วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ฐานะการเงินไทยน่าเชื่อหรือไม่ ดูอย่างไร ?

ฐานะการเงินไทยน่าเชื่อหรือไม่ ดูอย่างไร ?

ช่วงนี้กระแสการดำเนินงานของรัฐบาลไทยภายใต้การนำของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กำลังเป็นที่จับตาของนานาประเทศทั่วโลก เนื่องจากประเทศไทยมีการจัดประชุมสุดยอดอาเซียน หรือ "อาเซียนซัมมิท ครั้งที่ 14" ซึ่งรัฐบาลไทยในฐานะเป็นพ่อบ้านต้องต้อนรับผู้นำจากหลายประเทศ ท่ามกลางกระแสความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศที่ถึงแม้ว่าจะลดความรุนแรงลงไปมากแล้ว แต่ถ่านที่ยังมีไฟก็ใช่ว่าจะดับลงไปอย่างสิ้นเชิง
ในมิติหนึ่ง ขณะที่รัฐบาลกำลังเร่งสร้างความน่าเชื่อถือให้นักลงทุน ทั้งในและต่างประเทศได้เห็นถึงผลงานที่มาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการไทยเข้มแข็งที่มีวงเงินกู้ที่ผ่านการเห็นชอบของ ครม. แล้ว 1.5 แสนล้านบาท จากทั้งสิ้น 4 แสนล้านบาท และที่เหลือกำลังจะทยอยนำเข้าที่ประชุมอีกระลอกหนึ่งในไม่ช้านี้ ดังนั้น ในมุมมองของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ก่อนเข้ามาลงทุนเค้าย่อมต้องประเมินความน่าเชื่อถือที่สะท้อนออกมาในรูปของฐานะทางการเงินของประเทศอย่างแน่นอน คำถามคือ แล้วเค้าดูอะไรบ้าง? และมีวิธีการดูอย่างไร? วันนี้ผมได้หยิบบทความชิ้นหนึ่งซึ่งน่าสนใจ และเป็นประโยชน์มาฝากครับ





อันดับความน่าเชื่อถือระดับประเทศ (Sovereign Rating)
อันดับความน่าเชื่อถือระดับประเทศ คือ การกำหนดเพดานระดับความน่าเชื่อถือสูงสุดที่ประเทศผู้ออกตราสารจะได้รับ หรือ อีกนัยหนึ่งเป็นความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาล ซึ่งเป็นระดับความเสี่ยงต่ำสุดในการผิดนัดชำระหนี้ประเภทนั้นๆ ที่ประเทศจะได้รับ

โดยทั่วไป ความน่าเชื่อถือระดับประเทศ มีการจัดอันดับ 2 ประเภท คือ
1. ตราสารหนี้ (Sovereign Bonds and Notes Rating) เป็นอันดับความน่าเชื่อถือสำหรับพันธบัตรรัฐบาลที่ออกขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น Yankee Bond, Samurai Bond, หรือ Global Bond
2. เงินฝากธนาคาร (Sovereign Bank Deposits Rating) เป็นอันดับความน่าเชื่อถือของการจ่ายคืนเงินฝากของสถาบันการเงินของรัฐบาล และเป็นเพดานความน่าเชื่อถือสำหรับเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้ การกำหนดอันดับความน่าเชื่อถือระดับประเทศทั้ง 2 ประเภทดังกล่าวจะมีทั้งระยะสั้นและระยะยาว และสกุลเงินท้องถิ่นและสกุลเงินต่างประเทศ โดยตราสารระยะยาวนั้นถือว่ามีความเสี่ยงมากกว่าตราสารระยะสั้น เนื่องจากระยะเวลาที่ยาวนานกว่า ความเป็นไปได้ที่ผู้ออกตราสารจะผิดนัดชำระหนี้ย่อมมีสูงกว่า
ส่วนในกรณีของตราสารสกุลเงินท้องถิ่นและสกุลเงินต่างประเทศนั้น ตราสารสกุลเงินต่างประเทศนั้นถือว่ามีความ
เสี่ยงมากกว่าตราสารสกุลเงินท้องถิ่น เนื่องจากตราสารสกุลเงินต่างประเทศนั้นมีความเสี่ยงด้านการจัดหาเงิน
ตราต่างประเทศมาชำระหนี้ (Transfer Risk)

ปัจจัยที่ใช้พิจารณาในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับประเทศ ได้แก่

1. เสถียรภาพทางการเมือง
2. โครงสร้างด้านรายได้และเศรษฐกิจ
3. ประมาณการความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ
4. นโยบายการเงินการคลัง
5. ภาระหนี้สาธารณะ และหนี้ต่างประเทศ
6. เสถียรภาพราคาสินค้า
7. ความยืดหยุ่นของฐานะดุลการชำระเงิน

ผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือนับได้ว่ามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนและผู้ออกตราสารนอกจากนั้น บทบาทของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือก็มีความสำคัญ เนื่องจากประเทศที่อยู่ในกระแสโลกาภิวัฒน์สามารถได้รับผลกระทบจากประเทศอื่นๆได้อย่างรวดเร็วและจะมีผลต่อบริษัทต่างๆอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลให้ความต้องการจัดอันดับความน่าเชื่อถือก็จะเพิ่มขึ้นควบคู่กัน ในฐานะเป็นผู้ช่วยติดตามและเตือนภัยให้กับนักลงทุน

ที่มา : "ทันศัพท์การเงิน"
เนื้อหาโดย : บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)
www.mfcfund.com e-mail : mfc-pr@mfcfund.com