจะจัดงานเล็กๆให้ได้ผลสำเร็จใหญ่นั้นมันท้าท้ายความสามารถและความร่วมมือของพวกเรา ผมเชื่อว่ารุ่นพี่พวกเราที่รู้ก็ต้องกำลังมองดูอยู่ว่ามันจะรอดกันมั้ยวะ? ขนาดรุ่นพี่ยังจัดไม่ได้เลย แล้วรุ่นน้องมันจะจัดได้เหรอ? เพราะฉะนั้น ถ้าจัดงานนี้ไม่สำเร็จผมว่าอายรุ่นพี่ กับรุ่นน้องที่กำลังจะเข้ามาเร็วๆนี้ ว่ะ!!

ที่ผมเขียนมาทั้งหมดอาจฟังดูเวอร์นะครับ แต่พี่น้องเราคนนึงเพิ่งได้อ่านบทความวันนี้เองครับ บอกว่า เด็กจุฬา ครองตำแหน่งผู้บริหารในองค์กรมากสุด เพียงเพราะว่าเขาจะดันเฉพาะเด็กจุฬาด้วยกัน!! (ถามจริงเหอะ จะยอมเค้าเหรอครับ?)

เอาล่ะครับ ทีนี้ก็ขึ้นอยู่การตัดสินใจของพี่น้องทุกท่านแล้วล่ะครับ ว่าจะลงทุนกับโอกาสที่เห็นผลตอบแทนชัดเจนในครั้งนี้ หรือว่าจะปล่อยให้มันผ่านเลยไป ??
Lee jun boy